ขั้นตอนการออกแบบตามหลักการยศาสตร์
เพกกี ทิลล์แมน (Peggy Tillman) และคณะ ได้สรุปขั้นตอน ของการออกแบบ ที่สามารถทำความเข้าใจได้ง่าย เป็น ๓ ขั้นตอนด้วยกัน คือ
การออกแบบโครงสร้างของรถยนต์ ต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้และสิ่งที่จำเป็นต่างๆ
๑. การออกแบบเบื้องต้น
ในขั้นตอนนี้ นักการยศาสตร์จะต้องทำความเข้าใจเรื่องระบบ หรือผลิตภัณฑ์ โดยศึกษาความต้องการ และข้อจำกัดของระบบ หรือผลิตภัณฑ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะหาข้อมูลได้ ซึ่งข้อมูลนั้น อาจหาได้จากลูกค้า ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ หรือระบบและมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อเข้าใจถึงข้อกำหนด ความต้องการ และข้อจำกัดต่างๆ ที่จำเป็นแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การวิเคราะห์ระบบ ต้องตัดสินใจว่า ระบบควรจะทำงานอย่างไร มีขั้นตอนอะไรก่อนหรือหลัง จึงจะก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ และระบบที่มีประสิทธิภาพ ต่อจากนั้น จึงตัดสินใจว่า จะต้องการอุปกรณ์ใด หรือบุคคลใด มาช่วยทำให้การออกแบบระบบ หรือผลิตภัณฑ์นั้นสมบูรณ์ ขั้นตอนการออกแบบเบื้องต้นก็ถือเป็นอันสิ้นสุด
๒. การออกแบบในรายละเอียด
จุดประสงค์หลักของขั้นตอนนี้คือ ต้องมีการวิเคราะห์ เพื่อทราบรายละเอียด ทางด้านการยศาสตร์ของการทำงานในระบบ หรือการใช้งานของผลิตภัณฑ์ ดังนั้น การวิเคราะห์กิจกรรม (task analysis) จึงเป็นเทคนิคที่จำเป็นในขั้นตอนนี้ เทคนิคที่ใช้ช่วย ในการวิเคราะห์กิจกรรม ได้แก่ การศึกษาเวลา และการเคลื่อนไหว (time and motion study) ซึ่งเป็นเทคนิค ที่ถือเป็นความรู้พื้นฐาน ในวิศวกรรมอุตสาหการ หลังจากการวิเคราะห์กิจกรรมแล้ว นักการยศาสตร์จะได้รายละเอียดต่างๆ ว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับระบบ และปัจจัยป้อนเข้าต่างๆ มีกิจกรรมใดบ้าง และควรให้ผู้ใดเป็นผู้ทำกิจกรรมนั้น ตลอดจนลำดับของกิจกรรม และทักษะที่จำเป็นในการทำกิจกรรมเหล่านั้น ในขั้นตอนนี้ นักการยศาสตร์จำเป็นต้องคาดการณ์ถึงกิจกรรม หรือเหตุการณ์ ที่อาจทำให้ระบบ หรือการใช้งานของผลิตภัณฑ์ ประสบความล้มเหลวได้
๓. การทดสอบระบบ หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้ทำการออกแบบ
ขั้นตอนนี้จะทดสอบว่า มนุษย์สามารถทำงานร่วมกับระบบ หรือผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบได้หรือไม่ มีผลอย่างไร และมีสิ่งใด ที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงอีก
สรุปได้ว่า ในการออกแบบระบบ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ และตรงตามหลักการยศาสตร์ จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ดังกล่าวแล้วข้างต้น ได้แก่ การทำความเข้าใจระบบ และข้อจำกัดต่างๆ แล้วกำหนดรายละเอียด ของกิจกรรม ท้ายที่สุดคือ ทำการทดสอบระบบ หรือผลิตภัณฑ์ ที่ได้ออกแบบไปแล้ว
ตัวอย่างของการออกแบบ ได้แก่ การออกแบบด้ามจับแปรงสีฟัน การออกแบบเครื่องใช้ในสำนักงาน ที่จะทำให้เกิดความสะดวกสบายในการทำงาน การออกแบบห้องโดยสารภายในรถยนต์ การออกแบบห้องควบคุมการบินในเครื่องบิน หรือยานอวกาศ หลักการทางการยศาสตร์ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ กระทั่งในการออกแบบปุ่มต่างๆ บนแป้นควบคุมของเครื่องจักร และอุปกรณ์ เครื่องใช้ต่างๆ ภายในบ้าน ทั้งการออกแบบสี ขนาด และตำแหน่งที่เหมาะสม และสะดวกต่อการใช้งาน