กรณีตัวอย่างในการออกแบบสถานที่ทำงานในสำนักงาน
เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับ การออกแบบตามหลักการยศาสตร์ จะขอนำเสนอกรณีตัวอย่างของการออกแบบสถานที่ทำงาน ในสำนักงาน โดยกล่าวถึงหลักการอย่างกว้างๆ ดังนี้
การออกแบบสถานที่ทำงาน ซึ่งประกอบด้วยเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์สำนักงาน และสิ่งแวดล้อมในสำนักงาน ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบที่สำคัญหลายประการด้วยกัน คือ งานที่ต้องทำ ท่าทางในการทำงาน และกิจกรรมที่เกิดขึ้นในงาน โดยออกแบบสถานที่ทำงานตรงตามหลักการที่ว่า ออกแบบระบบ ให้เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงาน เพื่อก่อให้เกิดความสะดวกสบาย ในการทำงาน และเกิดผลงานที่ดี

การออกแบบสถานที่ทำงาน และอุปกรณ์ในสำนักงาน ควรให้เหมาะกับงาน และเกิดความสะดวกสบายต่อผู้ปฏิบัติงาน
คาร์ล โครเมอร์ และคณะ ได้แนะนำว่า ในการออกแบบนั้น ให้คำนึงถึงสิ่งที่เชื่อมโยงระหว่างคนกับงาน ซึ่งได้แก่
- ปฏิสัมพันธ์ในการมองเห็น (visual interface) คือ การมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้แก่ คีย์บอร์ด จอคอมพิวเตอร์ และเอกสารต้นฉบับ
- การเคลื่อนไหวต่างๆ เช่น มือต้องพิมพ์ที่คีย์บอร์ด จับเมาส์ ปากกา โทรศัพท์
- การรองรับส่วนต่างๆ ของร่างกาย (body support) ความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับที่นั่ง ได้แก่ ช่วงสะโพก บั้นท้าย หลัง และแขน
ดังนั้น ในการออกแบบสถานที่ทำงานจึงต้องคำนึงถึงส่วนต่างๆ ที่เชื่อมระหว่างคนกับงาน ตามหัวข้อที่คาร์ล โครเมอร์ และคณะ ได้นำเสนอไว้ข้างต้น ตามหัวข้อต่างๆ ดังนี้
๑) การออกแบบที่มีระบบปฏิสัมพันธ์ในการมองเห็น
งานในสำนักงานส่วนใหญ่ มักเป็นงานที่ประกอบด้วยการอ่านและเขียน ดังนั้น งานจึงมักถูกวางไว้ห่างสายตาในระดับข้อศอก พื้นผิวโต๊ะที่ทำงาน อาจถูกออกแบบให้เป็นพื้นเอียง หรือพื้นราบ พื้นผิวเอียงจะทำให้สามารถมองเห็น และอ่านได้ง่ายกว่า แต่เอกสารอาจเลื่อนหล่นได้ พื้นราบจะเหมาะกับการวางเอกสารได้หลากหลายแบบ

ในการทำงาน ควรจัดวางอุปกรณ์และเอกสารต้นฉบับให้เหมาะสมและมองเห็นได้ง่าย
ในการออกแบบที่วางเอกสาร เอกสารควรวางให้ตั้งฉากกับเส้นทางของการมอง และไม่ควรตั้งห่างไปทางด้านข้างจนเกินไป เพราะจะทำให้ต้องเอี้ยวตัวมาก และใช้สายตาทางด้านข้างมาก ผู้คนส่วนใหญ่มักนิยมมองเอกสารโดยก้มหัวลง ในระดับเป็นมุม ๒๐ - ๖๐ องศา ต่ำกว่าระนาบที่ผ่านแนวของหูและตา และโฟกัสภาพ โดยการก้มหัวลงเล็กน้อย ใช้วิธีกรอกลูกตาไปมา เพื่ออ่านเอกสาร ดังนั้น ในการวางจอคอมพิวเตอร์ ควรวางให้อยู่ไม่สูงกว่าแป้นพิมพ์มากนัก และอยู่ใกล้แป้นพิมพ์ไปทางด้านหลัง นอกจากนี้ ควรวางเอกสารต้นฉบับไว้ข้างจอ เพื่อให้ง่ายต่อการมองเห็น และโฟกัส
การออกแบบแสงสว่างในสำนักงาน ปัจจัยสำคัญที่ควรคำนึงถึง ได้แก่
๑. ปริมาณแสงตกกระทบบนพื้นผิว (illumination)
โดยปริมาณแสงในสำนักงานควรมีประมาณ ๒๐๐ - ๕๐๐ ลักซ์
๒. ปริมาณแสงสะท้อน (luminance)
คือ แสงสะท้อนมาจากสิ่งที่มองและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งการสะท้อนมาจากกำแพง และเฟอร์นิเจอร์ในห้อง ควรให้แสงสะท้อนจากเพดาน อยู่ในระดับร้อยละ ๘๐ - ๙๐ จึงมักทาสีเพดานเป็นสีขาว ส่วนกำแพงควรมีแสงสะท้อน อยู่ในระดับร้อยละ ๔๐ - ๖๐ จึงมักทาสีอ่อน และพื้นควรมีแสงสะท้อนอยู่ ในระดับร้อยละ ๒๐ - ๔๐ จึงมักทำให้พื้นมีสีเข้ม การออกแบบสิ่งที่มอง ควรป้องกันไม่ให้เกิดเงาของแสงสะท้อน (glare) เพื่อไม่ให้เกิดความเมื่อยล้าทางสายตา
๓. ความแตกต่างของแสงที่ตกกระทบบนพื้นที่ที่ใกล้กัน (luminous contrast)
หากมีความแตกต่างของแสงมาก จะทำให้ตาสามารถแยกความแตกต่างได้ง่ายขึ้น

แป้นพิมพ์ที่ออกแบบตามหลักการยศาสตร์ จะช่วยลดการบาดเจ็บของมือผู้ใช้งาน
๒) การออกแบบการเคลื่อนไหวต่างๆ
การออกแบบอุปกรณ์ที่ต้องอาศัยการเคลื่อนไหว เพื่อก่อให้เกิดงาน เช่น คีย์บอร์ด ในอดีต แป้นพิมพ์หรือคีย์บอร์ดนั้น ไม่ได้เป็นไปตามหลักการยศาสตร์ เช่น ตัวอักษรบนแป้นพิมพ์ จะเรียงตัวตามแนวทแยงจากซ้ายไปขวา ซึ่งเป็นข้อจำกัด ในการสร้างแป้นพิมพ์ รวมทั้งแป้นพิมพ์ในแนวนอนก็จะเป็นเส้นตรง ซึ่งนิ้วของมนุษย์มิได้เรียงในแนวเดียวกัน เช่นเดียวกับแป้นพิมพ์ บนแป้นพิมพ์มักมีปุ่มให้พิมพ์มากเกินความจำเป็น นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการบาดเจ็บ ที่ข้อมือจากการทำงานซ้ำๆ มักเป็นพนักงาน ที่ต้องใช้แป้นพิมพ์ตลอดเวลา นักวิชาการจึงได้ศึกษา และคิดค้นแป้นพิมพ์ ที่ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ และออกแบบแป้นพิมพ์ใหม่ โดยแบ่งแป้นพิมพ์ออกเป็น ๒ ส่วน ตรงกลางของแป้นพิมพ์นูนสูงกว่าขอบ และปุ่มพิมพ์เรียงตัวตามลักษณะการเรียงตัวของนิ้วมือ เพื่อลดการใช้นิ้ว ในรูปแบบหัวนิ้วลง
๓) การออกแบบเฟอร์นิเจอร์เพื่อรองรับส่วนต่างๆ ของร่างกาย ในกรณีที่นั่งทำงาน
ในกรณีที่นั่งทำงาน การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ต้องคำนึงถึง ระยะห่างระหว่างเฟอร์นิเจอร์ชิ้นต่างๆ และต้องมีขนาด ที่เหมาะสมกับร่างกาย โดยต้องออกแบบให้ส่วนประกอบของเฟอร์นิเจอร์ สามารถปรับขนาดได้ หรือให้ระดับความสูงของโต๊ะคงที่ แต่สามารถปรับระดับเก้าอี้ และจอคอมพิวเตอร์ได้ หรือจะให้ความสูงของเก้าอี้คงที่ แต่สามารถปรับส่วนรองรับร่างกายอื่น และจอคอมพิวเตอร์ได้ การออกแบบให้เฟอร์นิเจอร์สามารถปรับได้นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อช่วยลดความเมื่อยล้า และความเครียดของร่างกาย

การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้สามารถปรับระดับได้ และเคลื่อนไหวได้คล่องตัว จะช่วยลดความเมื่อยล้าและความเครียดของร่างกาย
ในการออกแบบเก้าอี้ ต้องให้ที่นั่งสามารถรองรับน้ำหนัก ของร่างกายได้ ควรหลีกเลี่ยงพื้นผิวที่แข็ง เพราะจะเกิดแรงกดบนเนื้อ และควรสามารถปรับให้เข้ากับรูปร่างได้ การมีพนักพิงหลัง สามารถช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อหลังได้อย่างดี พนักพิงหลังควรสูงถึงระดับศีรษะ เพื่อรองรับศีรษะและคอ นอกจากนี้ ควรมีรูปร่างเหมาะสมกับหลัง และควรปรับมุมเอียง เพื่อความสบายของกล้ามเนื้อหลัง พนักพิงแขนซึ่งใช้ในการรับน้ำหนักของแขน ควรอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และควรทำด้วยพื้นผิว ที่สามารถรับน้ำหนักได้ อย่างไรก็ตาม พนักพิงแขนอาจเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหวของแขนได้ ดังนั้น ถ้างานที่ทำต้องมีการเคลื่อนไหวของแขนมากๆ เก้าอี้ที่ใช้ก็ไม่ควรมีพนักพิงแขน
นอกจากการออกแบบเครื่องมือ และอุปกรณ์ต่างๆ ให้เหมาะสมกับงานแล้ว การออกแบบสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การวางผังของสำนักงาน ก็ควรให้เหมาะสมกับการไหลของงาน อุปกรณ์ที่ใช้ควรมีเสียงเบาที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมทั้งต้องมีอุณหภูมิ และความชื้นที่เหมาะสมด้วย เนื่องจากอุปกรณ์ในสำนักงาน เช่น คอมพิวเตอร์ มีการคายความร้อนออกมา ทำให้อุณหภูมิในสำนักงานสูงขึ้นได้

การวางผังและอุปกรณ์ของสำนักงานให้เหมาะสมกับงาน ผู้ปฏิบัติงาน และสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ การออกแบบลักษณะของงาน และโครงสร้างขององค์กร ก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง นอกเหนือจากการออกแบบอุปกรณ์ และเฟอร์นิเจอร์ ธรรมชาติของมนุษย์ชอบการควบคุมงานด้วยตนเอง มากกว่าถูกผู้อื่นควบคุม ดังนั้น ผู้ปฏิบัติงานจึงควรสามารถกำหนดอัตราการทำงานของตนเองได้ ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ และสามารถกระจายภาระงาน ตามระยะเวลาที่มีจำกัดได้ด้วยตนเอง คนส่วนใหญ่ยังชอบทำงานที่มีสาระสำคัญ มากกว่างานที่ไม่สำคัญ รวมทั้งความสัมพันธ์ทางสังคมในที่ทำงาน ก็สามารถเพิ่มสมรรถนะในการทำงานได้เช่นกัน
กล่าวโดยสรุปคือ การออกแบบอุปกรณ์ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งระบบให้ถูกต้องและเหมาะสม ต้องอาศัยความรู้ทางการยศาสตร์ ความเข้าใจในกิจกรรมของงาน และความต้องการต่างๆ ในการทำงาน จึงจะก่อให้เกิดประสิทธิผลที่ดี ในการทำงานได