เล่มที่ 32
การยศาสตร์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
พัฒนาการของการยศาสตร์

            อาจกล่าวได้ว่า มนุษย์มีความรู้พื้นฐานของการยศาสตร์เบื้องต้นมาตั้งแต่ในสมัยโบราณแล้ว เช่น รู้จักเลือกหินหรือไม้ ที่เหมาะสมกับสรีระของมือมนุษย์ มาใช้ทำอาวุธเพื่อล่าสัตว์ มีการเกลาด้ามจับอาวุธให้กลม เพื่อให้จับได้สะดวกขึ้น ตัดไม้ให้ได้ความยาวเหมาะสม เพื่อง่ายต่อการจับ รวมทั้งการพันด้ามจับด้วยผ้า ซึ่งจะทำให้จับด้ามได้แน่นและง่ายยิ่งขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นการปรับระบบอย่างง่ายๆ ให้เหมาะสมกับการทำงานของมนุษย์


อาวุธหรือเครื่องมือเครื่องใช้ในสมัยโบราณที่ออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้งาน

            ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และ ๒๐ ได้เริ่มมีพัฒนาการทางด้านการยศาสตร์ เกิดขึ้นอย่างชัดเจน พร้อมๆ กับความเจริญก้าวหน้า ในศาสตร์แขนงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วง ค.ศ. ๑๙๖๐ - ๑๙๘๐ ได้มีการนำการยศาสตร์มาประยุกต์ใช้ ในกิจการ ด้านการบิน การทหาร เทคโนโลยีด้านอวกาศ และอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ ซึ่งระบบที่เกิดขึ้นในกิจการต่างๆ เหล่านี้ มนุษย์ต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง และเป็นระบบที่มีความซับซ้อนมาก ตัวอย่างเช่น ในขณะที่นำเครื่องบินลงจอด นักบินต้องลดระดับของปีกลง ต้องปรับระดับของเครื่อง ต้องโยกคันบังคับลง และต้องบังคับ ให้ทิศทางของเครื่องเข้าสู่ลานที่ลงจอด โดยกิจกรรมเหล่านี้ต้องทำพร้อมๆ กัน หากเกิดความสับสน หรือผิดพลาด อาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงได้


แผงควบคุมการบิน ที่ทำให้นักบินสังเกตได้ง่าย

            แนวคิดสำคัญของการยศาสตร์ในช่วงสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ คือ พยายามคัดเลือกผู้ปฏิบัติงานที่เหมาะสม ต่อระบบปฏิบัติงานนั้นๆ และฝึกฝนผู้ปฏิบัติงาน จนกระทั่งเกิดความชำนาญต่อการทำงานในระบบ สรุปได้ว่า เป็นการคัดเลือกคน ให้เหมาะสมกับงาน อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดในระบบยังคงเกิดขึ้นเสมอ เช่น เครื่องบินตก ถึงแม้จะไม่มีเหตุขัดข้อง ของเครื่องยนต์เลยก็ตาม หรือศัตรูสามารถเข้ามารุกรานประเทศได้ ทั้งๆ ที่มีจอเรดาร์รับสัญญาณ ที่มีประสิทธิภาพสูงมาก คอยตรวจจับอยู่ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องวิเคราะห์หาสาเหตุ ของความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และสรุปได้ว่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาเกี่ยวกับ การทำงานระหว่างคนกับเครื่องจักร (Operator - machine interface) จึงทำให้การยศาสตร์เข้ามามีบทบาท ที่สำคัญ และเกิดพัฒนาการขึ้นอย่างรวดเร็ว


การจัดเตรียมอุปกรณ์ผ่าตัด เพื่อให้ผู้ส่งอุปกรณ์สามารถส่งให้ศัลยแพทย์หยิบจับได้ทันทีและถนัดมือ

            หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ แนวความคิดเรื่องการคัดเลือกคนให้เหมาะสมกับงาน ได้เปลี่ยนไปเป็น "การสร้างอุปกรณ์หรือระบบ ให้เหมาะกับความสามารถของมนุษย์" อันที่จริงแล้ว แนวความคิดได้เกิดขึ้นมานานก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่มิได้มีการนำมาศึกษาพัฒนาต่ออย่างจริงจัง ในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ แฟรงค์ และ ลิลเลียน กิลเบรท (Frank and Lillian Gilbreth) ได้ทำการศึกษา การเคลื่อนไหวของมนุษย์ในงานต่างๆ รวมทั้งศึกษาเรื่องสมรรถภาพและความล้า (fatigue) ของมนุษย์ ในการทำงาน แล้วนำผลของการศึกษามาทำการออกแบบสถานที่ทำงาน และอุปกรณ์ที่ใช้ในงานนั้นๆ ดังนั้น จึงอาจถือได้ว่า แฟรงค์ และลิลเลียนเป็นนักการยศาสตร์ ในรุ่นแรกๆ ก็ได้ การศึกษาที่น่าสนใจของแฟรงค์ และลิลเลียนที่ยังเห็นกันในปัจจุบันนี้ คือ กระบวนการหยิบจับอุปกรณ์ผ่าตัดของศัลยแพทย์ ซึ่งแฟรงค์ และลิลเลียน ได้สังเกตการทำงานของศัลยแพทย์ แล้วพบว่า แพทย์ใช้เวลาในการหยิบอุปกรณ์ผ่าตัดจากถาด พอๆ กับเวลาที่ใช้ในการผ่าตัดคนไข้ ซึ่งเป็นการเสียเวลาโดยไม่จำเป็น กระบวนการหยิบจับอุปกรณ์ เปลี่ยนเป็นการเรียกอุปกรณ์แทน โดยผู้ส่งอุปกรณ์ ต้องส่งเครื่องมือ ในระยะ และทิศทาง ที่ศัลยแพทย์สามารถหยิบจับได้ทันทีและถนัดมือ


ความรู้ด้านกายวิภาคที่เลโอนาร์โด ดา วินชี ได้นำมาประยุกต์ใช้ ในกิจการต่างๆ

            การที่เทคโนโลยีต่างๆ เจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้แนวคิดเรื่อง การออกแบบระบบ ให้เหมาะสมกับมนุษย์ มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องการออกแบบอุปกรณ์ให้เหมาะสม และการศึกษาวิเคราะห์ทางด้านจิตวิทยา ของผู้ที่ปฏิบัติงานกับเครื่องจักรที่มีความเร็วสูง การตัดสินใจในการแก้ปัญหาที่ล่าช้า ของคนขับเกวียนคงจะไม่มีผลเสียมากนัก แต่ถ้านักบินตัดสินใจล่าช้า อาจก่อให้เกิดหายนะขึ้นได้ ดังนั้น อุปกรณ์ต่างๆ ในระบบการบังคับการบิน จึงต้องช่วยให้นักบินสามารถตัดสินใจได้ง่ายและรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้า


ชุดเสื้อผ้านักบินอวกาศ ซึ่งนำหลักทางด้านกายวิภาคและการยศาสตร์ มาใช้ประกอบ

            ส่วนสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการยศาสตร์ ก็มีพัฒนาการด้วยเช่นกัน โดยเริ่มจาก มนุษย์สนใจเรื่องความรู้เกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์ และกายวิภาค (anatomy) เพื่อประโยชน์ในการรักษาพยาบาล และแก้ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับการเจ็บป่วย วิชากายวิภาคได้รับการศึกษาและพัฒนาให้มีความถูกต้องมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๗ บุคคลอัจฉริยะชื่อ เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci ค.ศ. ๑๔๕๒ - ๑๕๑๙) จิตรกร ประติมากร สถาปนิก และวิศวกรชาวอิตาลีได้นำความรู้ ทั้งทางด้านกายวิภาค สรีรวิทยา และด้านการออกแบบอุปกรณ์ มาประยุกต์ใช้รวมกันในงานศิลปะ และการสร้างสรรค์ของเขา ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ทฤษฎีทางจิตวิทยาได้เริ่มเกิดขึ้น ความรู้ต่างๆ ทั้งสาขากายวิภาค สรีรวิทยา และจิตวิทยา ได้รับการนำมาประยุกต์ใช้ ในด้านอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น รวมทั้งในด้านกิจการทางทหาร และเทคโนโลยีอวกาศ ที่เริ่มพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ต่อเนื่องมาจนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ ทั้งนี้ โดยทำการศึกษาลักษณะต่างๆ ของมนุษย์ แล้วนำสิ่งที่ศึกษาได้ มาออกแบบสิ่งแวดล้อม ในที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ทำงาน เพื่อก่อให้เกิดความสะดวกสบาย และเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน ของมนุษย์

            ในปัจจุบัน ได้มีการนำการยศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ของเล่น ของใช้ อุปกรณ์การแพทย์ รถยนต์ ดังนั้น การยศาสตร์จึงเกี่ยวข้องกับสิ่งของ ที่เราใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ การใช้คอมพิวเตอร์กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ทำให้มีการศึกษาปฏิสัมพันธ์ ระหว่างคนกับคอมพิวเตอร์ (human - computer interaction) กันมากขึ้น โดยเน้นการออกแบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก และไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย