ลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมของวัดญวน
วัดญวนในประเทศไทยโดยทั่วไปมีลักษณะการผสมผสานศิลปกรรมระหว่างจีน ญวน และไทย แต่ค่อนข้างเด่นไปทางสถาปัตยกรรมแบบจีน มียันต์ลักษณะทรงกลมแบบจีน ประดับบนผนังด้านนอกของตัวอุโบสถ ส่วนตัวอุโบสถของวัดญวน ส่วนใหญ่ได้มีการบูรณะขึ้นใหม่ แต่ก็ยังมีส่วนที่คงของเดิมไว้บ้าง เช่น เสา และพื้นอุโบสถ ลักษณะศิลปะบนเสาบางวัด เช่น วัดอุภัยราชบำรุง ที่ตลาดน้อย มีการวาดลวดลายมังกรขึ้นมาใหม่ ส่วนรูปทรงของพระพุทธรูปและองค์พระต่างๆ คล้ายคลึงกับลักษณะของพระจีนมาก องค์พระที่ถือเป็นสัญลักษณ์เด่นของวัดญวนมีชื่อว่า "ท้าวมหาชมพู"
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมของวัดญวน
สถาปัตยกรรมของวัดญวนแตกต่างจากวัดไทย เนื่องจากวัดไทยนั้นมักสร้างอาคารมีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ส่วนวัดญวนไม่มีศิลปกรรมดังกล่าว วัดญวน ส่วนใหญ่ เช่น วัดถาวรวราราม จังหวัดกาญจนบุรี วัดสมณานัมบริหาร วัดอุภัยราชบำรุง และวัดกุศลสมาคร ในกรุงเทพฯ มีการสร้างเจดีย์ประดับกระเบื้องสีสำหรับบรรจุอัฐิของบรรพบุรุษ ซึ่งรวมถึงเจดีย์ที่บรรจุอัฐิ ของพระยาโชฎึกราชเศรษฐี ที่วัดกุศลสมาครด้วย นอกจากนั้น บางวัดยังมีหอกลองและหอระฆัง แต่มักใช้เฉพาะช่วงเข้าพรรษา และงานวัด เป็นบางโอกาสเท่านั้น