พิธีกรรมและความเชื่อ
การที่วัฒนธรรมของชาวญวนเป็นวัฒนธรรมแบบเอเชียตะวันออก ซึ่งได้รับอิทธิพลความเชื่อ ทางพระพุทธศาสนาแบบอุตรนิกาย ที่เผยแผ่เข้ามายังประเทศ ทางภาคตะวันออกของทวีปเอเชีย คือ จีน ทิเบต มองโกเลีย ญี่ปุ่น และญวน อีกทั้งการที่เวียดนามตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีน เป็นเวลานานกว่าพันปี ทำให้ลัทธิความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนา ของชาวญวนหรือชาวเวียดนามส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับชาวจีน ความเชื่อและศาสนาของชาวญวนประกอบด้วย ลัทธิบูชาเทพ ที่สิงสถิตตามธรรมชาติ มีการเคารพสักการะผี และวิญญาณต่างๆ ต่อมาจึงได้รวมเอาความเชื่ออื่นๆ คือ ลัทธิขงจื๊อ และลัทธิเต๋า รวมทั้งพระพุทธศาสนานิกายมหายานจากอิทธิพลของจีนเข้าไว้ด้วย
๑. พระพุทธเจ้าตามคติมหายาน
พุทธศาสนิกชนที่นับถือนิกายมหายาน ในหลายประเทศ เช่น จีน ทิเบต เนปาล เกาหลี ญี่ปุ่น และเวียดนาม มีความเชื่อว่า ในโลกนี้ มีพระพุทธเจ้าอยู่มากมาย อาจกล่าวได้ว่า มีจำนวนเท่ากับเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา มีพระพุทธเจ้าอยู่ทั่วไปในภาคพื้นดิน ในห้วงบรรยากาศ และในสรวงสวรรค์ ซึ่งตามคติมหายาน แบ่งพระพุทธเจ้าออกเป็น ๓ ประเภท คือ

พระโคตมะ หรือพระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า
ซึ่งเป็นพระนามหนึ่งของพระมานุษิพุทธเจ้า
๑) พระมานุษิพุทธเจ้า
ตามคติของฝ่ายมหายาน พระมานุษิพุทธเจ้า คือ พระพุทธเจ้าที่เสด็จลงมาประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ในโลกมนุษย์ เช่น พระพุทธเจ้าในภัทรกัป ซึ่งเป็นกัปที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้มาแล้วถึง ๔ พระองค์ และจะเสด็จมาตรัสรู้ในภายภาคหน้าอีกพระองค์หนึ่ง มีพระนามตามลำดับ คือ
๑. พระกกุสันโธ
๒. พระโกนาคมน์
๓. พระกัสสปะ
๔. พระโคตมะ
๕. พระศรีอริยเมตไตรย์ หรือพระศรีอารย์
นอกจากนี้ ยังมีพระพุทธเจ้าในกัปอื่นๆ ที่ปรากฏพระนามอยู่ในมนต์พิธีของพระสงฆ์อนัมนิกาย เช่น พระทีปังกร พระวิปัสสี พระสิขี พระเวสภู
พระฌานิพุทธเจ้า
๒) พระฌานิพุทธเจ้า
คือ พระพุทธเจ้าที่สถิตอยู่ ณ สรวงสวรรค์ที่แบ่งเป็นแดนๆ ในแต่ละแดนเรียกว่า พุทธเกษตร หรือแดนแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง พระฌานิพุทธเจ้าทุกพระองค์ จะอุบัติขึ้นด้วยอำนาจฌานของพระอาทิพุทธ ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์ปฐม พระอาทิพุทธมีสภาวะเป็นองค์สยมภู (คือ พระผู้เกิดเอง เหมือนกับพระพรหม ในศาสนาพราหมณ์) ปราศจากเขตต้นและเขตปลาย
พระฌานิพุทธเจ้าทุกพระองค์เมื่ออุบัติขึ้นจากอำนาจฌานของพระพุทธเจ้าองค์ปฐมแล้ว จะตรัสรู้ในสรวงสวรรค์ ซึ่งเป็นที่พัก เพื่อรอการเข้าสู่พระนิพพาน จึงไม่ได้เสด็จมาตรัสรู้ในโลกมนุษย์ พระพุทธเจ้า ณ พุทธเกษตร บนสรวงสวรรค์นี้ มีปรากฏพระนามในคัมภีร์ต่างๆ เช่น พระไวโรจนพุทธเจ้า มีพระวรกายสีขาว ประทับเหนือดอกบัวสีน้ำเงิน มีสิงโตเป็นพาหนะ สถิตอยู่ ณ พุทธเกษตรเบื้องล่าง พระอักโษภัยพุทธเจ้าสถิตอยู่ ณ พุทธเกษตรทิศตะวันออก พระอมิตาภพุทธเจ้า สถิตอยู่ ณ พุทธเกษตรทิศตะวันตก พระอโมฆสิทธิพุทธเจ้า สถิตอยู่ ณ พุทธเกษตรทิศเหนือ พระรัตนสมภพพุทธเจ้า สถิตอยู่ ณ พุทธเกษตรทิศใต้
พระไภสัชยาคุรุพุทธเจ้า
๓) พระไภสัชยาคุรุพุทธเจ้า
ตามคติของฝ่ายมหายานเชื่อกันว่า ทางทิศตะวันออกไกลจากพุทธเกษตรออกไปเป็นระยะทาง ๑๐ เท่า ของเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา มีโลกอีกโลกหนึ่งที่สะอาดบริสุทธิ์ มีพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ไภสัชยาคุรุ ผู้เป็น "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ทรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์สมบูรณ์ ทั้งจิตและกาย ทรงรอบรู้ในสัจจะ ทรงหยั่งรู้ในโลก และทรงเป็นผู้ชี้ทางให้มวลมนุษย์ด้วยความชำนาญ เช่นเดียวกับสารถีผู้ชำนาญในการบังคับม้า และทรงเป็นศาสดาของมนุษย์ และเทวดาทั้งหลาย
๒. วันสำคัญทางศาสนา
ความเชื่อในลัทธิพิธีต่างๆ ของวัดญวนในประเทศไทยปรากฏออกมาเป็นวันสำคัญทางศาสนาที่อาจแบ่งได้ดังนี้
๑) วันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า ตามความเชื่อของฝ่ายมหายานถือว่า วันประสูติ วันตรัสรู้ และวันปรินิพพานเป็นคนละวันกัน มีการกำหนดวัน โดยยึดถือตามปฏิทินจีนเป็นหลัก กล่าวคือ
- วันประสูติ ได้แก่ วันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๗
- วันตรัสรู้ ได้แก่ วันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๒
- วันปรินิพพาน ได้แก่ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่
พิธีกรรมจะกำหนดให้มีขึ้นเฉพาะวันประสูติและวันตรัสรู้เท่านั้น

พระอวตารโลกิเตศวรกวมอิม
๒) วันพระอวโลกิเตศวร พระอวโลกิเตศวร หรือกวนอิม เป็นอีกภาคหนึ่งของพระพุทธเจ้า มีการกำหนดวัน ตามปฏิทินจีนคือ
- วันประสูติ ได้แก่ วันขึ้น ๑๙ ค่ำ เดือนยี่
- วันตรัสรู้ ได้แก่ วันขึ้น ๑๙ ค่ำ เดือน ๙
- วันปรินิพพาน ได้แก่ วันขึ้น ๑๙ ค่ำ เดือน ๖
๓) วันพระอมิตาภพุทธเจ้า มีพิธีกรรมเฉพาะวันประสูติ คือ วันขึ้น ๑๗ ค่ำ เดือน ๑๑ เท่านั้น
๔) วันประสูติพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ตรงกับวันขึ้น ๒๑ ค่ำ เดือนยี่
๕) วันประสูติพระศรีอริยเมตไตรย์ ตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑
๓. พิธีกรรมทางศาสนา
ก. พิธีกรรมประจำปี
ได้แก่ พิธีบูชาดาวนพเคราะห์ พิธีสรงน้ำพระพุทธรูปและหล่อเทียนพรรษา พิธีบริจาคทานทิ้งกระจาด และเทศกาลถือศีลกินเจ
พิธีบูชาดาวนพเคราะห์
เป็นพิธีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ (หลังเทศกาลตรุษจีน ที่ยึดถือตามปฏิทินจีนเป็นหลัก คือ เดือน ๑ ขึ้น ๑ - ๘ ค่ำ) จัดเป็นเทศกาลใหญ่ประจำปี และจัดเป็นเวลาอย่างน้อย ๒ วัน เจ้าภาพในการจัดพิธีนี้ มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในแต่ละปี ตามแต่จะตกลงกัน สำหรับวัดที่เป็นเจ้าภาพแล้ว หรือยังไม่ถึงกำหนดเป็นเจ้าภาพ ก็จะให้พระสงฆ์ที่อยู่ในวัด ไปร่วมพิธีที่วัดอื่นซึ่งรับเป็นเจ้าภาพ

พิธีบูชาดาวนพเคราะห์ทั้ง ๙ เพื่อเสริมดวงชะตา
ความสำคัญของพิธีบูชาดาวนพเคราะห์ คือ เป็นพิธีที่จัดขึ้นตามความเชื่อว่า มนุษย์แต่ละคน มีดาวนพเคราะห์ประจำตัว และในแต่ละปี ควรที่จะได้มีการบูชาดาวนพเคราะห์ประจำตัวดวงนั้นๆ ซึ่งมีเทพประจำอยู่ ถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ และต่อชะตาให้แก่ผู้ที่มาทำบุญ

พิธีบูชาดาวนพเคราะห์ทั้ง ๙ เพื่อเสริมดวงชะตา
เชื่อกันว่า การบูชาดาวนพเคราะห์จะ ก่อให้เกิดความเจริญซึ่งยศถาบรรดาศักดิ์มีอายุยืนยาว ได้อานิสงส์มาก ประมาณมิได้ และยังส่งผลไปถึงบิดามารดา รวมถึงญาติมิตรทั้งหลายที่ได้ล่วงลับไปแล้วยังโลกหน้า นอกจากนั้น ยังสามารถช่วยผู้เคราะห์ร้ายที่บังเอิญถูกภูตผีปีศาจสิงสู่จิตใจจนเคลิบเคลิ้มหลงใหล มีสติฟั่นเฟือน ให้หายฟื้นคืนสติได้ดังเดิม หรือถ้าผู้ใดมีเคราะห์กรรม มีโรคภัยเบียดเบียน เมื่อทำพิธีนี้แล้ว จะได้รับอานิสงส์ ทำให้โรคภัยร้ายแรงนี้หายไปได้ รวมทั้งเชื่อว่า พิธีบูชาดาวนพเคราะห์สามารถช่วยบรรเทาเหตุร้าย ให้กลายเป็นดี ในกรณีที่ผู้ใดต้องดวงชะตาราศีร้าย ถูกดาวโจร ต้องได้รับโทษอันร้ายแรง หรือนอนฝันร้าย รวมถึงมีสัตว์มาร้องทัก ทำให้เกิดลางสังหรณ์ไม่ดีต่างๆ และเกิดความกลัว เมื่อสวดมนต์บูชาดาวนพเคราะห์ ประจำราศีเกิดได้ ๗ จบ ขึ้นไป จนถึง ๔๙ จบ อำนาจบุญญาบารมีของบทมนต์ที่สวด จะสามารถดับสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ให้สลายไปได้ บุคคลใดปรารถนาจะมีบุตร และต้องการให้บุตรเป็นนักปราชญ์ ก็ให้สวดมนต์นี้ ตั้งแต่ ๗ จบ จนถึง ๑๐๐ จบ และสวดไปเรื่อยๆ แล้วแต่จะสวดได้เท่าไร ยิ่งสวดได้มาก ก็ยิ่งเป็นมงคลแก่ตัวเท่านั้น ผลของการสวดมนต์จะช่วยให้สมปรารถนา บุคคลใดปรารถนาความเจริญรุ่งเรือง ในอาชีพ ให้อธิษฐานขอพรแล้วจะได้ดังใจนึก สตรีใดที่ตั้งครรภ์ และเกรงว่าเวลาที่คลอดบุตรจะเกิดอันตราย ให้ถือศีลกินเจ และทำพิธีสักการบูชาดาวนพเคราะห์ทั้ง ๙ เมื่อถึงกำหนดคลอดจะทำให้รอดพ้นจากอันตราย บุตรที่เกิดเป็นเด็กเลี้ยงง่าย ไม่มีโรคภัย และมีลักษณะงดงามกว่าเด็กทั้งหลาย

พิธีบูชาข้าวทิพย์ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่สาธุชน
ตามความเชื่อของฝ่ายมหายาน ดาวนพเคราะห์ทั้ง ๙ จะปกครองสรรพสัตว์ ทั้งชั้นสูง คือ พระอินทร์และเทวดา ชั้นกลางคือ กษัตริย์ที่อยู่ในเมืองมนุษย์ และชั้นต่ำ คือ พวกมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ตลอดจน ภูเขา และมหาสมุทร ต้นไม้ใบหญ้า ดาวนพเคราะห์ทั้ง ๙ จะปกครองดูแลและรักษาไว้ซึ่งความสุขความเจริญ โดยทั่วกัน
ขั้นตอนของพิธีกรรมโดยย่อ ได้แก่
๑) พระสงฆ์สวดมนต์อัญเชิญเทพประจำดาวนพเคราะห์ทั้ง ๙ (ภาษาญวนเรียกว่า "กึ๊วว่าง" ซึ่งแปลว่า ๙ พระองค์) ได้แก่ องค์ที่ ๑ พระอาทิตย์ (ไท่เยือง) องค์ที่ ๒ พระจันทร์ (ไท่อ็อม) องค์ที่ ๓ พระอังคาร (หมอกดึ๊ก) องค์ที่ ๔ พระพุธ (หวาดึ๊ก) องค์ที่ ๕ พระพฤหัสบดี (โถดึ๊ก) องค์ที่ ๖ พระศุกร์ (ไท่บัด) องค์ที่ ๗ พระเสาร์ (ถีดึ๊ก) องค์ที่ ๘ พระราหู (ราโห้ว) องค์ที่ ๙ พระเกตุ (เก้โด่)
๒) การเวียนเทียนเข้าโบสถ์
๓) การเผาเทียนสะเดาะเคราะห์ตามจำนวนอายุ ในระหว่างการทำพิธี จะมีการถวายเครื่องสักการบูชาเทพต่างๆ ประจำวันเกิด ซึ่งกุศลผลบุญนี้จะส่งไปถึงบิดามารดา และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว และช่วยให้เคราะห์ร้ายกลายเป็นดีได้
พระพุทธรูปปางประสูติ
พิธีสรงน้ำพระพุทธรูป และหล่อเทียนพรรษา
พิธีสรงน้ำพระพุทธรูปเป็นการสรงน้ำพระพุทธรูปปางประสูติ ก่อนจะถึงพิธีหล่อเทียนพรรษา บวชนาครวมประจำปี พิธีนี้จัดเป็นเทศกาลตามปฏิทินอนัมจีน ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๔ กับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ หรือวันวิสาขบูชาของฝ่ายเถรวาท พิธีเข้าพรรษาจัดในวันขึ้น ๑๖ ค่ำ เดือน ๔ และพิธีออกพรรษา ในวันขึ้น ๑๖ ค่ำ เดือน ๗ เมื่อออกพรรษาแล้ว มีกำหนดรับกฐินได้ ภายใน ๓๐ วัน เริ่มตั้งแต่วันขึ้น ๑๖ ค่ำ เดือน ๘
พิธีนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากความเชื่อว่า เมื่อบุคคลใดจำวัน เดือน ปีที่พระพุทธเจ้าประสูติได้ และได้นำเอาเครื่องตั้งบูชาด้วยดอกไม้ ธูป เทียน ผลไม้ พร้อมกับเชิญพระพุทธรูปปางประสูติออกมาสรงน้ำ ด้วยน้ำหอมกลิ่นต่างๆ แล้วบุญกุศลก็จะปรากฏเพิ่มขึ้น และจะอยู่เย็นเป็นสุขทั้งในปัจจุบันและอนาคต

พิธีหล่อเทียนพรรษา
พิธีกรรมดังกล่าวเริ่มขึ้นตั้งแต่เช้าเป็นการเปิดพิธี ตอนสายสรงน้ำพระพุทธรูปปางประสูติ เวลาเพลเลี้ยงพระ และผู้มาร่วมทำบุญ เทศกาลนี้ในอดีตจัดเป็นงานใหญ่โต มีการตักบาตรพระภิกษุจำนวน ๑๐๘ รูป มีผู้มาร่วมทำบุญถวายภัตตาหารแบบข้าวขันแกงโถ แต่ในระยะหลังพระสงฆ์ญวนมีจำนวนน้อยลง จึงต้องนิมนต์พระสงฆ์ไทยฝ่ายเถรวาทมาร่วมด้วยเพื่อให้ครบจำนวน งานนี้เคยจัดที่วัดอนัมนิกายาราม (วัดญวนบางโพ) ซึ่งได้ทำติดต่อกันมาเป็นเวลานาน ปัจจุบันย้ายไปจัดที่วัดถาวรวราราม จังหวัดกาญจนบุรี แต่เพียงแห่งเดียว
พิธีบริจาคทานทิ้งกระจาด
พิธีบริจาคทานทิ้งกระจาด หรือบริจาคไทยทานประจำปี มีกำหนดประกอบพิธีภายในเดือน ๗ ของจีน ทุกปี โดยจัดให้มีงาน ๒ วัน วันแรกเป็นวันเปิดพิธี วันที่ ๒ เป็นพิธีตรายตัง คือ ถวายข้าวสงฆ์ (ถวายสังฆทาน) ในพิธีตรายตัง ผู้ที่มาทำบุญจะเรียงแถวกันรอตักบาตร โดยพระสงฆ์ที่เป็นหัวหน้าจะอุ้มบาตร นำเดินทักษิณาวรรตเวียนรอบอุโบสถ ที่มาของพิธีตรายตังเล่าต่อๆ กันมาว่า สมัยพระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับอยู่ที่เชตวันวิหาร เมืองสาวัตถี เวลานั้นพระโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นพระอัครสาวก และเป็นผู้มีทิพยจักษุ ได้ตรวจดูทั่วโลกมนุษย์และโลกทิพย์แล้ว ได้เห็นมารดาของท่านปรากฏเป็นเปรต ผู้ทนทุกขเวทนาอดอยาก ร่างกายซูบผอม ท่านมีเมตตาระลึกถึงพระคุณแห่งมารดา จึงยื่นบาตรอาหารให้มารดาบริโภค แต่เมื่อมารดารับเอาบาตรอาหารมาถึงมือแล้ว ยังมิทันได้บริโภค อาหารในบาตรก็ลุกเป็นไฟ ไม่สามารถบริโภคได้ พระโมคคัลลานะจึงได้นำเหตุการณ์นี้ กราบทูลต่อองค์พระพุทธเจ้า ซึ่งได้ตรัสแก่พระโมคคัลลานะว่า ที่เป็นดังนี้ เพราะมารดาของพระโมคคัลลานะ ได้สร้างเวรกรรมแต่ชาติปางก่อนไว้มาก ลำพังอำนาจของพระโมคคัลลานะเพียงผู้เดียว ไม่สามารถโปรดมารดา ให้พ้นจากกองทุกข์ได้ ต้องพึ่งพระบารมีพระอริยสงฆ์เจ้าทั้ง ๑๐ ทิศ จึงจะโปรดมารดา ให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ได้ เมื่อได้ฟังดังนั้น พระโมคคัลลานะจึงกระทำปาฏิหาริย์อาราธนาพระอริยสงฆ์เจ้าทั้ง ๑๐ ทิศ มาประชุมพร้อมกัน และได้จัดเครื่องอาหารบิณฑบาตถวาย พร้อมทั้งเครื่องไทยทานต่างๆ ด้วยการนี้ มารดาของพระโมคคัลลานะจึงได้พ้นจากกองทุกข์สู่สุคติ

การสวดมนต์กุ๊งฮุดในพิธีบริจาคทานทิ้งกระจาด
ส่วนที่มาของการบริจาคทานทิ้งกระจาด มีเรื่องเล่าว่า เมื่อสมัยพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เมืองกบิลพัสดุ์ มีพระภิกษุห้อมล้อม สดับพระธรรมเทศนา ในเวลานั้น พระอานนท์ผู้ซึ่งเป็นอัครสาวกอีกองค์หนึ่ง ได้นั่งสมาธิในที่เงียบสงัดอยู่เพียงผู้เดียว ครั้นถึงเวลาดึกสงัด พระอานนท์ได้แลเห็นอสุรกายตนหนึ่ง ร่างกายซูบผอมเหี่ยวแห้ง ผมบนศีรษะรกรุงรัง ลำคอเท่ารูเข็ม มีไฟพุ่งออกมาจากปาก และมีเขี้ยวงอกออกจากปาก ดูน่ากลัวมาก อสุรกายตนนั้นได้มายืนประนมมือบอกพระอานนท์ว่า อีก ๓ ราตรี พระอานนท์จะถึงแก่มรณภาพ และต้องมาอยู่ในหมู่อสุรกายเช่นเดียวกับตน เมื่อพระอานนท์ได้ฟังดังนั้นแล้ว ก็มีความหวาดกลัวเป็นอันมาก จึงได้ถามอสุรกายตนนั้นว่า จะต้องทำประการใดจึงจะพ้นจากความตาย และพ้นจากทุกข์ในหมู่อสุรกายนั้นได้ พระอานนท์ได้รับคำตอบว่า ให้กระทำพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา บริจาคทานให้แก่ยาจกยากจนเข็ญใจที่อดอยาก แผ่บุญกุศลไปให้พวกอสุรกายทั้งหมด จะทำให้มีอายุยืนยาว ส่วนอสุรกายเหล่านั้นก็จะได้พึ่งกุศลผลบุญ ที่พระอานนท์อุทิศไปให้ ทำให้พ้นทุกข์และและไปสู่สุคติได้ทันที

พิธีบริจาคทานทิ้งกระจาด เพื่ออุทิศผลบุญให้แก่ดวงวิญญาณที่ไร้ญาติ
พระอานนท์ได้ฟังดังนั้น ก็นำความกราบทูลพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งขอคำแนะนำ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ให้บริจาคทานแก่หมู่อสุรกาย และพวกพราหมณ์ที่เมืองมัทราฐ เพราะพราหมณ์ที่เมืองนี้ยากจนอนาถา แต่การบริจาคทานที่จะให้ถึงหมู่อสุรกายนั้นยาก เนื่องจาก เป็นพวกที่สร้างเวรสร้างกรรมไว้มาก ไม่สามารถรับบริจาคทานได้โดยตรง จึงต้องตั้งพิธีประชุมพระรัตนตรัยนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญคาถา และอำนาจแห่งคาถานี้ก็จะไปถึงหมู่อสุรกายนั้น พระอานนท์จึงได้จัดหาเครื่องสักการบูชา และเครื่องอุปโภคบริโภค ทำพิธีตั้งสักการบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสังฆเจ้า โดยมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน

พิธีบริจาคทานทิ้งกระจาด เพื่ออุทิศผลบุญให้แก่ดวงวิญญาณที่ไร้ญาติ
พระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่พระอานนท์ว่า เมื่อครั้งอดีตกาล พระองค์ทรงเกิดในตระกูลพราหมณ์ในพระโพธิสัตว์ ทรงพระนามว่า พระโพธิสัตว์กวนอิม เมื่อผู้ใดบริจาคทานให้แก่หมู่อสุรกายใดๆ แล้ว พระองค์จะทรงอ่านคาถา ซึ่งมีอำนาจไปถึงหมู่สัตว์ทั้งหลาย การที่พระองค์ทรงแสดงแก่พระอานนท์ในขณะนั้น เพื่อให้พระอานนท์รู้ว่า อสุรกายที่มาบอกพระอานนท์ว่า อีก ๓ ราตรี พระอานนท์จะถึงแก่มรณภาพนั้น เป็นพระโพธิสัตว์แบ่งภาคมาบอก ทั้งนี้เพื่อพระอานนท์จะได้เป็นต้นบริจาคทานต่อไป พระโพธิสัตว์องค์นี้ ปรารถนาจะโปรดทั้งมนุษย์และสัตว์ ให้ถึงพร้อมด้วยพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ดังนั้นในพิธีบริจาคทานทิ้งกระจาด จึงต้องมีรูปยมราช คือ พระโพธิสัตว์กวนอิมแบ่งภาค เป็นประธานสำหรับแจกเครื่องไทยทานทิ้งกระจาด
การบริจาคทานที่ปฏิบัติเป็นประจำที่วัดญวนนั้น ส่วนมากของที่แจกเป็นข้าวสารและของแห้ง โดยจะมีผู้มารับบริจาคมากมาย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ยากไร้ซึ่งอาศัยอยู่ในละแวกวัด และอยู่ไกลออกไปจากวัด ส่วนอีกจำนวนหนึ่งเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย
เทศกาลถือศีลกินเจ
วัดญวนในประเทศไทยจัดเทศกาลถือ ศีลกินเจในช่วงเวลาเดียวกันกับการถือศีล กินเจของชาวจีนทั่วไป คือ ระหว่างเดือน ๙ ของทุกปี การถือศีลกินเจมีลักษณะทั่วไปเหมือนกับฝ่ายจีนนิกาย คือ มีการถือศีลตามปกติ แต่เพิ่มการไม่บริโภคเนื้อสัตว์ เพราะโดยปกติแล้ว พระสงฆ์ญวนไม่ได้ถือมังสวิรัติ แต่ถือวิกาลโภชนา ซึ่งลักษณะนี้คล้ายกับพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทของไทย แต่แตกต่างไปจากพระสงฆ์ญวนในประเทศญวน ที่ถือมังสวิรัติ และไม่ถือวิกาลโภชนา พระสงฆ์ญวนในประเทศไทยฉัน ๒ มื้อ และถือวิกาลโภชนา ตั้งแต่หลังเที่ยงเป็นต้นไป มีการบิณฑบาตเช่นเดียวกับพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาท

ผู้ถือศีลกินเจนิยมแต่งกายในชุดสีขาว เพื่อความบริสุทธิ์
ในการถือศีลกินเจ นอกจากจะไปถือปฏิบัติที่โรงเจ หรือที่ศาลเจ้า รวมทั้งวัดญวนเป็นส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่ถือศีลก็มักจะถือปฏิบัติที่บ้านด้วย ผู้ที่ไปถือศีลกินเจที่โรงเจมีทั้งผู้ที่มีเชื้อสายญวน ชาวไทยเชื้อสายจีน และคนไทยทั่วไป ที่นิยมกินเจ

อาหารเจ
ความเชื่อที่อยู่คู่กับการถือศีลกินเจนี้ เป็นความเชื่อเกี่ยวกับโลกและดาวนพเคราะห์ ทั้ง ๙ ดวง ที่เชื่อว่า บันดาลให้เกิดธาตุประจำโลกมนุษย์ ๕ ธาตุ ได้แก่ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ และทอง ซึ่งเป็นหัวใจของโลกมนุษย์ โดยธาตุแรกทั้ง ๔ นั้น ถ้ามนุษย์ขาดธาตุใดธาตุหนึ่งก็ต้องตาย ส่วนธาตุทองถือเป็นหลัก ทำให้เศรษฐกิจของโลกหมุนเวียน
ดังนั้น พระทั้ง ๙ องค์ ดาวทั้ง ๙ ดวง และธาตุทั้ง ๕ จึงมีคุณแก่มนุษย์ สัตว์ และพฤกษชาติ สมควรที่พุทธศาสนิกชนจะถือศีลกินเจใน ๙ วันแรก เมื่อขึ้นเดือน ๙ เพื่อเป็นการบูชาพระผู้ทรงพระคุณ และเพื่อขอความสุขความเจริญให้บังเกิดแก่ตนและโลกสืบไป โดยในวันถือศีลกินเจนี้ ผู้ถือศีลจะหยุดทำกิจการ และตั้งใจแผ่เมตตาธรรมอโหสิแก่เพื่อนมนุษย์ แต่งตัวด้วยชุดสีขาว และมีดอกไม้ธูปเทียนบูชาพระร่วมกัน ในการถือศีลกินเจนั้น กำหนดให้มีการถือศีล ๓ ข้อ คือ
๑) เว้นจากการเอาชีวิตสัตว์มาบำรุงชีวิตตน
๒) เว้นจากการเอาเลือดสัตว์มาเพิ่มเลือดตน
๓) เว้นจากการเอาเนื้อสัตว์มาเพิ่มเนื้อตน
เมื่อถือศีลทั้ง ๓ ข้อแล้ว ก็งดเว้นไม่บริโภคเนื้อสัตว์ แต่บริโภคถั่ว งา และพืชผักแทน
ข. พิธีกรรมเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านของชีวิต
ได้แก่ พิธีบวช และพิธีกงเต๊ก
พิธีบวช
วัดญวนในประเทศไทยจัดพิธีบวชในช่วงก่อนเทศกาลเข้าพรรษาของฝ่ายเถรวาท คือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ และพิธีออกพรรษา ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ พิธีบวชของวัดญวนเดิมจัดที่วัดถาวรวราราม จังหวัดกาญจนบุรี เพียงแห่งเดียว แต่ปัจจุบัน จัดที่วัดสมณานัมบริหาร (วัดญวนสะพานขาว) กรุงเทพฯ อีกแห่งหนึ่งด้วย
การปลงผมนาคในพิธีบวช
ในขั้นตอนและรายละเอียดของพิธีมีลักษณะคล้ายคลึงกับทางฝ่ายเถรวาท ตั้งแต่ขั้นตอนการปลงผมนาค ขานนาค รับศีล เปลี่ยนเครื่องทรง สวดมนต์ ถวายเครื่องอัฐบริขาร และถวายเพล จะมีข้อแตกต่างกันก็คือ ในพิธีแบบมหายานอนัมนิกาย ไม่มีการใช้เครื่องดนตรีปี่กลอง เหมือนในพิธีแบบเถรวาท จะมีเพียงการเคาะจังหวะ ให้เป็นไปตามท่วงทำนองการสวดมนต์ ที่ใช้ภาษาญวน
ในช่วงระหว่างเข้าพรรษากำหนดเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน และออกพรรษาในเดือนกันยายน พระสงฆ์วัดญวนจะต้องรักษาวินัยอย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกับการจำพรรษาของพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาท โดยเฉพาะในข้อบัญญัติ การละเว้นจากการไปค้างคืนที่อื่น นอกจากมีกิจจำเป็นซึ่งได้ลาสัตตาหะแล้วเท่านั้น
ในพิธีบวชเป็นภิกษุสงฆ์ ผู้ที่จะบวชต้องจัดเตรียมเครื่องอัฐบริขารให้ครบตามจำนวนวินัย
พิธีบวชเป็นพิธีกรรมที่สะท้อนความเชื่อในการถึงพร้อมซึ่งพระธรรมวินัย โดยการที่ผู้มีจิตศรัทธา และประสงค์ จะให้บุตรเข้าพิธีบวช นำบุตรไปมอบให้แก่เจ้าอาวาสวัด ที่ต้องการจะให้จำพรรษา หรือไปมอบให้แก่พระภิกษุ ที่ต้องการให้เป็นพระอุปัชฌาย์ เพื่อให้ผู้ที่จะบวชได้ฝึกหัดขานนาค และได้เรียนรู้ ที่จะเข้าสู่ขนบธรรมเนียม ของการมีชีวิตในสถานภาพของบรรพชิต ผู้ที่ต้องการบวชเป็นภิกษุสงฆ์ จะต้องจัดหาเครื่องอัฐบริขาร ให้ครบตามจำนวนวินัย เช่น ผ้าไตร ตามแบบอนัมนิกาย บาตร ธมกรก (หม้อกรองน้ำ) เข็มพร้อมทั้งกล่อง และด้ายเย็บผ้า มีดโกนพร้อมด้วยหินลับ ประคดเอว และเครื่องอุปโภคอื่นๆ อันควรแก่สมณเพศ ผู้ที่เข้ามาบวชในอนัมนิกายไม่ได้มีแต่ลูกหลานชาวญวน ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยภาคกลาง และชาวไทยอีสาน โดยเป็นผู้ที่รู้จัก และศรัทธาเลื่อมใส ในความเชื่อที่ถือปฏิบัติของวัดญวนมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ หรือเป็นผู้ที่วัดญวนแห่งนั้นๆ ให้ความอุปการะอยู่ พิธีบวชของวัดญวน นอกจากจะมีการบวชในพรรษาแล้ว ยังมีการบวชนอกพรรษา เช่นเดียวกับวัดทางฝ่ายเถรวาท และมีการบวชระยะสั้น ๓ - ๗ วัน หรือ ๑ - ๓ เดือน เช่น การบวชแก้บน และการบวชในช่วงฤดูร้อน
พิธีกงเต๊ก
พิธีกงเต๊กเป็นพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเชื่อว่าเมื่อได้รับกุศลผลบุญนี้แล้ว จะทำให้พ้นทุกข์ และได้เสวยสุขในสวรรค์ เดิมการประกอบพิธีกรรม มีลำดับขั้นตอนต่างๆ ๑๔ ขั้นตอน และใช้เวลาในการประกอบพิธีกรรมถึง ๕ วัน ๕ คืน หรืออย่างน้อย ๒ วัน ๓ คืน ปัจจุบันมีการตัดลำดับพิธีลงบางขั้นตอน เพื่อเป็นการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย และเพื่อให้พิธีเสร็จสิ้นลง ภายใน ๑ วัน ๑ คืน อย่างไรก็ตาม การจัดพิธีขึ้นอยู่กับเจ้าภาพว่าต้องการให้จัดแบบครบถ้วนหรือไม่ โดยคณะสงฆ์แห่งวัดญวนก็จะจัดให้ตามที่ประสงค์

สิ่งของจำลองที่เผาอุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ ในพิธีกงเต็ก
พิธีกงเต๊กยังสามารถประยุกต์ใช้กับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย เรียกว่า กงเต๊กเป็น ซึ่งเป็นการทำพิธีกงเต๊ก เพื่อสร้างกุศลให้แก่ตนเอง ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นการขอพรให้มีอายุยืนยาว มีความเป็นสิริมงคล และเป็นการลบล้างชดใช้หนี้เวรหนี้กรรมที่ตนได้กระทำไว้ด้วยเจตนาก็ดี ไม่เจตนาก็ดี และเป็นการทำบุญ เป็นอริยทรัพย์ ซึ่งในที่นี้มีความหมายเน้นหนักไปในเรื่องทรัพย์สิน โดยมีการจำลองทรัพย์สินต่างๆ ที่ทำด้วยกระดาษ เช่น ตึกรามบ้านช่อง เงินทอง สิ่งของต่างๆ ขึ้นเป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งนั้นๆ เมื่อนำไปเข้าพิธีสวดแล้ว ก็จะนำสิ่งเหล่านั้น เผาไปพร้อมกระดาษเงินกระดาษทอง ให้เหลือแต่เพียง ขี้เถ้า เพราะเชื่อว่าทรัพย์สินเหล่านั้นจะไปปรากฏในปรโลก ซึ่งตนเองจะได้ใช้เมื่อสิ้นชีวิตไปแล้ว พิธีกงเต๊กอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับก็กระทำในลักษณะเดียวกัน และถือว่า เป็นการส่งสิ่งเหล่านั้น ไปให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเช่นกัน

การประกอบพิธีกรรมต่างๆ ในพิธีกงเต๊ก
พิธีกงเต๊กนับเป็นพิธีที่มีความสำคัญและนิยมปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีต โดยได้รับการยกให้เป็นงานพิธีหลวงครั้งแรก ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี (พระราชชนนีในรัชกาลที่ ๕) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๕ และจัดในฐานะพิธีหลวงต่อๆ มาอีก เช่น เมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ใน พ.ศ. ๒๔๐๘ ในงานพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ งานพระศพ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ และได้กลายเป็นประเพณี ที่ต้องทำถวายในงานพระศพของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่สืบต่อมา จนถึงปัจจุบัน
ค. พิธีกรรมอื่นๆ
ได้แก่ พิธีทอดกฐิน และพิธีทอดผ้าป่า
วัดญวนจัดพิธีทอดกฐิน และพิธีทอดผ้าป่าเช่นเดียวกับวัดฝ่ายเถรวาท โดยจัดในช่วงเทศกาลออกพรรษา มีกำหนดภายใน ๓๐ วัน ซึ่งตรงกับช่วงเดือนกันยายนของทุกปี
พิธีทอดกฐินและพิธีทอดผ้าป่า ซึ่งมีขั้นตอนคล้ายเถรวาท
พิธีทอดกฐินจัดขึ้นโดยอาศัยความเชื่อตามตำนานสมัยพุทธกาลว่า บุคคลใดตั้งใจ หรือศรัทธา นำผ้าไตรจีวร มาถวายเป็นพระกฐินทาน ท่ามกลางหมู่สงฆ์ บุคคลนั้นก็จะได้ผลานิสงส์มากมายประมาณมิได้ ส่วนพิธีทอดผ้าป่า จัดขึ้นในช่วงเวลาไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความสะดวก และความศรัทธาของเจ้าภาพ หรืออาจจัดขึ้น ภายหลังพิธีกรรมใหญ่เสร็จสิ้นลง เช่น พิธีบวช
พิธีทอดกฐินและพิธีทอดผ้าป่า ซึ่งมีขั้นตอนคล้ายเถรวาท
พิธีกรรมต่างๆ ข้างต้นยังคงเป็นพิธีกรรมที่ถือปฏิบัติที่วัดญวนในปัจจุบัน และสะท้อนถึงความเชื่อ ทางฝ่ายมหายานอนัมนิกาย มีบางส่วนที่ได้ผนวกเอาความเชื่อ และวัตรปฏิบัติ ของทางฝ่ายเถรวาทเข้าไว้ด้วย