เล่มที่ 31
วัดญวนในประเทศไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ระเบียบการปกครองของคณะสงฆ์ฝ่ายอนัมนิกาย

            การเข้าไปมีส่วนร่วมในการประกอบพิธีกรรมในราชสำนักของพระสงฆ์อนัมนิกาย และต่อมา ได้รวมเอาพระสงฆ์จีนนิกายเข้าไปด้วย แสดงถึงความจงรักภักดีของคณะสงฆ์ทั้ง ๒ นิกาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้คณะสงฆ์เหล่านี้ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ในทำนองเดียวกันกับพระสงฆ์มอญ ที่ได้รับมาแล้วในรัชกาลที่ ๔ แต่เนื่องจากพระสงฆ์จีนนิกาย และอนัมนิกาย นับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายาน และประกอบพิธีกรรมที่ต่างไปจากพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาท คือ พระไทย และพระมอญ จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีทำเนียบสมณศักดิ์สำหรับพระสงฆ์ญวนขึ้นต่างหาก และโปรดเกล้าฯ ให้มีสมณศักดิ์ สำหรับพระสงฆ์จีนด้วยในคราวเดียวกัน อีกทั้งให้เลือกพระสงฆ์ ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ขึ้นเป็นพระครู พระปลัด รองปลัด (เทียบด้วยสมุห์) ผู้ช่วยปลัด (เทียบด้วยใบฎีกา) และได้พระราชทานสัญญาบัตร มีราชทินนามและพัดยศ ซึ่งจำลองแบบมาจากพัดยศ ของพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาท แต่มีขนาดเล็กกว่า คณะสงฆ์อนัมนิกายเดิมให้สังกัดกรมท่าซ้าย ในความดูแลของพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ปั้น) และมีขุนอนัมสังฆการ เป็นผู้ดูแลพระสงฆ์ฝ่ายอนัมนิกายควบคู่กันไป โดยให้เป็นผู้แทนติดต่อกับสำนักพระราชวัง กรมธรรมการ และกรมท่าซ้าย ต่อมาจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้โอนพระสงฆ์ทั้งฝ่ายอนัมนิกาย และจีนนิกาย มาขึ้นกับกระทรวงธรรมการ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพัดยศประจำตำแหน่งแก่คณะสงฆ์อนัมนิกาย

            ปัจจุบันวัดญวนมีสถานะเป็นองค์กรทางศาสนาเทียบเท่ากับมหาเถรสมาคม ภายใต้การบังคับบัญชา ของสมเด็จพระสังฆราช

วินัยและวัตรปฏิบัติของคณะสงฆ์ฝ่ายอนัมนิกาย

            พระสงฆ์ฝ่ายอนัมนิกายมีวัตรปฏิบัติที่คล้ายคลึง และที่แตกต่างจากทั้งพระสงฆ์ไทย (ฝ่ายเถรวาท) และพระสงฆ์ฝ่ายจีนนิกายในเรื่องต่างๆ ดังนี้

๑. จำนวนศีลสิกขาบท

            พระสงฆ์ทั้งฝ่ายอนัมนิกายและฝ่ายจีนนิกายถือศีลจำนวน ๒๕๐ ข้อ ในขณะที่พระสงฆ์ฝ่ายเถรวาท ถือศีล ๒๒๗ ข้อ ในจำนวน ๒๕๐ ข้อนั้น มีข้อหลักๆ ที่คล้ายกับศีลของพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาท แต่มีข้อปลีกย่อยเพิ่มเติม


การแต่งกายของพระสงฆ์และสามเณรอนัมนิกาย

๒. เครื่องแต่งกาย

            พระสงฆ์ฝ่ายอนัมนิกายและฝ่ายจีนนิกายสวมเสื้อและกางเกง ครองจีวร และไม่โกนคิ้ว ส่วนพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทครองสบง จีวร สังฆาฏิ และโกนคิ้ว

๓. อาหาร

            เดิมพระสงฆ์ฝ่ายอนัมนิกายฉันเจ ๓ มื้อต่อวัน ภายหลังเปลี่ยนเป็นฉันชอ (เนื้อสัตว์) และลดลงเหลือ ๒ มื้อต่อวัน เช่นเดียวกับพระสงฆ์ฝ่ายจีนนิกาย โดยถือวิกาลโภชนา ส่วนพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทฉันอาหารทั่วไป และถือวิกาลโภชนาเช่นกัน


สามเณรอนัมนิกาย

๔. การตื่นนอนและการบิณฑบาต

            พระสงฆ์ฝ่ายอนัมนิกายและฝ่ายจีนนิกายตื่นนอนและบิณฑบาตตามสะดวก ส่วนพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทตื่นนอนตั้งแต่เช้าตรู่ และออกบิณฑบาตเป็นกิจวัตร

๕. พิธีกรรม

            พระสงฆ์ฝ่ายอนัมนิกายมีการปฏิบัติพิธีกรรมคล้ายฝ่ายจีนนิกายทุกประการ แต่มีพิธีบวช พิธีเข้าพรรษา พิธีสรงน้ำพระพุทธรูป คล้ายกับพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาท ในขณะที่ฝ่ายจีนนิกายไม่มี

ระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ฝ่ายอนัมนิกาย

            การปกครองคณะสงฆ์ฝ่ายอนัมนิกายในปัจจุบัน เป็นไปตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และมีกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติคือ กฎกระทรวงฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๒๐ ว่าด้วยการปกครองคณะสงฆ์อื่น จัดให้มีการดำเนินการปกครอง ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย ลัทธินิกาย กฎหมาย และพระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราช ดังนี้


โครงสร้างและตำแหน่งการปกครองของคณะสงฆ์อนัมนิกาย

            กฎกระทรวงฯ ได้กำหนดให้เจ้าคณะใหญ่มีอำนาจในการวางระเบียบและออกคำสั่ง โดยไม่ขัดแย้งกับพระธรรมวินัย ลัทธินิกาย กฎหมาย พระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราช และระเบียบแบบแผนของทางราชการ เพื่อให้การปกครองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย กฎกระทรวงฯ ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๒๐ จึงได้กำหนดให้มีบรรพชิตเป็นผู้ปกครองตามตำแหน่ง โดยลำดับดังนี้คือ