การก่อตัวและการพัฒนาของพรรคการเมืองไทย
เป็นที่เชื่อกันว่า "พรรค" ในความหมายของกลุ่ม หรือองค์กรทางการเมืองเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสังคมตะวันตก ทั้งนี้ เพราะมีหลักฐานยืนยันว่า คำว่า "พรรค (party)" ได้นำมาใช้ ในวงการการเมืองของยุโรปมาตั้งแต่ตอนปลายของสมัยกลาง แต่ในระยะนั้น คำๆ นี้มีความหมายที่ส่อไปในทางลบและไม่เป็นที่ยอมรับกันในหมู่คนส่วนใหญ่ เนื่องจาก องค์กรประเภทนี้มักเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความวุ่นวายและการสร้างความขัดแย้งทางการเมืองอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในสังคมตะวันตกในระยะต่อมา ได้ทำให้ผู้คนเห็นความสำคัญ และยอมรับบทบาทของพรรคการเมืองในฐานะ ที่เป็นตัวแทนของประชาชนมากขึ้น
การประชุมหรือการอภิปรายในสภา ของพรรคการเมืองในประเทศตะวันตก
ในบรรดาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งหลาย การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยและการพัฒนาอุตสาหกรรม นับว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการก่อตัวของพรรคการเมืองสมัยใหม่ ทั้งนี้ เพราะการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในสังคมตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งแก่คนส่วนใหญ่ และการปรับโครงสร้างของสภาทั้งหลาย ให้ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชน ในสังคมได้มากขึ้น ได้เปิดโอกาสให้นักการเมืองและผู้คนทั่วไปจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน
พระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับแรก พ.ศ. ๒๔๙๘ ประกาศใช้ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี
ส่วนการพัฒนาอุตสาหกรรมในสังคมตะวันตกก็มีส่วนช่วยกระตุ้นให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ รวมตัวกันก่อตั้งพรรคการเมืองของ ตนเองขึ้นมา โดยมีเหตุผลสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงด้านนี้ ได้ก่อให้เกิดปัญหาการขัดแย้งทางด้านความคิดและผลประโยชน์ ระหว่างคนหลายกลุ่ม อาทิ ระหว่างนายทุนกับกรรมกร ระหว่างเมืองกับชนบท และระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาคเกษตรกรรม ซึ่งข้อขัดแย้งเหล่านั้นเป็นพลังผลักดันให้ เกิดการจัดตั้งพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทน ผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ ขึ้น
สัญลักษณ์พรรคประชาธิปัตย์
หากพิจารณาถึงที่มาของพรรคการเมือง อย่างกว้างๆ แล้ว เราอาจแบ่งพรรคการเมืองตามแหล่งในการก่อตัวได้เป็น ๒ ลักษณะ คือ พรรคการเมืองที่ก่อตัวขึ้นในสภา และพรรคการเมืองที่ก่อตัวนอกสภา
๑. พรรคการเมืองที่ก่อตัวขึ้นในสภา
เป็นพรรคที่เกิดจากการรวมตัวของนักการเมืองที่ทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติอยู่ในสภา สมาชิกสภาผู้ที่มีแนวคิดทางการเมืองคล้ายกัน หรือมีผลประโยชน์ร่วมกัน จะรวมกลุ่มกัน จัดตั้งเป็นพรรคการเมือง เมื่อกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้มีพรรคการเมืองได้ ตัวอย่างของพรรคประเภทนี้ ได้แก่ พรรคเดโมแครต และพรรครีพับลิกัน ในสหรัฐอเมริกา พรรคคอนเซอร์เวทีฟ และพรรคลิเบอรัล ในประเทศอังกฤษ ซึ่งพรรคการเมืองประเภทนี้มักเกิดขึ้นก่อน โดยเฉพาะในช่วงที่คนส่วนใหญ่เริ่มได้รับสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และมีเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น รวมทั้งกฎหมายก็เริ่มเปิดโอกาสให้จัดตั้งพรรคการเมืองได้
๒. พรรคการเมืองที่ก่อตัวนอกสภา
เป็นพรรคที่เกิดจากการรวมตัวของผู้คนในสังคมที่ไม่เคยเป็นสมาชิกของสภานิติบัญญัติใดๆ แต่คนเหล่านี้ ต้องการเข้าไปมีบทบาทในสภา ในฐานะเป็นตัวแทนของประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือหลายกลุ่ม และมุ่งที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบาย หรือท้าทายอำนาจของรัฐบาลที่พวกเขาเห็นว่าไม่ได้ตอบสนองความต้องการของกลุ่มตนเท่าที่ควร ซึ่งตัวอย่างของพรรคลักษณะนี้ ได้แก่ พรรคแรงงาน ในประเทศอังกฤษ พรรคโซเชียลเดโมแครต ในประเทศเยอรมนี พรรคคริสเตียนเดโมแครต ในกลุ่มคนที่นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก และพรรคเกษตรกร ในประเทศแถบคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย ทางตอนเหนือของทวีปยุโรป พรรคการเมืองเหล่านี้มักเติบโตและมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลหลังพรรคการเมืองลักษณะแรก ในทวีปยุโรป พรรคที่ก่อตัวนอกสภาเพิ่งจะมีบทบาทในการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อราวๆ ต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ นี้
สำหรับในสังคมไทย การก่อตัวและการพัฒนาของพรรคการเมือง ดูเหมือนจะไม่แตกต่างไปจากพรรคการเมือง ในสังคมตะวันตกมากนัก กล่าวคือ พรรคการเมืองไทยเกิดขึ้นและมีบทบาทอยู่ได้ ด้วยผลจากการพัฒนาของระบอบประชาธิปไตย ในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ที่ให้สิทธิและเสรีภาพ ในการจัดตั้งพรรคการเมือง
สัญลักษณ์พรรคชาติไทย
อย่างไรก็ดี ความไม่ต่อเนื่องและการ ชะงักงันของระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย อันเกิดจากการยึดอำนาจ และการจำกัดสิทธิเสรีภาพทางการเมือง โดยรัฐบาลเผด็จการหลายครั้ง ทำให้พรรคการเมืองไทยไม่มีโอกาสในการพัฒนาตนเอง จนกลายเป็นสถาบันทางการเมือง ที่เข้มแข็งมั่นคง และไม่ได้มีบทบาทสำคัญในการปกครองประเทศ เหมือนกับพรรคการเมือง ในสังคมตะวันตก พรรคการเมืองไทยส่วนใหญ่จึงเป็นพรรคที่เกิดใหม่ๆ และมักมีบทบาททางการเมืองเพียงช่วงเวลาสั้นๆ
เราอาจแบ่งการพัฒนาของพรรคการเมืองไทยได้เป็น ๖ ช่วง ดังนี้
๑. ความพยายามที่จะก่อตั้งพรรคการเมืองหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕
การก่อตัวของพรรคการเมืองไทยเริ่มต้นจากการที่กลุ่มทหารและพลเรือนที่เรียกว่า คณะราษฎร ได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตย ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ สมาชิกจำนวนหนึ่งของคณะราษฎร พยายามเปลี่ยนสถานภาพของกลุ่มที่ตนเองสังกัด ให้เป็นพรรคการเมืองอย่างเต็มตัว และเปิดรับสมาชิกจากประชาชนทั่วไปตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ นอกจากนั้น ในปีถัดมา หลวงวิจิตรวาทการ นักการเมืองในสมัยนั้น ก็ขอจัดตั้งพรรคคณะชาติขึ้นมาบ้าง แต่รัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาในขณะนั้น ไม่ยินยอม และห้ามไม่ให้มีพรรคการเมือง เพราะเกรงว่า จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง และความวุ่นวายทางการเมืองขึ้น ความพยายามที่จะจัดตั้งพรรคการเมือง จึงถูกระงับไปชั่วคราว
สัญลักษณ์พรรคไทยรักไทย
๒. การเกิดพรรคการเมืองสมัยแรก
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อบรรยากาศทางการเมืองของไทย เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และมีการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ให้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองอย่างกว้างขวางแก่ประชาชน พรรคการเมืองไทยยุคแรกจึงก่อตัวขึ้น โดยมีพรรคก้าวหน้าเป็นพรรคแรกที่จัดตั้งขึ้น ในปลาย พ.ศ. ๒๔๘๘ หลังจากนั้นพรรคต่างๆ อีกหลายพรรคก็เกิดขึ้นตามมา อาทิ พรรคสหชีพ พรรคแนวร่วมรัฐธรรมนูญ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชาชน พรรคการเมืองดังกล่าวเรียกได้ว่า เป็นพรรคที่ก่อตัวขึ้นในสภา เพราะพรรคการเมืองเหล่านี้ เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มนักการเมืองในรัฐสภา ในขณะนั้นเป็นหลัก เช่น พรรคสหชีพ ก่อตั้งโดยกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่สนับสนุนแนวคิดของ นายปรีดี พนมยงค์ พรรคแนวร่วมรัฐธรรมนูญ ก่อตั้งโดยกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทสอง ที่มี พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ เป็นผู้นำ และพรรคประชาธิปัตย์ที่เกิดจากการรวมตัว ของนักการเมืองคนสำคัญ อาทิ นายควง อภัยวงศ์ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช และนายเลียง ไชยกาล เพื่อทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน ในรัฐสภา พรรคการเมืองในสมัยนั้น ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของตนเองได้อย่างเสรี โดยอาศัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๔๘๙ ที่ให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการ ตั้งพรรคการเมือง แต่ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่มีสินทรัพย์ของตนเองตามกฎหมาย ทั้งนี้ เพราะยังไม่มีกฎหมายพรรคการเมืองที่ออกมารองรับสถานภาพของพรรคเหล่านี้
หลังจากการก่อตัวขึ้นมาได้เพียงไม่กี่ปี พรรคการเมืองไทยเริ่มเผชิญกับปัญหาความอยู่รอดเป็นครั้งแรก เมื่อทหารกลุ่มหนึ่ง ที่เรียกตัวเองว่า คณะรัฐประหาร ได้ยึดอำนาจใน พ.ศ. ๒๔๙๐ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้น มีผลให้กิจกรรมทางการเมืองของพรรคต่างๆ หยุดชะงักไปบ้าง แต่ยังไม่ได้ทำให้พรรคการเมืองไทยในสมัยแรก ต้องยุบเลิกไปทั้งหมด หลายพรรคที่ไม่ต่อต้านฝ่ายทหาร หรือร่วมมือกับฝ่ายทหาร ยังคงแสดงบทบาทอยู่ในรัฐสภาได้ โดยที่บางพรรค เช่น พรรคประชาธิปัตย์ มีโอกาสเข้าไปจัดตั้งรัฐบาลขึ้นปกครองประเทศในระยะสั้นๆ อีกด้วย และในช่วงเวลานั้น ยังมีการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ๆ ขึ้นมาสนับสนุนผู้นำทางทหารอีกหลายพรรค เช่น พรรคธรรมาธิปัตย์ พรรคชาติสังคมประชาธิปไตย สำหรับพรรคการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลเดิม คือ พรรคสหชีพ และพรรคแนวร่วมรัฐธรรมนูญ ต้องเผชิญกับการคุกคามอย่างต่อเนื่อง ของคณะรัฐประหาร จนทั้งสองพรรคต้องยุบเลิกไปในที่สุด
โปสเตอร์หาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้ง
เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ปัญหาความอยู่รอดของพรรคการเมืองมาปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน หลังจากที่คณะรัฐประหารบีบบังคับให้รัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ ลาออก แล้วสนับสนุนให้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อมา เมื่อรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่สามารถควบคุมเสียงสนับสนุนของพรรคการเมืองในรัฐสภาได้ คณะรัฐประหารจึงยึดอำนาจอีกครั้งหนึ่ง และยุบเลิกพรรคการเมืองที่มีอยู่ทั้งหมด ในปลาย พ.ศ. ๒๔๙๔
๓. การเกิดพรรคการเมืองตามกฎหมาย พรรคการเมือง พ.ศ. ๒๔๙๘
พรรคการเมืองไทยเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อรัฐสภาได้ผ่านกฎหมายพรรคการเมืองฉบับแรกใน พ.ศ. ๒๔๙๘ พระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับนี้ เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจำนวนตั้งแต่ ๕๐๐ คน หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่ ๑๐ คนขึ้นไป สามารถร้องขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองต่อสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงมหาดไทย โดยจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ระบุให้มีชื่อพรรคการเมือง นโยบายของพรรค ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรค ชื่อของหัวหน้า และเลขาธิการของพรรค และลายมือชื่อของผู้ตั้งพรรคอยู่ในหนังสือขอจดทะเบียนดังกล่าว
การรื้อฟื้นพรรคการเมืองในครั้งนี้ กล่าวได้ว่า เกิดจากการที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ต้องการให้สังคมไทย มีสิทธิเสรีภาพทางการเมือง และเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ภายหลังจากที่ได้เดินทางไปดูงานในประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก ผลจากการออกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๔๙๘ ทำให้มีผู้ขอจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองเป็นจำนวนมาก มีทั้งพรรค ที่เกิดจากการรวมตัวของนักการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร และพรรคที่เกิดจากการจัดตั้งโดยคนกลุ่มต่างๆ นอกรัฐสภา พรรคการเมืองที่โดดเด่นอยู่ในขณะนั้น ได้แก่ พรรคเสรีมนังคศิลา พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเศรษฐกร พรรคธรรมาธิปัตย์ และพรรคชาตินิยม พรรคการเมืองบางพรรค เช่น พรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคเก่าที่จัดตั้งขึ้นใหม่ แต่ส่วนใหญ่ เป็นพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่โดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ดี พรรคการเมืองเหล่านี้มีโอกาสดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้เพียง ๓ ปี ก็ถูกยุบเลิกไป เมื่อคณะปฏิวัติซึ่งมี จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้นำ ได้ยึดอำนาจรัฐบาลของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ใน พ.ศ. ๒๕๐๑ พร้อมกับยกเลิกรัฐธรรมนูญและสิทธิเสรีภาพทางการเมืองที่มีอยู่ทั้งหมด
การปราศรัยหาเสียงและการพบปะประชาชน ของพรรคการเมืองต่างๆ
๔. การเกิดพรรคการเมืองหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๑๑
พรรคการเมืองไทยมีโอกาสเกิดขึ้นและแสดงบทบาททางการเมืองเป็นครั้งที่ ๓ หลังจากรัฐบาลทหารได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๑๑ และออกกฎหมายพรรคการเมืองตามมา การฟื้นตัวของระบอบประชาธิปไตยดังกล่าว ทำให้มีพรรคการเมือง ทั้งเก่าและใหม่จดทะเบียนก่อตั้งพรรค และส่งสมาชิกของตนลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นจำนวนถึง ๑๔ พรรค ปรากฏว่า มีพรรคการเมือง ที่ได้รับเลือกเข้าสู่สภาผู้แทนเพียง ๗ พรรคเท่านั้น พรรคการเมืองที่สำคัญก็คือ พรรคสหประชาไทย ที่ก่อตั้งโดย จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ผู้นำทางทหาร และพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากนั้น เป็นพรรคขนาดเล็ก เช่น พรรคแนวร่วมเศรษฐกร พรรคเสรีประชาธิปไตย และพรรคประชาชน พรรคการเมืองเหล่านี้ถูกยุบเลิกไปในปลาย พ.ศ. ๒๕๑๔ เมื่อรัฐบาลฝ่ายทหาร ได้ยึดอำนาจตนเอง และประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ และพรรคการเมือง