การยุบพรรค รวมพรรค และย้ายพรรค
ถึงแม้ว่าการยุบพรรค รวมพรรค และย้ายพรรคเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกพรรคการเมือง แต่ในสังคมตะวันตก เหตุการณ์เช่นนี้มักจะไม่ปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งนัก และสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของอุดมการณ์ และแนวนโยบาย ตัวอย่างเช่น ใน พ.ศ. ๒๕๒๔ นักการเมืองพรรคแรงงานในอังกฤษจำนวนหนึ่ง ไม่พอใจนโยบาย ของพรรคเดิม ได้ย้ายไปสังกัดพรรคโซเชียลเดโมแครต ซึ่งพวกเขาร่วมกันก่อตั้งขึ้น ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๓๑ บรรดาผู้นำของพรรคเห็นว่า พรรคโซเชียลเดโมแครตมีอุดมการณ์ และนโยบายใกล้เคียงกับพรรคลิเบอรัล จึงรวมพรรคเข้าด้วยกัน และเปลี่ยนชื่อเป็น พรรคลิเบอรัลเดโมแครต ในทางตรงกันข้าม การยุบพรรค รวมพรรค และการย้ายพรรคของนักการเมืองไทย มักจะเกิดขึ้นบ่อยๆ และส่วนใหญ่มักมีเหตุมาจากการแสวงหาโอกาสที่จะได้รับเลือก เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือได้เข้าร่วมเป็นฝ่ายรัฐบาล มากกว่าประเด็นด้านอุดมการณ์หรือนโยบาย อย่างไรก็ตาม ในขณะที่การยุบพรรค รวมพรรค หรือย้ายพรรคในสังคมตะวันตก มักจะทำได้โดยอิสระ แต่ในสังคมไทย การกระทำดังกล่าว จะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย
ในกรณีของการยุบหรือเลิกพรรคการเมือง พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ ระบุว่า การยุบหรือเลิกพรรคการเมือง สามารถทำได้ด้วยสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ประการแรก เลิกตามข้อบังคับของพรรค ประการที่สอง มีจำนวนสมาชิกไม่ถึง ๑๕ คน ประการที่สาม ต้องการไปรวมกับพรรคการเมืองอื่น ประการที่สี่ ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรค และประการสุดท้าย ไม่ดำเนินกิจการพรรคตามที่ระบุไว้ในกฎหมายพรรคการเมือง ทั้งนี้ การยุบหรือเลิกพรรคการเมือง จะมีผลตามกฎหมาย เมื่อประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ยื่นคำร้องให้ ยุบเลิกพรรคต่อศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบเลิกพรรค โดยคำสั่งดังกล่าวจะต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา
สำหรับการรวมพรรค การเปลี่ยนแปลงพรรคการเมืองในลักษณะนี้แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ประเภทแรก เป็นการรวมกัน ระหว่างพรรคการเมือง เพื่อจัดตั้งพรรคใหม่ การรวมพรรคลักษณะนี้ พรรคการเมืองที่จะรวมกันแต่ละพรรคจะต้องขอความเห็นชอบ จากที่ประชุมใหญ่ของพรรคเสียก่อน เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว หัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคของแต่ละพรรคการเมือง จำนวนพรรคละ ๑๐ คน จะต้องมาประชุมร่วมกัน เพื่อกำหนดนโยบาย และข้อบังคับของพรรคที่จะจัดตั้งขึ้น และจะต้องจัดให้มีการประชุมระหว่างสมาชิกของพรรคการเมืองที่จะร่วมกัน จัดตั้งพรรคใหม่ โดยต้องแจ้งให้บรรดาสมาชิกเหล่านี้ ทราบก่อนการประชุม ไม่น้อยกว่า ๗ วัน ทั้งนี้ กระบวนการจัดตั้งพรรคการเมืองในลักษณะนี้ มีขั้นตอนเหมือนกับการจัดตั้งพรรคการเมืองทั่วๆ ไป แต่มีข้อแตกต่างกันตรงที่ นายทะเบียนพรรคการเมืองจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้มีคำสั่งยุบพรรคเดิม และประกาศคำสั่งการยุบ และรวมพรรคการเมืองดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษา
หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ หัวหน้าพรรคเกษตรสังคม แถลงการณ์ร่วมกัน เกี่ยวกับการรวมกันทางการเมืองของ
ทั้ง ๒ พรรค เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ณ โรงแรมรอยัล ซึ่งปัจจุบัน คือ โรงแรมรัตนโกสินทร์ (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
ส่วนการรวมพรรคประเภทที่สองเป็นการยุบพรรคเพื่อไปเข้าร่วมกับพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่งที่มีอยู่แล้ว เช่น การยุบพรรคเสรีธรรม พรรคความหวังใหม่ และพรรคชาติพัฒนา เพื่อเข้าร่วมกับพรรคไทยรักไทย ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. ๒๕๔๔ ในการรวมพรรคแบบนี้ พรรคการเมืองที่ต้องการยุบพรรค ต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ของพรรค เสียก่อน หลังจากได้รับความเห็นชอบแล้ว หัวหน้าพรรคนั้นจะต้องแจ้งให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทราบ เพื่อดำเนินการ ยื่นคำร้องต่อศาล รัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรคและรวมพรรค ตลอดจนประกาศคำสั่งในราชกิจจานุเบกษา ในทำนองเดียวกับการรวมพรรคประการแรก
ในกรณีของการย้ายพรรค โดยทั่วไปนักการเมืองสามารถย้ายพรรคได้โดยอิสระ แต่จะต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพียงพรรคเดียว และสังกัดพรรคการเมืองใหม่อย่างน้อย ๙๐ วัน จึงจะมีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ สำหรับผู้ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การย้ายพรรค นอกจากจะทำให้สูญเสียสมาชิกภาพของสภาผู้แทนราษฎรทันที ที่ลาออกจากพรรคเดิมแล้ว ยังจะต้องเป็นสมาชิกพรรคใหม่ก่อนการสิ้นสุดอายุสภาไม่ต่ำกว่า ๔๕ วัน หรือก่อนการยุบสภา ไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน มิฉะนั้นก็จะไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ด้วยเหตุที่สังกัดพรรคใหม่ไม่ถึง ๙๐ วัน ทั้งนี้เพราะรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ระบุให้การเลือกตั้งทั่วไปมีขึ้นภายใน ๔๕ วัน หลังจากอายุสภาผู้แทนราษฎร สิ้นสุดลง หรือภายใน ๖๐ วัน หลังจากการยุบสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงย้ายพรรคได้ยากขึ้นในยุคปัจจุบัน