อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พรรคการเมืองไทยอ้างว่าเป็นสาขาพรรค มักจะเป็นเพียงศูนย์ในการหาเสียงเลือกตั้ง หรือที่ทำการ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคในเขตเลือกตั้งเท่านั้น ศูนย์หรือที่ทำการเหล่านี้ ไม่ได้ทำหน้าที่ของสาขาพรรค แต่อย่างใด นอกจากรับข้อร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ และให้ความช่วยเหลือในบางเรื่องแทนนักการเมือง มากกว่าทำหน้าที่ ของสาขาพรรคโดยตรง แท้จริงแล้วสาขาพรรคของพรรคการเมืองมีบทบาทสำคัญในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทในด้าน การโฆษณานโยบายและกิจกรรมของพรรค การให้การศึกษาแก่ประชาชน และรับสมาชิกพรรค ตลอดจน การคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค
โครงสร้างของพรรคการเมือง
ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ โครงสร้างพรรคการเมืองไทย จะต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อยที่สุด ๓ ส่วน คือ ที่ประชุมใหญ่ของพรรค คณะกรรมการบริหารพรรค และคณะกรรมการบริหารสาขาพรรค โดยกฎหมายพรรคการเมืองฉบับนี้ ระบุให้องค์ประกอบดังกล่าว เป็นกลไกพื้นฐาน ในการดำเนินงานของพรรคการเมืองไทย
๑) ที่ประชุมใหญ่ของพรรค
ประกอบด้วยคณะกรรมการบริหารพรรค ผู้แทนของสาขาพรรค และสมาชิกพรรค ที่ประชุมใหญ่ของพรรคแต่ละพรรค เป็นที่ประชุม สำหรับลงมติ ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขนโยบายและข้อบังคับของพรรค การเลือกตั้งหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค รองเลขาธิการพรรค เหรัญญิกพรรค โฆษกพรรค และกรรมการบริหารอื่นๆ ของพรรค นอกจากนั้น ที่ประชุมนี้ยังมีหน้าที่ดำเนินการด้านอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดอีกด้วย
๒) คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง
ประกอบด้วย หัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค รองเลขาธิการพรรค เหรัญญิกพรรค โฆษกพรรค และกรรมการบริหารอื่นๆ ที่เลือกตั้งจากสมาชิกพรรคซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปีบริบูรณ์ กฎหมายพรรคการเมืองฉบับปัจจุบัน ระบุให้ คณะกรรมการบริหารพรรค มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจการของพรรคให้เป็นไปตามนโยบาย ข้อบังคับ และมติของที่ประชุมใหญ่ของพรรค และให้หัวหน้าพรรค หรือคณะกรรมการบริหารพรรค ที่หัวหน้าพรรคมอบหมาย เป็นผู้แทนของพรรค ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก
๓) คณะกรรมการบริหารสาขาพรรค
ประกอบด้วย ประธานสาขา รองประธานสาขา เลขานุการสาขาพรรค รองเลขานุการสาขาพรรค เหรัญญิกสาขาพรรค โฆษกสาขาพรรค และกรรมการอื่นของสาขาพรรค มีหน้าที่ดำเนินกิจการให้เป็นไปตาม นโยบายและข้อบังคับพรรค
การประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารพรรค ผู้แทนของสาขาพรรค และสมาชิกพรรค เป็นกลไกพื้นฐานในการดำเนินงานของพรรคการเมืองไทย ตามกฎหมายพรรคการเมือง
อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองแต่ละพรรคสามารถมีองค์ประกอบเพิ่มเติมไป จากโครงสร้างพื้นฐานได้ หากการจัดตั้งองค์ประกอบนั้นๆ ไม่ขัดแย้งกับหลักการของกฎหมายพรรคการเมือง ดังจะเห็นได้ว่า ทุกพรรคการเมือง จะมีหน่วยงานด้านการบริหารภายในพรรค หรือสำนักงานพรรค และแบ่งหน่วยงานภายในพรรคออกเป็นฝ่ายต่างๆ อาทิ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายการเมือง และฝ่ายนโยบาย และการวางแผน เพื่อช่วยให้การทำงานของพรรคได้ผลมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากคณะกรรมการบริหารพรรคแล้ว พรรคการเมืองจำนวนหนึ่ง เช่น พรรคชาติไทย พรรคชาติพัฒนา และพรรคไทยรักไทย ยังมีคณะผู้บริหารพรรคเป็นองค์ประกอบในการบริหารเพิ่มเติมเข้าไปในโครงสร้างพรรค พรรคการเมืองบางพรรค เช่น พรรคชาติไทย และพรรคชาติพัฒนา มีคณะที่ปรึกษาพรรคเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่ง ในโครงสร้างพรรค ในขณะที่พรรคไทยรักไทยไม่มีองค์ประกอบดังกล่าว
การหารายได้ของพรรคการเมือง
ประเด็นสำคัญอีกส่วนหนึ่งของการจัดองค์การของพรรคการเมือง คือ การระดมทรัพยากรในรูปรายได้เข้าสู่พรรค เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินงานด้านต่างๆ โดยทั่วไป พรรคการเมืองไทยมีรายได้มาจาก ๔ แหล่ง คือ ค่าบำรุงพรรค การบริจาค การสนับสนุนทางการเงินของรัฐ และการดำเนินกิจกรรมของพรรค
๑) ค่าบำรุงพรรค
เป็นรายได้ที่พรรคการเมืองสามารถเรียกเก็บจากสมาชิกพรรคทุกคน แต่พรรคการเมืองบางพรรคอาจไม่สนใจ ที่จะหารายได้จากแหล่งนี้ เนื่องจากรายได้จากค่าบำรุงพรรคเป็นจำนวนเงินที่เล็กน้อยมาก จนไม่มีความสำคัญต่อการดำเนินงานของพรรค นอกจากนี้ ยังมีปัญหา ในการจัดเก็บจากสมาชิกของพรรคอีกด้วย เช่น จะเรียกเก็บโดยวิธีใด รายได้จะคุ้มทุนในการจัดเก็บหรือไม่ และการเรียกเก็บจะมีผลให้ สมาชิกพรรคลดลงหรือเปล่า พรรคการเมืองไทยจึงมักตัดรายได้ส่วนนี้ออกไป จากแหล่งที่มาของรายได้
๒) การบริจาค
นับเป็นที่มาของรายได้ที่สำคัญที่สุดของพรรคการเมือง รายได้ของพรรคจากแหล่งนี้อาจมาจากการบริจาคของบุคคลทั่วไป สมาชิกพรรค ผู้บริหารพรรค หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในสังกัดของพรรค กฎหมายพรรคการเมือง ระบุให้การรับบริจาค ของพรรคการเมือง จะต้องทำโดยเปิดเผย นั่นคือ พรรคการเมืองจะต้องออกหลักฐานการรับบริจาค ให้แก่ผู้บริจาค และเปิดเผยรายชื่อของผู้บริจาค และจำนวนเงินที่บริจาค ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด นอกจากนี้ หัวหน้าพรรคยังต้องมีบัญชีแสดงรายรับจากการบริจาคที่ระบุชื่อ ที่อยู่ จำนวนเงิน และรายการทรัพย์สินของผู้บริจาค รวมทั้งการบริจาคผ่านสมาชิกพรรค วัน เดือน ปี ที่รับบริจาค และสำเนา หลักฐานการบริจาค ไว้อย่างชัดเจนอีกด้วย
รายได้ของพรรคการเมืองจากแหล่งนี้มักขึ้นอยู่กับขนาดและบทบาทของพรรค พรรคการเมืองขนาดใหญ่ ที่มีบทบาทอยู่ในรัฐบาล หรือสภาผู้แทนราษฎร มักจะมีรายได้จากการบริจาคสูงกว่าพรรคเล็กๆ และพรรคที่ไม่มีสมาชิก อยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ใน พ.ศ. ๒๕๔๕ ปรากฏว่า พรรคไทยรักไทยมีรายได้จากการบริจาค ๒๑ ล้านบาท พรรคประชาธิปัตย์มี ๑๒ ล้านบาท พรรคชาติไทย มี ๑๑ ล้านบาท พรรคชาติพัฒนามี ๖ ล้านบาท ในขณะที่พรรคเล็กๆ เช่น พรรคเผ่าไทยมีผู้บริจาคเงินเพียง ๑,๒๐๐ บาท เท่านั้น
๓) รายได้จากการสนับสนุนทางการเงินของรัฐ
นับเป็นแหล่งรายได้ใหม่ของพรรคการเมืองไทย ที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ กฎหมายพรรคการเมืองฉบับนี้ กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดสรรเงินสนับสนุน จากกองทุน เพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองให้แก่พรรคต่างๆ เป็นรายปี ตามโครงการและแผนงานในการดำเนินกิจการ ของแต่ละพรรค
อย่างไรก็ดี รายได้ที่พรรคการเมืองได้รับจากการสนับสนุนของรัฐ จะมากหรือน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับขนาด ของพรรคการเมืองเป็นหลัก ทั้งนี้ เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องนำเอาจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค จำนวนคะแนนเสียงจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ที่พรรคได้รับมาจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหลังสุด จำนวนสมาชิกของพรรค และจำนวนสาขาของพรรคตามลำดับ มาพิจารณาในการกำหนด หลักเกณฑ์ และวิธีการ ในการจัดสรรเงินให้แก่พรรคการเมือง ด้วยเหตุนี้ พรรคการเมืองใหญ่จึงได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐมากกว่าพรรคเล็กๆ
๔) รายได้จากกิจกรรมของพรรค
มาจากการดำเนินการหรือจัดงานบางอย่างเพื่อหาทุนสนับสนุนพรรค เช่น การจัดปาฐกถา หรืออภิปราย การจำหน่ายสินค้า และการประมูลผลงาน ด้านศิลปะ หรือของใช้ของนักการเมือง รายได้ที่เกิดจากการจัดกิจกรรมเหล่านี้ เป็นเพียงรายได้เสริม ของพรรคการเมืองที่ได้มาเป็นครั้งคราวเท่านั้น แต่ก็มีความสำคัญ ในแง่ที่เป็นตัวชี้ให้เห็นระดับความนิยมที่ประชาชน มีต่อพรรค

การจัดกิจกรรมของพรรคการเมือง เพื่อหาทุนสนับสนุนพรรค
ในบรรดารายได้ทั้งหมดของพรรคการเมือง แหล่งรายได้ใหญ่ที่สุดมาจากการบริจาค และรองลงมา เป็นรายได้จากเงินสนับสนุนของรัฐ ในขณะที่ รายได้จากค่าบำรุงพรรคและกิจกรรมของพรรคเป็นเพียงส่วนประกอบเล็กๆ ของรายได้ทั้งหมดที่พรรคหามาได้ในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ารายได้เหล่านี้จะมากหรือน้อยเพียงใด พรรคการเมืองก็จะต้องแสดงหลักฐานการได้มา และการใช้จ่ายไปของรายได้เหล่านี้ รวมไว้ในบัญชีของพรรค ซึ่งประกอบด้วย บัญชีรายรับและรายจ่าย บัญชีรายรับจากการบริจาค บัญชีแยกประเภท และบัญชีสินทรัพย์และหนี้สิน ต่อจากนั้น พรรคการเมืองยังจะต้องจัดทำงบการเงิน ให้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตทำการตรวจสอบ และรับรอง ก่อนที่จะให้ ที่ประชุมใหญ่ของพรรค อนุมัติ โดยหัวหน้าพรรค และเหรัญญิกพรรค เป็นผู้รับรองความถูกต้อง แล้วให้นายทะเบียน เสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อตรวจสอบ และประกาศให้สาธารณชนทราบ กระบวนการตรวจสอบ และควบคุม ด้านการเงินดังกล่าว เป็นความพยายาม ที่จะทำให้การบริหารการเงินของพรรคการเมืองไทยเป็นไปอย่างโปร่งใส ไม่มีการรับเงิน และใช้จ่ายเงินในทางที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งการรับเงินจากแหล่งที่ผิดกฎหมาย