ปลากัดไทยในต่างประเทศ
ได้มีการนำปลากัดไทยไปเลี้ยงเป็นปลาสวยงามในบางประเทศของทวีปยุโรปตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๗ และสหรัฐอเมริกานำเข้าไปเลี้ยงใน พ.ศ. ๒๔๖๐ จากนั้นมา ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดอย่างต่อเนื่อง ทั้งในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยในระยะแรกๆ จะเน้นการผสมปลากัดให้ได้สีใหม่ๆ และได้รูปแบบสีที่สมบูรณ์ ในช่วง พ.ศ. ๒๔๗๐ - ๒๔๘๐ ผู้เลี้ยงมักนิยมปลากัดสีอ่อนหรือสีเผือก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เรียกว่า ปลากัดเขมร ซึ่งมีลำตัวสีอ่อน และมีครีบสีแดง ต่อมาประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๐ นักเพาะเลี้ยงมุ่งที่จะเพาะปลากัดสีดำ และทำได้เป็นผลสำเร็จ ระยะต่อมา จึงได้เริ่มมีความสนใจ ที่จะพัฒนาลักษณะของรูปทรงลำตัวและครีบ โดยใน พ.ศ. ๒๕๐๗ นักเพาะเลี้ยงปลากัดในสหรัฐอเมริกาสามารถผลิตสายพันธุ์ปลากัด ลิบบี (Libby) ซึ่งมีหางใหญ่มน กว้างเป็น ๓ เท่าของลำตัว เช่นเดียวกับครีบก้นและครีบหลัง ต่อมาในระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๐ - ๒๕๒๐ ก็สามารถผลิตปลากัดหางสามเหลี่ยมให้ชื่อว่า เดลตา (Delta) ซึ่งเป็นปลากัดที่มีครีบหางแผ่ทำมุม ๔๕ - ๖๐ องศากับโคนหาง รวมทั้งปลาที่มีหางสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า ซูเปอร์เดลตา (Super delta) ด้วย ประมาณ พ.ศ. ๒๕๓๐ ในทวีปยุโรปได้มีผู้สามารถผสมพันธุ์ปลากัดที่มีหางแผ่เป็นรูปครึ่งวงกลม ที่เรียกว่า ฮาล์ฟมูนเดลตา (Halfmoon delta) หรือหางพระจันทร์ครึ่งซีกได้ หลังจากนั้นใน พ.ศ. ๒๕๔๓ นักเพาะเลี้ยงปลากัดชาวสิงคโปร์ได้พัฒนาปลากัดสายพันธุ์ใหม่ที่มีหางจักเป็นหนามเหมือนมงกุฎ ที่เรียกว่า คราวน์เทล (Crown tail) หรือหางมงกุฎ ซึ่งเป็นปลากัดที่นิยมกันมากสายพันธุ์หนึ่งในปัจจุบัน ในสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีผู้นิยมเลี้ยงปลากัด ทั้งที่เลี้ยงเป็นงานอดิเรกและเลี้ยงเป็นอาชีพเป็นจำนวนมาก มีการจัดตั้งเป็นชมรมและสมาคมต่างๆ รวมทั้งมีการจัดการประกวดแข่งขันกัน ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ