เล่มที่ 30
ปลากัด
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ลักษณะที่ดีของปลากัด

            การดูลักษณะของปลากัดจะพิจารณาใน ๓ ส่วนหลัก คือ สภาพความสมบูรณ์และอาการการแสดงออก ลักษณะรูปทรง และลักษณะสี

๑. สภาพความสมบูรณ์และอาการการแสดงออก

            ปลากัดที่ดีต้องมีสุขภาพสมบูรณ์ ไม่มีแผลตามลำตัวและครีบ เกล็ดไม่หลุดพอง ครีบไม่ฉีกขาด มีกิริยาอาการกระฉับกระเฉง แผ่พองเมื่อถูกกระตุ้น

๒. ลักษณะรูปทรง

            ก. ลำตัว

            ควรเป็นรูปกระสวยที่ดึงกว้างออกบริเวณครีบท้องหรือตะเกียบ ส่วนด้านบนลาดลงสู่หัวและหาง โดยทุกด้านเรียวเข้าสู่โคนหาง ความยาวของลำตัวควรเป็น ๓ - ๔ เท่าของความกว้างจากบนลงล่าง ขนาดของลำตัวจะต้องสมส่วนกับขนาดครีบ ถ้าเป็นปลากัดหางคู่อาจมีลำตัวกว้างกว่าปลากัดหางเดียว

            ข. ครีบ

            ควรแผ่สวยงาม แผ่นครีบจะต้องเต็ม แข็งแรงไม่ชำรุด ขอบของแผ่นครีบควรเรียบและไม่ฉีกขาด ยกเว้นปลาที่มีก้านครีบยื่นเลยแผ่นครีบ ก้านครีบควรจะตรงและขนาน หรือแผ่ออกเป็นระเบียบจากฐานครีบ ที่อยู่ติดลำตัวสู่ขอบนอกของครีบ ก้านครีบอาจยื่นยาวเลยแผ่นครีบได้ ซึ่งในกรณีนี้ทุกครีบควรมีลักษณะเหมือนๆ กัน

            ครีบหลัง ปลากัดหางเดียวควรมีครีบหลังลักษณะเป็นรูปหยดน้ำฐานกว้าง หรือรูปเปลวไฟที่เอนไปทางด้านหลัง ครีบควรกว้างและเต็มสมบูรณ์ ส่วนปลากัดครีบยาว ครีบหลังควรซ้อนทับต่อเนื่องเป็นเนื้อเดียวกันกับครีบหาง สำหรับปลากัดครีบสั้น ขอบครีบด้านหลังควรสอดรับเป็นแนวเดียวกันกับขอบด้านหลังของครีบก้น ในปลากัดหางคู่ ครีบหลังจะใหญ่กว่าปลากัดหางเดียว และควรมีลักษณะใกล้เคียงกับครีบก้นมากที่สุด ลักษณะครีบที่สมบูรณ์ จะเป็นเสมือนเงาในกระจกของครีบก้น

            ครีบหาง เป็นครีบที่มีรูปแบบหลากหลายมากที่สุด รูปแบบทั่วไปสำหรับปลาหางเดียว อาจเป็นหางกลม หางกลมปลายแหลม หางรูปสามเหลี่ยม หางครึ่งวงกลม หางย้วยแบบผ้าม่าน และหางรูปใบโพธิ์ซึ่งปลายย้อยลง หางทุกแบบควรแผ่เต็มสมบูรณ์ได้สัดส่วน ควรมีการกระจายของก้านครีบเท่ากัน ระหว่างส่วนบน และส่วนล่าง ของเส้นที่ลากผ่านจุดกลางของโคนครีบ ขอบด้านนอกโค้งได้รูป
สำหรับปลาหางเดียวที่มีหางกลม หางกลมปลายแหลม หางรูปสามเหลี่ยม และหางครึ่งวงกลม หางครึ่งบน และครึ่งล่าง ควรเป็นเสมือนเงาในกระจกซึ่งกันและกัน


            ส่วนปลาหางเดียวที่มีหางย้วยแบบผ้าม่าน หางควรแผ่ใหญ่สมบูรณ์ ปลาหางรูปใบโพธิ์ซึ่งปลายย้อยลง ครีบหางควรกว้าง ขอบครีบควรโค้งได้รูปสวยงามเรียวสู่ส่วนปลาย

            ในกรณีของปลาหางคู่ ลักษณะหางอาจเป็นลักษณะที่เชื่อมต่อกันจนปลายหางเกือบเป็นเส้นตรง หรือเว้าเล็กน้อย หรือเว้ามากเป็นรูปหัวใจ หรือหางแยกที่ซ้อนทับ เกยกัน หรือหางที่แยกจากกันเต็มที่โดยไม่ซ้อนทับ หรือเป็นหางที่เว้าลึกในระดับต่างๆ แต่ยังไม่แยกกันเด็ดขาด ลักษณะที่ดีคือ หางทั้งสองข้างควรเป็นเสมือนเงาในกระจกซึ่งกันและกัน

            ครีบก้น ลักษณะครีบที่ดีควรมีขอบครีบส่วนหน้าและส่วนหลังขนานกัน และค่อยๆ โค้งไปทางด้านหลัง ขอบด้านหน้า และขอบด้านหลัง จะต้องไม่เรียวสอบแหลมเข้าหากัน ในปลากัดครีบยาว ลักษณะครีบก้นที่ดี จะต้องแผ่กว้างคล้ายสี่เหลี่ยม และซ้อนทับเป็นเนื้อเดียวกันกับครีบหาง ในปลากัดครีบสั้น ลักษณะที่ดี จะต้องคล้ายสี่เหลี่ยม ที่ด้านหน้าแคบลบมุมโค้งเข้าสู่ตัวปลา และโค้งกว้างออกมาทำมุมแหลมกับขอบด้านหลัง บรรจบกันเป็นชายน้ำเรียวแหลม ขอบด้านหลังโค้งเข้าเล็กน้อย และควรกว้างประมาณ ๔ เท่าของขอบด้านหน้า

            ครีบท้อง หรือตะเกียบ  หรือทวน ลักษณะที่ดีควรมีลักษณะเหมือนใบมีดที่มีด้านคมอยู่ด้านหลัง ขอบด้านหน้าโค้งเข้าเล็กน้อย ปลายแหลม ครีบทั้งคู่ควรมีความยาวและขนาดเท่ากัน และไม่ไขว้กัน ครีบจะต้องไม่สั้นหรือกว้างเกินไป และไม่ยาวหรือแคบเกินไป

            ครีบอก ควรเป็นครีบที่สมบูรณ์ กว้างและยาว

๓. ลักษณะสี

            สีของปลากัดแบ่งตามมาตรฐานได้เป็น ๓ ประเภทใหญ่ๆ คือ ปลากัดสีเดียว ปลากัดสองสี และปลากัดสีลวดลาย

            ก. ปลากัดสีเดียว

            เป็นปลากัดที่มีสีเดียวทั้งลำตัวและครีบ และเป็นสีโทนเดียวกันทั้งหมด ปลากัดสีเดียวแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ คือ ปลากัดสีเดียวสีเข้ม และปลากัดสีเดียวสีอ่อน และอาจแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ ลงไปได้อีกตามรายละเอียดของสี ปลากัดสีเดียวที่สมบูรณ์จะต้องไม่มีสีอื่นปะปนในส่วนของลำตัวและครีบเลย ยกเว้นที่ตาและเหงือก

            ข. ปลากัดสองสี

            ลักษณะที่สำคัญ คือลำตัวจะต้องมีสีเดียว และครีบทั้งหมดจะต้องมีสีเดียวเช่นกัน แต่สีของครีบจะต้องต่างกับสีของลำตัว ปลากัดสองสีอาจแบ่งออกได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ คือ

  • ปลากัดสองสีชนิดลำตัวสีเข้ม ปลากัดสองสีชนิดนี้จะมีลำตัวสีเข้มสีใดสีหนึ่ง เช่น สีแดง สีดำ สีน้ำเงิน สีเขียว และครีบก็ต้องเป็นสีเดียว แต่จะเป็นสีที่ต่างกับสีลำตัว โดยอาจเป็นสีเข้มอื่นๆ หรือเป็นสีอ่อนก็ได้ ลักษณะที่ดีของปลากัดสองสีชนิดลำตัวสีเข้มที่สำคัญคือ ต้องมีสีลำตัวและสีครีบตัดกันอย่างชัดเจน โดยสีลำตัวและสีครีบแยกกันตรงบริเวณที่ครีบต่อกับลำตัว
  • ปลากัดสองสีชนิดลำตัวสีอ่อน เป็นปลากัดที่มีลำตัวสีอ่อนสีใดสีหนึ่ง และมีครีบอีกสีหนึ่งที่ต่างจากสีลำตัว อาจเป็นสีอ่อน หรือสีเข้มก็ได้ ลักษณะที่ดีของปลากัดสองสีชนิดลำตัวสีอ่อนที่สำคัญคือ สีลำตัวและสีครีบ ต้องตัดกันอย่างชัดเจน ครีบสีเข้มจะดีกว่าครีบสีอ่อน สีลำตัว และสีครีบ แยกกันตรงบริเวณส่วนต่อ ระหว่างครีบและลำตัว
            ค. ปลากัดสีลวดลาย

            เป็นปลากัดที่ไม่ได้จัดอยู่ในประเภทสีเดียวและประเภทสองสี ประกอบด้วยกลุ่มย่อยๆ ดังนี้

            ปลากัดลายผีเสื้อ เป็นปลากัดที่มีสีเป็นลวดลายรูปแบบเฉพาะที่บริเวณครีบ โดยครีบจะมีสีเป็นแถบๆ ขนานกับเส้นวงรอบลำตัว การพิจารณาลักษณะที่ดีของปลากัดลายผีเสื้อจะพิจารณาที่การตัดกันของแถบสี และความคมของขอบสีเป็นหลัก ไม่ใช่ดูที่สีของลำตัวและครีบเหมือนปลากัดชนิดอื่นทั่วๆ ไป ปลากัดที่มีสีของครีบ ซึ่งแถบสีด้านในเป็นสีเหลืองและแถบด้านนอกเป็นสีเหลืองอ่อนจึงไม่จัดอยู่ในประเภทลายผีเสื้อ แนวของแถบสีบนครีบควรลากเป็นรูปไข่รอบตัวปลา ปลากัดลายผีเสื้อแบ่งออกเป็น ๒ ชนิดย่อย คือ

                        (๑) ลายผีเสื้อสองแถบสี ครีบประกอบด้วยแถบสีที่ตัดกันชัดเจน ๒ แถบ ลักษณะที่ดีคือ แถบสีทั้งสอง ควรจะมีความกว้างเท่ากันอย่างละครึ่งของความกว้างของครีบ

                        (๒) ลายผีเสื้อหลายแถบสี หมายถึงปลากัดลายผีเสื้อที่สีของครีบมีตั้งแต่ ๓ แถบสีขึ้นไป ลักษณะที่ดีคือ ความกว้างของแถบสีแต่ละแถบควรเท่ากับความกว้างของครีบหารด้วยจำนวนแถบสี สีลำตัว และสีครีบแถบแรก ที่อยู่ชิดลำตัว อาจเป็นสีเดียว สองสี ลายหินอ่อน หรือหลากสีก็ได้

            ปลากัดลายหินอ่อน เป็นปลากัดในชุดของปลาที่มีสีเป็นลวดลายรูปแบบเฉพาะเช่นเดียวกัน โดยครีบจะไม่มีแถบสี และบนลำตัวมีสีอื่นแต้มเป็นลวดลายหินอ่อน ปลากัดลายหินอ่อนแบ่งออกเป็น ๒ ชนิดย่อยคือ

                        (๑) ลายหินอ่อนธรรมดา ปลากัดชนิดนี้ไม่มีสีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน และสีเทาปรากฏในลายหินอ่อน บนครีบก็ไม่ปรากฏสีเหล่านี้เช่นกัน ลำตัวปลามีสีดำเข้ม หัวหรือหน้าขาว ลวดลายประกอบด้วยสีดำ สีเนื้อ และสีขาวเท่านั้น

                        (๒) ลายหินอ่อนสี สีบริเวณหน้าและคางยังคงลักษณะเป็นสีขาว หรือสีเนื้อ แต่ลำตัวและครีบอาจปรากฏสีผสม ของสีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน และสีเทา ลวดลายที่ลำตัวของปลากัดลายหินอ่อนสีอาจประกอบด้วยสีเหล่านี้ แต่จะต้องมีสีเนื้ออยู่ด้วย ลวดลายสีที่ตัดกันอย่างคมชัดเป็นลักษณะที่ดี ส่วนลวดลายที่มีเฉพาะสีแดง และสีเขียว ถือว่าไม่ดีพอ

            ปลากัดหลากสี เป็นกลุ่มปลากัดที่มีสีตั้งแต่ ๒ สีขึ้นไปที่ไม่จัดอยู่ในประเภทลวดลายที่มีรูปแบบเฉพาะ ลักษณะที่ดีของปลากัดหลากสี คือ แต่ละสีต้องมีการตัดกันที่ชัดเจน โดยสีต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นสีปกติ ที่พบในปลากัดทั่วไป อย่างไรก็ตาม ปลากัดที่มีสีแตกต่างเพียงแค่บริเวณหัวหรือปลายครีบท้องไม่จัดอยู่ในกลุ่มนี้