เล่มที่ 30
ปลากัด
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

การพัฒนาสายพันธุ์ปลากัด


พันธุศาสตร์ของสีและลักษณะของปลากัด

            พันธุศาสตร์ที่เกี่ยวกับสีของปลากัดนั้นค่อนข้างจะซับซ้อน เนื่องจากมียีนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมากมาย สีของปลากัด ประกอบด้วยชั้นสีหลัก ๔ ชั้นสี คือ สีเหลือง สีดำ สีแดง และสีวาว ในชั้นสีหลักแต่ละสี มียีนจำนวนหนึ่ง ที่ควบคุมปริมาณเม็ดสี ว่าจะมีมาก หรือน้อยเพียงใด และจะกระจายอยู่ในบริเวณส่วนใด สีของปลากัดที่ปรากฏให้เห็น เป็นผลรวมของสีที่แสดงออกในชั้นสีทั้ง ๔ ชั้นนี้ จากข้อมูลในปัจจุบัน พบว่า มียีน ๓ ชนิด ที่มีอิทธิพลต่อสีดำ ซึ่งทำให้เกิดสีดำได้ ๘ รูปแบบ ส่วนสีแดง ก็มียีน ๓ ชนิด ที่มีอิทธิพลต่อสีแดง ซึ่งสามารถให้สีแดงได้ถึง ๑๒ รูปแบบ และในสีวาวก็พบยีน ๓ ชนิด ซึ่งทำให้มีสีวาวได้ ๑๒ รูปแบบ หากผสมลักษณะเหล่านี้เข้าด้วยกัน จะสามารถสร้างลักษณะสีของปลากัดได้ถึง ๑,๑๑๕ รูปแบบ นอกจากนี้ ถ้านำยีนที่ควบคุมลักษณะสีขุ่น ลายหินอ่อน และลักษณะครีบรวมเข้าไปด้วย จะทำให้สามารถได้ปลากัดที่มีลักษณะแตกต่างกันถึง ๒๖,๐๐๐ รูปแบบ ทั้งนี้พิจารณาจากยีน ที่มีการค้นพบแล้วเท่านั้น ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้ว ยังมียีนอีกจำนวนมาก ที่อาจมีการค้นพบเพิ่มเติม ในระยะเวลาต่อไปได้อีก

๑) ชั้นสีเหลือง

            จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการค้นพบยีนที่ควบคุมสีเหลืองของปลากัด ซึ่งหมายความว่า ปลากัดสีเหลือง เป็นปลากัดที่มียีน ที่ทำให้ไม่มีสีดำ สีแดง และสีน้ำเงินในชั้นสีวาว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีปลากัดสีขาวจำนวนมากที่ผสมออกมา โดยไม่มีสีเหลืองเลย ดังนั้น จึงอาจเป็นไปได้ที่จะมียีนควบคุมสีเหลือง ซึ่งจะเป็นโดยตรง หรือโดยอ้อมก็ตาม หรือมิฉะนั้น ก็อาจจะเกี่ยวข้องกับยีน ที่ควบคุมความขุ่นของสีก็ได้

๒) ชั้นสีดำ

            มียีน ๓ ชนิดที่มีผลต่อชั้นสีดำ ประกอบด้วย
  • ยีนสีเขมร หรือ สีเผือก เป็นยีนด้อยทั้งคู่ เมื่อปลามียีนประเภทนี้ ก็จะทำให้ไม่ปรากฏเม็ดสีของสีดำ ทำให้สีของปลา ออกมาในลักษณะคล้ายปลาเผือก แต่ไม่ใช่ปลาเผือกจริงๆ ตามความหมายที่เข้าใจกัน โดยปกติ ปลากัดเขมรจะมีลำตัวสีเนื้อ และครีบสีแดง แต่ในปัจจุบัน มีปลากัดเขมร ที่มีครีบสีอื่นๆ เช่น สีน้ำเงิน สีเขียว และสีขาว
  • ยีนสีบลอนด์ หรือ สีสว่าง เป็นยีนด้อยทั้งคู่ เป็นยีนที่ไปจำกัดเม็ดสีดำ อิทธิพลของยีนคู่นี้จะเห็นได้ชัดเจนที่สุด ในปลากัดสีแดง โดยทำให้เกิดสีแดงสด และถ้ามียีนเด่นจะทำให้มีชั้นสีดำอยู่ข้างใน ทำให้เห็นสีเข้ม เป็นสีเลือดนก ยีนคู่นี้ อาจมีผลร่วมกับยีนสีวาว ทำให้สีอ่อนมากลงไปอีก
  • ยีนสีดำ เป็นยีนที่ควบคุมเม็ดสีสีดำ เป็นยีนด้อยทั้งคู่ ทำให้มีเม็ดสีสีดำมาก การผสมพันธุ์ปลาที่มียีนประเภทนี้ จะต้องระมัดระวังมาก เพราะยีนคู่นี้ มีผลทำให้ไข่ของปลาไม่สามารถพัฒนาได้
๓) ชั้นสีแดง

            ยีนที่ควบคุมการกระจายและความเข้มของสีแดงเป็นยีนเด่นทั้งคู่ ทำให้เกิดสีแดงหลายเฉดสี ปลากัดที่มียีนด้อยคู่ จะมีบริเวณการกระจายของสีแดงน้อยกว่าปลากัดที่มียีนเด่นคู่ ยังไม่มีการตรวจพบยีน ที่ทำให้บริเวณที่มีสีแดงลดลง จากระดับปกติในปลากัด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสีแดงในปลากัดมีการกระจายแตกต่างกันมาก บางตัวจะเหลือสีแดงเพียงบริเวณเล็กน้อย ซึ่งยากที่จะอธิบายได้ หากไม่มียีน ที่ควบคุมการลดบริเวณของสีแดง และยีนที่เพิ่มบริเวณของสีแดง ยีนที่ควบคุมการกระจายของสีบนครีบจะทำให้เกิดลักษณะที่เรียกว่า ผีเสื้อ อย่างไรก็ตาม บางคนคิดว่า ในส่วนนี้อาจเป็นผลจากยีนหลายยีนที่แสดงออกร่วมกัน เนื่องจากการกระจายของสีแดงที่ครีบสามารถเป็นไปได้หลายรูปแบบ และในความเข้มของสี ที่แตกต่างกัน

๔) ชั้นสีวาว

            ยีนสีน้ำเงินแกมเขียวสามารถทำให้เกิดสีได้ ๓ สี กล่าวคือ หากเป็นยีนเด่นทั้งคู่ จะทำให้เกิดสีเขียววาว ขณะที่ยีนเด่นหนึ่งและยีนด้อยหนึ่ง จะทำให้เกิดสีน้ำเงินวาว หากเป็นยีนด้อยทั้งคู่จะทำให้เกิดสีน้ำเงินวาวแบบสตีลบลู (steel blue) ในขณะเดียวกัน ถ้ามีชั้นของสีดำอยู่ข้างใต้จะทำให้สีออกมาเข้มกว่า และทึบกว่าที่ไม่มีชั้นของสีดำอยู่ สีวาว เกิดจากผลึกในเซลล์สะท้อนแสง ทำให้เกิดสีน้ำเงินวาว หรือสีเขียววาว ยีนที่ควบคุมการกระจายของสีวาวหากเป็นยีนเด่นทั้งคู่ จะเพิ่มความวาวของสีปลากัด แต่ถ้าเป็นยีนด้อยทั้งคู่ ความวาวของสีจะลดลงไปมาก และจากข้อมูลที่พบอาจเป็นไปได้ว่า ยีนที่ควบคุมการกระจายของสีวาว ที่เป็นยีนเด่นหนึ่ง และยีนด้อยหนึ่งจะให้ความวาว ในช่วงปานกลาง หรืออาจเป็นไปได้ว่า มียีนมากกว่า ๑ คู่ ที่เกี่ยวข้องกับความวาวของสี

            ปัจจุบันยังไม่มีการค้นพบว่า มียีนตัวใดบ้างที่ทำให้สีน้ำเงินไม่ปรากฏอยู่เลยในปลากัดบางตัว แต่จากการผสมพันธุ์พบว่า มีหลายครั้ง ที่ได้ปลากัด ที่ไม่แสดงลักษณะของสีน้ำเงินออกมาเลย จึงยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่มาก อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ปลากัด มียีนด้อยคู่ของสีบลอนด์ ร่วมกับยีนด้อยคู่ ที่ควบคุมการกระจายของสีวาว ชั้นของสีน้ำเงินจะมีค่อนข้างจำกัด ทำให้เกิดสีประกายเงินเล็กน้อย จนไม่อาจสังเกตได้ว่า เป็นสีน้ำเงิน ยีนด้อยคู่เขมรหรือยีนเผือก และยีนด้อยคู่สีบลอนด์ ซึ่งให้สีเหลือง และสีขาว ก็มีผลในการจำกัดสีน้ำเงินด้วย อย่างไรก็ตาม บางคนยังคิดว่า อาจจะมียีนที่ยังไม่ถูกค้นพบ ที่ควบคุมไม่ให้มีสีน้ำเงินอยู่

๕) ยีนที่ควบคุมลักษณะอย่างอื่นๆ

  • ยีนสีขุ่น เป็นยีนด้อยคู่ทำให้เกิดสีน้ำนม ซึ่งบางคนเรียกสีขาว ปลาที่มียีนชนิดนี้ อาจมีปัญหาเกี่ยวกับตา เนื่องจากเมื่อปลาอายุมากขึ้น บริเวณที่ขุ่นนี้ อาจแพร่เข้าไปถึงส่วนของตา ทำให้ตาบอด
  • ลายหินอ่อน ยังไม่มีการค้นพบยีนที่ควบคุมรูปแบบสีลายนี้ แต่จากการที่สามารถผสมพันธุ์ปลากัด ให้ได้สีลายนี้ในรูปแบบต่างๆ ซ้ำๆ กันได้ จึงอาจเป็นไปได้ที่จะมียีนควบคุมลักษณะสีลายนี้อยู่
  • หางคู่ ลักษณะหางคู่จะถูกควบคุมโดยยีนซึ่งเป็นยีนด้อยคู่ ทำให้ปลากัดมี ๒ หาง และมีครีบหลังยาว รวมทั้งอาจมียีนอื่นที่มีผลต่อลักษณะของครีบหางด้วย เนื่องจาก ลักษณะการแยกกันของครีบหาง จะไม่เท่ากัน ทั้งในส่วนของครีบที่แยกออก และความลึก ของส่วนที่แยกออกจากกัน
  • การแผ่ของหาง ในระยะไม่กี่ปีมานี้ มีปลากัดที่ผสมพันธุ์ออกมา มีลักษณะหางแผ่กว้างมากขึ้น และครีบทั้งหลายต่อเนื่องกันอย่างสมบูรณ์ แต่ยังไม่มีการพบยีนที่ควบคุมลักษณะนี้ ซึ่งน่าจะเป็นยีนด้อยคู่
การผสมพันธุ์ปลากัดหางคู่

            ลักษณะหางคู่เป็นลักษณะด้อย ส่วนลักษณะหางเดียวเป็นลักษณะเด่น ทำให้ปลากัด ที่มียีนทั้งสองลักษณะอยู่ด้วยกันมีลักษณะเป็นหางเดียว ซึ่งหากผสมระหว่างปลาหางคู่ด้วยกัน จะได้ลูกปลา เป็นปลาหางคู่ทั้งหมด แต่ถ้าผสมระหว่างปลาหางคู่และปลาหางเดียวที่มียีนหางคู่แฝงอยู่ ลูกปลาจะเป็นปลาหางคู่ครึ่งหนึ่ง และเป็นปลาหางเดียวที่มียีนหางคู่แฝงอีกครึ่งหนึ่ง

            ถ้าลูกปลาที่ได้เป็นปลาหางคู่ ๑ ใน ๔ และเป็นปลาหางเดียว ๓ ใน ๔ แสดงว่า เป็นการผสมระหว่างพ่อแม่พันธุ์ที่เป็นปลาหางเดียวที่มียีนหางคู่แฝงอยู่ทั้งคู่ ซึ่ง ๒ ใน ๓ ของลูกปลาหางเดียว จะเป็นปลาหางเดียวที่มียีนหางคู่แฝงอยู่ และถ้าผสมระหว่างปลาหางเดียวแท้ และปลาหางเดียวที่มียีนหางคู่แฝงอยู่ จะไม่ได้ปลาหางคู่เลย ลูกปลาจะเป็นปลาหางเดียวทั้งหมด โดยเป็นปลาหางเดียวแท้ครึ่งหนึ่ง และเป็นปลาหางเดียวที่ยีนหางคู่แฝงอยู่อีกครึ่งหนึ่ง

การผสมพันธุ์ปลากัดโทนสีน้ำเงิน - เขียว

            เมื่อผสมปลากัดสีเขียวแท้กับสีสตีลบลู จะได้สีน้ำเงินทั้งหมด แต่หากผสมปลากัดสีน้ำเงินทั้งคู่ จะได้ปลากัดสีเขียว ๑ ใน ๔ ปลากัดสีน้ำเงินครึ่งหนึ่ง และปลากัดสีเทา อีก ๑ ใน  ๔

การพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดสีดำ

            สีดำล้วนของปลากัดควบคุมโดยยีนด้อยคู่ ซึ่งส่งผลให้ไข่ปลาไม่สามารถฟักออกเป็นตัว การจะได้ปลากัดสีดำจึงไม่อาจผสมจากพ่อแม่ที่เป็นสีดำแท้ได้ เพราะไข่จะไม่ฟักออกเป็นตัว ดังนั้นลูกปลาสีดำจึงได้มาด้วยการผสม ๒ แนวทาง คือ ผสมแม่ปลาที่มียีนสีดำแฝงอยู่กับตัวผู้สีดำแท้ จะได้ปลาสีดำครึ่งหนึ่ง และปลาที่ไม่ใช่สีดำแต่มียีนสีดำอยู่อีกครึ่งหนึ่ง หรือผสมปลาที่ไม่ใช่ปลาสีดำ แต่มียีนสีดำแฝงอยู่ทั้งคู่ จะได้ปลาสีดำ ๑ ใน ๔ ปลาสีอื่นที่มียีนสีดำแฝงครึ่งหนึ่ง และปลาสีอื่นที่ไม่มียีนสีดำอีก ๑ ใน ๔ การผสมปลาสีอื่นที่ไม่มียีนสีดำแฝงกับปลาที่มียีนสีดำแฝง จะไม่ได้ปลาสีดำเลย แต่จะได้ปลาสีอื่นที่มียีนสีดำแฝงอยู่ครึ่งหนึ่ง ของจำนวนที่ผสมได้

การผสมพันธุ์ปลากัดสีแดง

            ปลากัดตามธรรมชาติที่มีลักษณะปกติของสีแดง จะปรากฏสีแดงเฉพาะบริเวณใกล้เหงือก และกระจายอยู่เล็กน้อยบริเวณครีบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริเวณโคนครีบหาง ส่วนปลากัดที่มีสีแดงทั้งตัวครอบคลุมถึงทุกส่วนของครีบ จะต้องมียีนด้อยคู่ของยีนที่ควบคุมการกระจายของสีแดง และต้องมียีนเด่น คู่ที่ควบคุมปริมาณสีแดง ยีนด้อยคู่ของยีนที่ควบคุมปริมาณสีแดงจะลดสีแดงลงจนแทบมองไม่เห็น ความเข้ม และโทนสีของสีแดงของปลากัดจะถูกควบคุมด้วยยีน ที่ควบคุมความสว่างของสี หรือบางครั้งเรียกว่า ยีนสีบลอนด์ ซึ่งจะควบคุมปริมาณสีดำที่ผสมอยู่ในสีแดง ทำให้เกิดโทนสีตั้งแต่สีแดงสดถึงสีน้ำตาลแดง ยีนด้อยของยีนคู่นี้จะทำให้สีแดงที่ได้เป็นสีแดงสด


ปลากัดสีแดง