ศัพท์และสำนวนไทยที่เกี่ยวกับปลากัด
ปลากัดมีอิทธิพลต่อสังคมไทยในสมัยก่อนมาก ผู้ที่ชอบการกัดปลา เรียกว่า "นักเลงปลา" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านศัพท์และสำนวนที่ใช้กัน เช่น "กระโดง" หมายถึง ครีบหลัง "ตะเกียบ" หรือ "ทวน" หมายถึง ครีบท้อง "ชายน้ำ" หมายถึง ปลายครีบก้น "เขม่า" หมายถึง ลักษณะปนเปื้อนของสีที่คล้ายรอยประอยู่ภายนอก "ไล่น้ำ" หมายถึง การเอาปลาปล่อยลงในน้ำวนให้ปลาออกกำลังว่ายทวนน้ำ มักทำในอ่างปากกว้าง แล้วเอามือกวนให้น้ำวนก่อนปล่อยปลาลงไป "ปลาป่า" หรือ "ปลาลูกทุ่ง" หมายถึง ปลากัดที่อยู่ในแหล่งธรรมชาติ ในท้องนา หนอง คลอง บึง "ลูกสังกะสี" หมายถึง ลูกผสมระหว่างปลาลูกหม้อกับปลาป่า "ลูกแท้" หมายถึง ลูกปลากัด ที่เกิดจากการผสมระหว่างพ่อแม่ที่เกิดในครอกเดียวกัน และ "ลูกสับ" หมายถึง ลูกปลากัด ที่เกิดจากการผสมระหว่างพ่อแม่ที่เกิดต่างครอกกัน
ภาษาและคำศัพท์ต่างๆ ที่ใช้กันในหมู่นักเลงปลาอีกหลายคำ ได้กลายเป็นคำที่นำมาใช้ในสังคมไทยอย่างแพร่หลาย เช่นคำว่า ลูกหม้อ ซึ่งหมายถึง ผู้ที่มีกำเนิดผูกพันอย่างแท้จริง มาจาก "ปลาลูกหม้อ" ที่คัดสายพันธุ์ เลือกสรรลักษณะมาอย่างต่อเนื่อง ลูกไล่ ซึ่งหมายถึง คนที่ไม่สู้คน ถูกข่มอยู่ตลอดเวลา มาจาก "ปลาลูกไล่" ซึ่งเป็นปลากัดที่ไม่ยอมสู้ปลาตัวอื่น และถูกนำมาใช้ในการซ้อมปลา ที่จะลงแข่งขัน ให้ไล่ออกกำลัง ก่อหวอด หมายถึง การคิดกระทำมิดีมิร้าย นำมาจากอาการเตรียมการของปลากัดตัวผู้ที่วางแผนจะผสมพันธุ์ปลาตัวเมีย โดยเตรียมก่อหวอด สร้างรังไว้ก่อน ถอดสี ซึ่งหมายถึง อาการตกใจ ไม่สู้ ยอมแพ้ มาจากอาการที่สีเข้มของปลากัด จะจางลง เมื่อไม่สู้หรือยอมแพ้ และ ติดบิด ซึ่งนำมาใช้ในภาษามวยที่นักมวยต่อยแล้วกอดกันแน่น ก็มาจากอาการการต่อสู้ของปลากัด ที่เมื่อตัวหนึ่งพุ่งเข้ามากัดอย่างแรง และอีกตัวหนึ่งประสานปากเข้ากัดรับ คาบติดกันแน่น บิดกัดติดกันอยู่ช่วงหนึ่งก่อนจะปล่อยหลุด คำเหล่านี้ในปัจจุบันได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน จนเป็นคำธรรมดา ซึ่งคนส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่า แท้จริงแล้ว เป็นคำศัพท์ ในวงการนักเลงปลากัด