การเลี้ยงปลากัดของคนไทย
การกัดปลานับเป็นเกมกีฬาที่นิยมกันในหมู่คนไทยมาเป็นเวลานาน อันที่จริงแล้ว ปลาที่ใช้ในเกมกีฬาการกัดปลาของชาวไทยนั้น นอกจากปลากัดแล้ว ยังมีปลาอีก ๒ ชนิดที่นำมากัดแข่งขันกัน คือ ปลา หัวตะกั่ว และ ปลา เข็ม แต่ไม่แพร่หลาย และเป็นที่นิยม เท่าปลากัด ทั้งนี้ เนื่องจากปลากัด นอกจากจะมีลีลาการต่อสู้ที่เร้าใจและอดทนแล้ว ยังเป็นปลาที่สวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเวลาที่พองตัวเพื่อต่อสู้ ในระยะแรกๆ ปลากัดที่แข่งขันเป็นปลาที่จับมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ต่อมา จึงได้เริ่มมีการนำปลากัดมาเลี้ยง เพื่อใช้ในการกัดแข่งขัน และเริ่มมีการผสมพันธุ์ เพาะเลี้ยงปลากัด เพื่อให้ได้ปลาที่อดทน กัดเก่ง สีสวยงาม ซึ่งได้เป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง หลังจากนั้นก็มีการผสมพันธุ์ปลากัดให้เป็นปลาสวยงาม และเป็นปลาสวยงามชนิดแรกที่คนไทยนิยมเลี้ยง การเพาะเลี้ยงปลากัดจึงแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มหนึ่ง เป็นการเพาะเลี้ยงปลากัดเพื่อเอาไว้กัดแข่งขันเป็นการกีฬา หรือการพนัน และอีกกลุ่มหนึ่งเป็นการเพาะเลี้ยงปลากัด เพื่อเป็นปลาสวยงาม
นักเพาะพันธุ์ปลากัดได้พัฒนาสายพันธุ์ปลากัดลูกหม้อให้มีสีสันสวยงาม จนกลายเป็นสินค้าส่งออก
นักเพาะพันธุ์ปลากัดได้พัฒนาสายพันธุ์ปลากัดลูกหม้อให้มีสีสันสวยงาม จนกลายเป็นสินค้าส่งออก
ในการเพาะเลี้ยงปลากัดเพื่อเอาไว้กัดแข่งขัน จะเป็นการพัฒนาสายพันธุ์ของปลากัดครีบสั้น หรือ ปลา ลูกหม้อ เป็นหลัก เพื่อให้ได้ปลาที่กัดเก่ง อดทน และมีขนาดใหญ่ ในระยะหลังๆ ได้มีการนำปลากัดพื้นเมืองในภาคใต้มาผสมบ้าง เพื่อสร้างลูกผสมที่กัดเก่ง และมีการใช้กลวิธีการหมักปลาด้วยสมุนไพร ใบไม้ ว่าน ดินจอมปลวก และอื่นๆ เพื่อช่วยเคลือบเกล็ดปลา ซึ่งเชื่อกันว่า จะทำให้เกล็ดแข็งกัดเข้าได้ยาก ควบคู่ไปกับการคัดเลือกพันธุ์
ส่วนการเพาะเลี้ยงปลากัดเพื่อเป็นปลาสวยงาม นอกจากจะพัฒนาให้ได้สีที่สวยงาม และรูปแบบใหม่ๆ แล้ว ก็ได้มีการพัฒนาสร้างสายพันธุ์ปลากัดครีบยาว ที่เรียกกันทั่วไปว่า ปลากัดจีน ซึ่งมีครีบยาวใหญ่สวยงาม ในระยะหลังนี้ ได้มีการพัฒนารูปทรงของครีบแบบต่างๆ และมีการพัฒนาปลากัดครีบสั้นให้เป็นปลาสวยงาม โดยพัฒนาสีสันให้สวยขึ้น และพัฒนาปลาลูกหม้อให้มีสีใหม่ๆ จนในที่สุด ก็มีการผสมระหว่างปลากัดครีบสั้นกับปลากัดครีบยาว เพื่อสร้างลักษณะที่สวยงาม
เมื่อก่อนนั้น นักเพาะพันธุ์ปลากัดในประเทศไทย สนใจเฉพาะการพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดลูกหม้อ ให้กัดเก่ง เพื่อการกัดแข่งขันเป็นหลัก ปลากัดครีบยาว หรือปลากัดจีน จึงขาดการปรับปรุงพันธุ์โดยสิ้นเชิง โดยผู้เพาะพันธุ์มุ่งจะผลิตให้ได้จำนวนมากๆ เพื่อส่งขาย โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ จนในช่วงหนึ่ง ปลากัดครีบยาวจากประเทศไทย ถูกจัดอยู่ในระดับคุณภาพค่อนข้างต่ำ ในพ.ศ. ๒๕๓๘ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้เริ่มดำเนินการ เพื่อพัฒนา ฟื้นฟูสายพันธุ์ปลากัดในเมืองไทยโดยได้เริ่มจัดสัมมนา ให้ความรู้ เกี่ยวกับการปรับปรุงสายพันธุ์และมาตรฐานปลากัดในระดับสากล และได้จัดประกวดปลากัดขึ้นครั้งแรกในงานวันเกษตรแห่งชาติ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้นมาก็มีการจัดประกวดต่อเนื่องกันมาทุกปี โดยชมรมและองค์กรต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ส่งผลให้เกิดการพัฒนาสายพันธุ์ ทั้งปลากัดลูกหม้อและปลากัดจีน เพื่อเป็นปลาสวยงามกันอย่างเต็มที่ ทำให้ได้ปลากัดลูกหม้อที่มีสีสันสวยงาม ทั้งสีเดียว สีผสม และลวดลายต่างๆ จนในปัจจุบันรูปแบบสีสันของปลากัดลูกหม้อได้พัฒนาไปอย่างมากมาย ในทุกโทนสี และกลายเป็นปลาสวยงามอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย ประชาชนจำนวนมากหันมาประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงปลากัด ทั้งปลากัดสำหรับกัดแข่งขัน และปลากัดสวยงาม จนทำให้ปลากัดมีความสวยงาม กลายเป็นสินค้าส่งออกอย่างหนึ่ง ของประเทศไทย ปัจจุบันแหล่งเพาะเลี้ยงปลากัด ที่สำคัญของประเทศไทย อยู่ที่จังหวัดนครปฐม กรุงเทพฯ ราชบุรี เพชรบุรี และนครศรีธรรมราช