เล่มที่ 29
การดูแลสุขภาพ ที่บ้าน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
โรคเรื้อรังที่พบบ่อยที่ต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง

            หมายถึง โรคที่มีอาการเป็นมานานแล้ว แม้ได้รับการรักษาแล้วแต่ก็ยังไม่หายขาด จำเป็นต้องรับการรักษาหรือรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังนี้ จำเป็นต้องมาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ และสามารถดูแลสุขภาพตนเองเมื่ออยู่ที่บ้าน ตามที่ได้รับคำแนะนำการปฏิบัติตนจากแพทย์

โรคเรื้อรังที่พบบ่อยที่ต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคข้อกระดูก และกล้ามเนื้อ ในที่นี้จะนำมาอธิบายเฉพาะโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง

๑. โรคเบาหวาน

            เป็นกลุ่มอาการของโรคที่ร่างกายไม่ สามารถใช้น้ำตาลตามปกติ ทำให้ร่างกายมีน้ำตาลในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น ซึ่งน้ำตาลจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจะไม่หายขาด

 สาเหตุ
         
              การเป็นโรคเบาหวานยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน แต่อาจมีสาเหตุมาจาก

    • กรรมพันธุ์ มักพบโรคนี้ในผู้ที่มีบิดามารดา ญาติพี่น้อง เป็นเบาหวาน
    • เชื้อโรคหรือยาบางชนิดไปทำลายเซลล์ของตับอ่อน ทำให้ตับอ่อนไม่สามารถหลั่งฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอ
    • ความอ้วน ความเครียด การไม่ออกกำลังกาย การตั้งครรภ์บ่อย

อาการ

    • ปัสสาวะบ่อยและปัสสาวะมาก มัก มีมดขึ้นไต่ตอมปัสสาวะ
    • หิวบ่อย กินจุ แต่ผอม
    • กระหายน้ำบ่อยและดื่มน้ำมาก
    • น้ำหนักลดและอ่อนเพลีย
    • เป็นแผลหรือฝีง่าย แต่หายยาก
    • คันตามผิวหนังและบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์
    • ชาตามมือ ปวดตามกล้ามเนื้อหมดความรู้สึกทางเพศ
    • ตาพร่า มัว ต้องเปลี่ยนแว่นตาบ่อยๆ
    • แม่ที่เป็นเบาหวานอาจคลอดบุตรมีน้ำหนักเกิน ๔,๐๐๐ กรัม
 
การดูแลรักษา

            โรคเบาหวานเป็นโรคที่ไม่หายขาด แต่ผู้ป่วยสามารถดูแลสุขภาพให้ระดับน้ำตาลในเลือดปกติโดย

    • ควบคุมอาหาร โดยรับประทาน อาหารที่ไม่มีรสหวาน เลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย รับประทานอาหารให้รู้สึกพออิ่ม ไม่รับประทานมากเกินไป รับประทานผลไม้รสเปรี้ยวแทนขนมหวาน หลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานจัด และควรดื่มน้ำเปล่าแทนการดื่มน้ำอัดลม น้ำหวาน
    • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่าง น้อยสัปดาห์ละ ๓ ครั้ง ครั้งละ ๓๐ นาที - ๑ ชั่วโมง และควรออกกำลังกายให้เหมาะสม  เช่น การเดินในผู้สูงอายุ หรือบริหารร่างกาย ในท่าที่ไม่ใช้กำลังมาก
    • รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอและเคร่งครัด
    • ดูแลรักษาตนเอง ไม่ปล่อยให้อ้วน หรือมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น หมั่นตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดและปัสสาวะ รับประทานยา หรือฉีดอินซูลินตามแพทย์สั่ง งดสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และของหมักดอง ดูแลรักษาความสะอาดร่างกายและเท้าอยู่เสมอ ไม่สวมรองเท้าที่คับเกินไป และระวังไม่ให้มีแผลที่เท้า ทำจิตใจให้สบาย ควรมีน้ำตาลก้อนหรือลูกอมติดตัวไว้เสมอ เพื่อกินป้องกันการหมดสติ จากน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป และระวังไม่ให้เกิดบาดแผลตามร่างกาย
 
๒. โรคความดันโลหิตสูง

            เป็นภาวะที่ร่างกายมีความดันโลหิตสูง เกิน ๑๔๐/๙๐ มิลลิเมตรปรอท มีปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับโรคความดันโลหิตสูง ได้แก่

    • กรรมพันธุ์ มักพบว่า บิดา มารดา หรือญาติ มีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตสูง
    • การรับประทานอาหารเค็ม
    • ความอ้วน
    • ภาวะเครียด
    • การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา
    • อายุที่มากขึ้น

การดูแลสุขภาพสำหรับผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง

    • ควบคุมน้ำหนักของร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยผู้ชายควรมีน้ำหนักเป็นกิโลกรัม เท่ากับค่าความสูงเป็นเซนติเมตร ลบด้วย ๑๐๐ และสำหรับผู้หญิงควรมีน้ำหนักเป็นกิโลกรัม เท่ากับค่าความสูงเป็นเซนติเมตร ลบด้วย ๑๑๐ เช่น ถ้าสูง ๑๖๕ เซนติเมตร ควรหนักประมาณ ๕๕ กิโลกรัม
    • ลดอาหารที่มีรสเค็ม อาหารกระป๋อง  อาหารหมักดอง
    • ลดอาหารประเภทไขมันและอาหาร ที่ให้พลังงานสูง เลือกใช้น้ำมันพืชแทนน้ำมันสัตว์ ไม่ควรใช้น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว เพราะให้พลังงานสูง
    • ดื่มน้ำในปริมาณปกติ
    • งดสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ของมึนเมา
    • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๓ ครั้งๆละ ๓๐ นาที - ๑ ชั่วโมง เช่น การเดินเร็ว การวิ่งเหยาะๆ ไม่ควรออกกำลังกายประเภทแข่งขันที่จะทำให้เกิดความเครียด


ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด อาหารกระป๋อง และอาหารหมักดอง