เล่มที่ 29
การดูแลสุขภาพ ที่บ้าน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
โรคที่พบบ่อยในการเจ็บป่วยที่บ้าน

            หมายถึง การมีอาการของโรคทั่วไป ที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยบ่อย ขณะที่เราดำรงชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจเป็นโรคตามฤดูกาล หรือโรคที่มีอาการเกิดขึ้น เมื่อเรามีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม เช่น รับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้เกิดอาการท้องเดิน ซึ่งอาการหรือโรคนั้น อาจมีเพียงเล็กน้อยที่เราสามารถดูแล หรือรักษาได้ด้วยตนเอง จนถึงอาการหรือโรคที่มีความรุนแรงต้องไปพบแพทย์

๑. โรคอุจจาระร่วง

            อุจจาระร่วง คือ การถ่ายอุจจาระเหลวกว่าปกติตั้งแต่ ๓ ครั้งขึ้นไป ภายใน ๑ วัน หรือถ่ายเป็นมูก อย่างน้อย ๑ ครั้ง อันตรายของโรคอุจจาระร่วงคือ การขาดน้ำ และเกลือแร่ และทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร ซึ่งทำให้เด็กเสียชีวิตได้

            การรักษาโรคอุจจาระร่วงที่บ้าน

            ให้ของเหลวมากขึ้นกว่าปกติ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ โดยใช้ของเหลวที่ทำได้ในบ้าน เช่น น้ำข้าว หรือผงน้ำตาลเกลือแร่ (โออาร์เอส)

            การป้องกันโรคอุจจาระร่วง
  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ก้อน หลังการรับประทานอาหาร และหลังออกจากห้องส้วม
  • แม่ที่ให้นมลูก ควรล้างมือให้สะอาด ทำความสะอาดหัวนมก่อนให้นมลูกด้วยน้ำและสบู่ และทำความสะอาดอุปกรณ์ในการนมและอาหารเด็กด้วยการต้ม หรือนึ่งทุกครั้ง
  • เลือกซื้ออาหารที่ไม่มีแมลงวันตอม
  • เก็บอาหารไว้ในตู้ที่มีฝาปิดมิดชิด และอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง
  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ และดื่มน้ำสะอาด
  • ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ
  • กำจัดขยะมูลฝอย โดยเผาหรือฝัง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน
  • ครอบครัวที่มีเด็กอายุต่ำกว่า ๕ ปี ควรมีผงน้ำตาลเกลือแร่ไว้ประจำบ้าน


น้ำข้าว


แพทย์ใช้ปรอดวัดไข้เด็กที่ป่วยเป็นไข้หวัด

๒. ไข้หวัด

            เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุด ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ ทำให้ต้องเสียสุขภาพ เสียแรงงาน และเงินทองไปปีละมากๆ

            อาการไข้หวัด

            ในเด็ก มักจับไข้ขึ้นมาทันที บางครั้งอาจมีไข้สูงและชัก ถ้าเป็นอยู่นานเกิน ๔ วัน อาจมีน้ำมูกขึ้นเหลือง หรือเขียว หรือไอมีเสมหะ และอาจมีอาการแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ไซนัสอักเสบ ปอดบวม ต่อมทอนซิลอักเสบ

            ในผู้ใหญ่ อาจไม่มีไข้ มีเพียงอาการคัดจมูก น้ำมูกใส หรือเจ็บคอเล็กน้อย ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย

            การดูแลรักษาเด็ก
  • ควรใช้ผ้าชุบน้ำธรรมดาเช็ดตัวเวลามีไข้สูง เช็ดจากปลายแขน/ขา เข้าหาหัวใจ เพื่อให้ไข้ลด
  • ถ้ามีน้ำมูกมาก ต้องเช็ดออกก่อนดูดนม เพื่อช่วยให้เด็กหายใจสะดวกขึ้น
  • อาการสำคัญที่ต้องพาเด็กไปพบแพทย์/เจ้าหน้าที่สาธารณสุข คือ ไอ หายใจหอบ หรือหายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม หรือหายใจมีเสียงดัง เด็กซึมมาก ไม่กินน้ำและนม หรือมีอาการชัก
            การดูแลรักษาผู้ใหญ่
  • พักผ่อนให้มากๆ ใส่เสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น ควรกินอาหารอ่อน ดื่มน้ำอุ่นมากๆ จะช่วยทดแทนน้ำที่เสียไปจากไข้สูง (กรณีมีไข้ ให้วัดปรอททางรักแร้)
  • ถ้ามีอาการไอ ให้ดื่มน้ำอุ่นมากๆ ห้ามดื่มน้ำเย็น อาการไอจะค่อยๆ หายไปเอง
  • อย่าซื้อยาชุดแก้ไข้หวัดมากินเอง อาจมีอันตรายได้
            การป้องกัน
  • อย่าคลุกคลีกับผู้ป่วยเป็นไข้หวัด เวลาไอ หรือจาม ให้ใช้ผ้าปิดปากหรือจมูก
  • ระวังรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ
  • อย่าตรากตรำทำงานหนักจนเกินไป ควรออกกำลังกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ


การเติมเกลือไอโอดีนในน้ำดื่ม เพื่อป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน


การเลี้ยงปลาในภาชนะที่ปลูกพืชน้ำ เป็นการกำจัดลูกน้ำยุงลาย


๓. โรคขาดสารไอโอดีน

            หมายถึง ภาวะร่างกายที่ได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย จะมีผลให้ต่อมไทรอยด์ซึ่งมีหน้าที่สร้างไทรอยด์ฮอร์โมนมีขนาดโตขึ้น เรียกว่า คอพอก เด็กทารกที่เกิดจากแม่ขาดสารไอโอดีน จะก่อให้เกิดความพิการทางสมอง ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เรียกว่า “เอ๋อ” เด็กจะมีสติปัญญาต่ำ ระบบประสาทกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ และบางคนจะมีรูปร่างเตี้ย แคระแกร็น เด็กวัยเรียนมีสติปัญญาต่ำกว่าเด็กทั่วไป เฉื่อยชา การเรียนรู้ช้า วัยผู้ใหญ่ มีอาการเกียจคร้าน เชื่องช้า ง่วงซึม ผิวหนังแห้ง เสียงแหบ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ท้องผูก

            สำหรับการป้องกันและรักษาโรคขาดสารไอโอดีน ทำได้ดังนี้
  • การใช้เกลือเสริมไอโอดีนปรุงอาหาร ทุกมื้อ
  • ดื่มน้ำเสริมไอโอดีน โดยการหยดน้ำไอโอดีนเข้มข้นจำนวน ๒ หยดในน้ำ ๑๐ ลิตร ใช้ดื่มประจำวัน ดื่มหมดแล้วผสมใหม่ 
  • ยาเม็ดไอโอดีน สามารถให้สารไอโอดีนแก่ร่างกายได้เพียงพอเป็นเวลาติดต่อ กันไม่น้อยกว่า ๖ เดือน ต่อการกิน ๑ เม็ด ใช้กับหญิงวัยเจริญพันธุ์และหญิงมีครรภ์
๔. ไข้เลือดออก

            เป็นโรคที่ติดต่อจากยุงลายเป็นพาหะนำโรค มักระบาดในฤดูฝน

            อาการของไข้เลือดออก
  • เป็นไข้ ตัวร้อน มีอาการคล้ายไข้หวัด ไข้จะสูงอยู่ ๒ - ๓ วัน
  • ต่อมาไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว ระยะนี้จะมีเลือดออกตามส่วนต่างๆ เช่น มีเลือดออกตามไรฟัน มีเลือดกำเดา มีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง 
  • ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จะมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร ทำให้เสียชีวิตได้ 
  • เมื่อสงสัยว่า เป็นไข้เลือดออก ควรปฏิบัติดังนี้
  • เมื่อมีไข้สูง ควรเช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดา เพื่อป้องกันอาการชัก 
  • ไม่ควรใช้ยาแอสไพรินลดไข้ 
  • ควรรีบไปรับการรักษาที่สถานพยาบาล ใกล้บ้านทันที ไม่ควรรักษาเองโดยเด็ดขาด 
            การป้องกัน
  • กำจัดลูกน้ำยุงลาย และดูแลแหล่งเพาะพันธุ์ยุงอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ ละ ๑ ครั้ง โดย
  • ใส่ทรายทรีมีฟอสทุก ๓ เดือน โดยใช้ทรายทรีมีฟอส ๑ ช้อนชา ต่อน้ำ ๘ ปีบ และใส่ทรายทรีมีฟอสใหม่ทุกครั้งที่ล้างภาชนะ ทรายทรีมีฟอสเป็นทรายที่เคลือบน้ำยา การ ใส่ทรายทรีมีฟอสควรใส่โดยไม่ต้องห่อผ้า เพราะน้ำยาที่เคลือบทรายจะไปติดอยู่ที่ผ้า ไม่ไปเคลือบขอบภาชนะหรือข้างโอ่ง เพื่อทำลาย ไข่ยุงเมื่อยุงวางไข่
  • เลี้ยงปลาหางนกยูง 
  • คว่ำแหล่งภาชนะที่มีน้ำขัง 
  • ให้ความร่วมมือกับอาสาสมัครสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในการ ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง