ระบบการส่งต่อผู้ป่วยจากบ้านไปสถานบริการ
เมื่อมีผู้เจ็บป่วยที่บ้าน ซึ่งได้ดูแลสุขภาพตนเอง หรือดูแลโดยชุมชนแล้ว แต่อาการเจ็บป่วยยังไม่ทุเลา หรือมีอาการป่วยมากกว่าเดิม ผู้ป่วยนั้นสามารถไปรับการรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ซึ่งอาจเป็นสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านที่สุดก่อน โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำสถานบริการที่ใกล้บ้านนั้นจะให้การดูแลรักษาตามความเหมาะสม และหากสถานบริการที่ใกล้บ้านให้บริการดูแลรักษาแล้ว แต่อาการยังไม่ดีขึ้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็จะพิจารณาส่งตัวผู้ป่วยนั้นไปรับการ
รักษาที่สถานบริการที่มีขอบขีดความสามารถในการรักษาสูงขึ้นตามลำดับ เช่น จากสถานีอนามัยส่งต่อไปยังโรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลอำเภอ จากโรงพยาบาลชุมชนก็ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลจังหวัด จากโรงพยาบาลทั่วไป ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลศูนย์
ระบบบริการสุขภาพของสถานบริการ สุขภาพ ประกอบด้วยสถานบริการต่างๆ ดังนี้
ผู้เจ็บป่วยเข้ารับการรักษาที่ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน เป็นการให้บริการดูแลสุขภาพเบื้องต้นแก่ประชาชน
๑. ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน (ศสมช.)
เป็นสถานที่ทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่จะมาให้บริการดูแลสุขภาพเบื้องต้นแก่ประชาชนในหมู่บ้าน เช่น ให้บริการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต และจำหน่ายยาสามัญประจำบ้าน นอกจากนี้ ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชนยังเป็นสถานที่นัดหมายประชาชนในหมู่บ้าน เพื่อทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เป็นสถานที่นัดหมายสำหรับชั่งน้ำหนักเด็กทารก และเด็กก่อนวัยเรียน เป็นสถานที่นัดหมายให้ผู้ปกครองนำเด็กมารับวัคซีนโปลิโอ นอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่นัดพบ หรือเป็นศูนย์ประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกับอาสาสมัครสาธารณสุข และ เป็นสถานที่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ต่างๆด้านสุขภาพอนามัย
ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชนนั้น มีประจำในหมู่บ้านทุกแห่ง โดยมีอาสาสมัคร สาธารณสุขประจำหมู่บ้านให้บริการด้านสุขภาพอนามัย การดำเนินงานในศูนย์ฯ อาจมีกำหนดเวลาในการเปิดให้บริการซึ่งส่วนใหญ่จะเปิดให้บริการอย่างน้อยวันละ ๑ ชั่วโมง โดยอาจเปิดในเวลาเช้าหรือเวลาเย็น เพื่อให้ผู้เจ็บป่วยในหมู่บ้านมารับบริการได้สะดวก และเหมาะสมกับวิถีชีวิตประจำวันของประชาชน หากประชาชนที่เจ็บป่วยได้ดูแลตนเอง และได้รับการดูแลรักษาเบื้องต้นจากอาสาสมัครสาธารณสุขที่ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชนแล้ว แต่อาการยังไม่ทุเลา ก็สามารถไปรับการรักษาต่อที่สถานบริการใกล้บ้านที่สุด
ผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่สถานีอนามัย ซึ่งเป็นสถานที่บริการที่มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่แห่งละ ๓ - ๕ คน
๒. สถานบริการสาธารณสุขชุมชน
เป็นสถานบริการอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้ชิดชุมชน ซึ่งสถานบริการสาธารณสุขชุมชนนี้มักตั้งอยู่ในชุมชนที่ห่างไกล การคมนาคมไม่สะดวก มีความทุรกันดาร และอยู่ห่างไกลจากสถานีอนามัย หรือโรงพยาบาล โดยให้บริการดูแลรักษาผู้เจ็บป่วยในชุมชนนั้นเหมือนเป็นสถานีอนามัยแห่งหนึ่ง และมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำอยู่ เพื่อรับผิดชอบให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทุกหมู่บ้านของสถานบริการสาธารณสุขชุมชน ทั้งนี้เมื่อเจ้าหน้าที่ของสถานบริการสาธารณสุขชุมชนให้บริการแก่ผู้เจ็บป่วยจนเกินขีดความสามารถ ก็จะส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานีอนามัยที่ใกล้ที่สุดต่อไป
โรงพยาบาลชุมชน ให้บริการดูแลรักษาประชาชนทั่วทั้งอำเภอ และมีบุคลากรด้านสาธารณสุขหลายด้าน
๓. สถานีอนามัย
เป็นสถานบริการที่ให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยครอบคลุมพื้นที่หลายชุมชน หรือหมู่บ้าน โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำอยู่ ได้แก่ พยาบาลวิชาชีพ พยาบาลเทคนิค เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน ทันตาภิบาล ซึ่งสถานีอนามัยแต่ละแห่งอาจมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่แห่งละ ๓ - ๕ คน สำหรับให้การดูแลรักษาแก่ประชาชนให้ครอบคลุมในพื้นที่ชุมชนที่รับผิดชอบ แต่หากการดูแลรักษาเกินขีดความสามารถ เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยจะประสานงานไปยังโรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลอำเภอที่อยู่ใกล้ที่สุด เพื่อส่งต่อผู้ป่วยไปรักษา
๔. โรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลอำเภอ
เป็นสถานที่ให้บริการดูแลรักษาประชาชนผู้เจ็บป่วยครอบคลุมทั่วทั้งอำเภอ นั้นๆ ซึ่งโรงพยาบาลชุมชนแต่ละแห่ง จะมีบุคลากรด้านสาธารณสุขหลากหลายด้าน ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ พยาบาลเทคนิค เจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ นักวิชาการส่งเสริมสุขภาพ นักวิชาการสุขาภิบาล โรงพยาบาลแต่ละแห่ง ประกอบด้วย หน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานให้บริการ และสนับสนุนด้านการบริการ โดยทุก หน่วยงานก็จะมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไปตามสายวิชาชีพ แต่ก็จะมีการติดต่อประสานงานกันทุกหน่วยงาน เพื่อให้การบริการดูแลรักษาผู้เจ็บป่วยมีประสิทธิภาพสูงสุดหน่วยงานต่างๆ ในโรงพยาบาลชุมชน ได้แก่ งานด้านการรักษาพยาบาล งานเภสัชกรรม งานด้านการส่งเสริมสุขภาพ งานสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อม งานชันสูตร งานบริหาร งานทันตสุขภาพ หากมีผู้ป่วยที่เกินขีดความสามารถการรักษาของแพทย์โรงพยาบาล ชุมชน จะมีการส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลที่มีขีดความสามารถสูงขึ้น เช่น โรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลจังหวัด
๕. โรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลจังหวัด
เป็นสถานที่ให้บริการผู้เจ็บป่วยครอบคลุมประชาชนทั่วทั้งจังหวัดนั้นๆ โดยมีบุคลากรด้านสาธารณสุขมากมายเช่นเดียวกับโรงพยาบาลชุมชน แต่โรงพยาบาลจังหวัด มีแพทย์เฉพาะทางที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเฉพาะโรค และมีอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นสำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง แต่หากมีผู้เจ็บป่วยที่เกินขีดความสามารถของแพทย์ในโรงพยาบาลจังหวัด จึงจะส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลที่มีขอบขีดความสามารถสูงกว่าต่อไป
๖. โรงพยาบาลเอกชน
หมายถึง โรงพยาบาลที่ให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยโดยมีเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งในโรงพยาบาลเอกชนมีบุคลากรที่ให้บริการสุขภาพเหมือนกับโรงพยาบาลของรัฐ แต่ผู้ป่วยไม่สามารถใช้สิทธิบัตรในการรักษาพยาบาลได้ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้แก่โรงพยาบาลเอกชนที่ไปรับบริการแห่งนั้นเอง
นอกจากสถานบริการที่กล่าวมาแล้ว ประชาชนอาจไปรับการรักษาที่คลินิกของแพทย์ หรือซื้อยาจากร้านจำหน่ายยาที่มีเภสัชกรประจำอยู่