มวลอากาศและแนวปะทะ
คำว่ามวลอากาศหมายถึง บริเวณอากาศกว้างๆ (อาจกว้างหรือยาวเป็น ๑,๐๐๐ กม. หรือมากกว่า) ซึ่งมีคุณสมบัติทางฟิสิกส์คล้ายคลึงกัน คุณสมบัติทางฟิสิกส์นี้คือ อุณหภูมิ ความชื้น ความแน่น และแหล่งเกิดของอากาศ ซึ่งส่วนมากนั้นเป็นบริเวณที่มีความกดอากาศสูง (high pressure)
มวลอากาศมีแหล่งกำเนิดต่างๆ กัน คุณสมบัติของมวลอากาศมักเป็นไปตามคุณสมบัติของแหล่งกำเนิดด้วย มวลอากาศแต่ละแหล่งกำเนิดนั้นอาจจะมีคุณสมบัติต่างๆ ใน ต่างฤดูได้ เช่น ฤดูร้อน หรือฤดูหนาว มวลอากาศย่อมเคลื่อนตัวไปตามการหมุนเวียนของอากาศ เมื่อมวลอากาศเคลื่อนตัวจากแหล่งกำเนิดผ่านไปยังบริเวณอื่น ซึ่งมีอุณหภูมิ และความชื้นต่างกัน คุณสมบัติของ มวลอากาศก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามบริเวณที่ผ่านไป มวลอากาศอาจจะได้รับความร้อนมากขึ้นหรือน้อยลง หรืออาจจะได้รับความชื้นเพิ่มขึ้น หรือเสียความชื้นไปโดยตกลงมาเป็นฝนได้ แหล่งกำเนิดของมวลอากาศ คือบริเวณที่อากาศกว้างๆ ซึ่งอาจปกคลุมด้วยหิมะ และน้ำแข็งแถบขั้วโลก หรืออาจะเป็นบริเวณมหาสมุทรในเขตร้อนหรือบริเวณทะเลทราย เป็นต้น ดังนั้นแหล่งเกิดของ มวลอากาศจึงแบ่งออกเป็นเขตๆ ได้ดังต่อไปนี้
๑. มวลอากาศเขตร้อน (tropical air mass) คือ มวลอากาศที่มีอุณหภูมิสูง และถ้าเป็นมวลอากาศที่มาจากบริเวณแผ่นดินจะมีอุณหภูมิสูงกว่า และความชื้นน้อยกว่ามวลอากาศที่มาจากพื้นน้ำ
๒. มวลอากาศบริเวณเส้นศูนย์สูตร (equatorial air mass) คือ มวลอากาศที่อยู่ บริเวณเส้นศูนย์สูตร มีความชื้น และอุณหภูมิสูง
๓. มวลอากาศทะเล (maritime air mass) คือ มวลอากาศที่ปกคลุมตามพื้นทะเล และมหาสมุทรเป็นเวลานาน และมีความชื้นสูงเสมอ
๔. มวลอากาศทวีป (continental air mass) คือ มวลอากาศที่มีแหล่งกำเนิดจากทวีป และมีความชื้นน้อย เช่น จากผืนแผ่นดินใหญ่จีน หรือแถบไซบีเรีย
๕. มวลอากาศขั้วโลก (polar air mass) คือ มวลอากาศที่มีแหล่งกำเนิดจากขั้วโลก มวลอากาศนี้มีอุณหภูมิต่ำ หนาวเย็น และมีความชื้นน้อย
การเปลี่ยนแปรของมวลอากาศ
ขณะที่มวลอากาศลูกหนึ่งเคลื่อนตัวจากแหล่งกำเนิดไปยังบริเวณอื่นนั้น อาจจะได้ รับการเปลี่ยนแปรได้หลายประการ เช่น
- ได้รับความร้อนจากบริเวณใกล้พื้นดิน จะทำให้มวลอากาศที่เคลื่อนผ่านบริเวณพื้นที่ที่ร้อนนั้น มีเสถียรภาพหรือการทรงตัว ของอากาศน้อยลง
- ได้รับความเย็นจากบริเวณใกล้พื้นดิน จะทำให้มวลอากาศที่เคลื่อนผ่านบริเวณ พื้นที่ซึ่งเย็นลง โดยเฉพาะในฤดูหนาวนั้น มีเสถียรภาพของอากาศเพิ่มขึ้น
- ได้รับไอน้ำจากบริเวณใกล้พื้นดิน จะทำให้มวลอากาศที่เคลื่อนผ่านพื้นทะเลและมหาสมุทรมีเสถียรภาพน้อยลง เพราะได้รับไอน้ำมากขึ้น
- การสูญเสียไอน้ำโดยการที่ไอน้ำในมวลอากาศกลั่นตัวลงมาเป็นฝน ซึ่งจะทำให้เสถียรภาพของมวลอากาศเพิ่มขึ้น จากการสูญเสียไอน้ำนี้
- การลอยตัวขึ้นเมื่อเคลื่อนที่ผ่านยอดเขา จะทำให้มวลอากาศมีเสถียรภาพน้อยลง และเมื่อผ่านแล้ว จะมีการจมลงของมวลอากาศ จะทำให้เสถียรภาพของมวลอากาศเพิ่มขึ้น
การที่มวลอากาศเปลี่ยนแปรไปนี้ จะมีผลทำให้บริเวณที่มวลอากาศนั้นผ่านไปได้รับการเปลี่ยนแปรของอากาศด้วย