ความสำคัญของมันสำปะหลังต่อประเทศไทย
ประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม สินค้าออกของประเทศที่สำคัญจึงเป็นสินค้าทางด้านกสิกรรม สินค้าออกที่สำคัญของเราในอดีต ก่อนปี พ.ศ.๒๕๐๐ มีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น คือ ข้าว ยางพารา ดีบุก และไม้สัก แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมากสิกร ได้ขยายพื้นที่ปลูกพืชไร่อื่นๆ เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวโพด ปอแก้ว มันสำปะหลัง และอ้อย ทำให้พืชทั้ง ๔ ชนิดดังกล่าว เป็นสินค้าออก ที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้นตามลำดับ สำหรับมันสำปะหลังนั้นประเทศไทยเริ่มส่งผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นสินค้าออก ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา ในอดีตปริมาณ และมูลค่าการส่งออกไม่มากนัก แต่ก็เพิ่มมากขึ้นทุกปี ในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นสินค้าออกที่สำคัญของประเทศอันดับ ๔-๖ เรื่อยมา จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ปริมาณ และมูลค่าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ส่งเป็นสินค้าออกได้เพิ่มขึ้น จนกลายเป็นสินค้าออกสำคัญอันดับ ๒ ของประเทศ รองจากข้าว
ตารางที่ ๑ แสดงปริมาณและมูลค่าสินค้าออกที่สำคัญของประเทศไทยปี พ.ศ. ๒๕๒๐สินค้าออก | ปริมาณ x ๑,๐๐๐ ตัน | มูลค่า ล้านบาท | คิดเป็น เปอร์เซ็นต์ |
ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาล ข้าวโพด ยางพารา ดีบุก สับปะรดกระป๋อง | ๑,๙๘๔ ๓,๗๑๘.๙ ๑,๑๒๐.๒ ๒,๓๘๙ ๓๖๕.๔ ๒๐.๖ ๖๓.๗ | ๘,๖๐๙ ๗,๕๒๐ ๖,๘๓๗ ๕,๖๑๗ ๕,๑๓๗ ๓,๐๔๘ ๖๒๔ | ๑๔.๒ ๑๒.๒ ๑๑.๑ ๙.๑ ๘.๔ ๔.๙ ๑.๐ |
จากการสำรวจของกองเศรษฐกิจการเกษตร ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ มีครอบครัวกสิกรจำนวน ๑๖๕,๒๔๗ ครัวเรือนที่ปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว ครอบครัวที่ปลูกมันสำปะหลังมีสมาชิกครอบครัวจำนวน ๖.๔ คนต่อครัวเรือน จะเห็นได้ว่า มีกสิกรกว่า ๑ ล้านคนที่ปลูกมันสำปะหลังเป็นอาชีพ ซึ่งยังไม่รวมถึงคนที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง ซึ่งมีอยู่ในประเทศนับพันโรงงาน รวมทั้งพวกพ่อค้าคนกลาง และผู้ทำการขนส่งที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก ที่มีอาชีพเกี่ยวโยงกับมันสำปะหลัง