ลักษณะพฤกษศาสตร์ของมันสำปะหลัง
มันสำปะหลังมีชื่อเรียกทั่วไปในภาษาอังกฤษว่า แคสซาวา (Cassava) หรือทาพิโอกา (Tapioca) ประเทศแถบทวีปอเมริกาใต้ใช้ภาษาสเปนเรียกว่า ยูกา (Yuca) ภาษาโปรตุเกสในประเทศบราซิลเรียกว่า แมนดิโอกา (Mandioca) แถบประเทศในทวีปแอฟริกาที่พูดภาษาฝรั่งเศส เรียกว่า แมนิออก (Manioc) และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า แมนนิฮอท เอสคูเล็นตา แครนทซ์ (Manihot esculenta Crantz)
ลักษณะของต้นมันสำปะหลัง
การจัดลำดับทางพฤกษศาสตร์ของมันสำปะหลัง มีดังนี้
- วงศ์ (Family) Euphorbiaceae (ซึ่งรวมถึงยางพารา และละหุ่ง)
- สกุล (Genus) Manihot
- ชนิด (Species) esculenta
ลำต้นมีลักษณะคล้ายข้อ เพราะจากก้านใบซึ่งแก่ร่วงหล่นไป สีของลำต้นบริเวณใกล้ยอด จะมีสีเขียว ส่วนที่ต่ำลงมาจะมีสีแตกต่างกันไปตามลักษณะพันธุ์ เช่น สีเงิน สีเหลือง สีน้ำตาล ใบมีก้านใบยาวติดกับลำต้น แผ่นใบเว้าเป็นแฉกมี ๓-๙ แฉก มันสำปะหลังมีดอกตัวผู้ และดอกตัวเมีย อยู่ในช่อดอกเดียวกัน แต่อยู่แยกคนละดอก ดอกตัวผู้มีขนาดเล็ก อยู่บริเวณส่วนปลายของช่อดอก ส่วนดอกตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่า อยู่บริเวณส่วนโคนของช่อดอก ดอกตัวเมียจะบานก่อนดอกตัวผู้ประมาณ ๑ อาทิตย์ การผสมเกสรจึงเป็นการผสมข้ามระหว่างต้น
หลังจากปลูกแล้วประมาณ ๒ เดือนรากจะเริ่มสะสมแป้ง และมีขนาดใหญ่ขึ้นตามอายุเรียกว่า หัว จำนวนหัว รูปร่าง ขนาด และน้ำหนัก แตกต่างกันไปตามพันธุ์ พันธุ์พื้นเมืองที่ใช้ปลูกในประเทศไทย เมื่ออายุประมาณ ๑ ปี ยาวประมาณ ๒๗.๗- ๔๓.๓ เซนติเมตร และกว้างประมาณ ๔.๖-๗.๘ เซนติเมตร ใต้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ดี และมันสำปะหลังมีอายุมากกว่า ๑ ปี บางพันธุ์อาจให้หัวหนักหลายสิบกิโลกรัม
ใบมันสำปะหลัง
ส่วนต่างๆ ของมันสำปะหลังมีกรดไฮโดรไซยานิก (HCN) ซึ่งเป็นสารที่เป็นพิษต่อมนุษย์และสัตว์ประกอบอยู่ด้วย ใบและเปลือกมีสารนี้มากกว่าเนื้อสด และพันธุ์ต่างๆ ก็มีปริมาณสารนี้แตกต่างกันออกไป ดังแสดงในตารางที่ ๔
ตารางที่ ๔ แสดงปริมาณกรดไฮโดรไซยานิกในส่วนต่างๆ ของมันสำปะหลังพันธุ์พื้นเมืองและพันธุ์ห้านาที
ดังนั้นเวลาจะใช้เป็นอาหาร ควรใช้พันธุ์ห้านาทีเพราะมีกรดไฮโดรไซยานิกต่ำกว่า และก่อนจะบริโภค ควรจะนำมันสำปะหลังมาปอกเปลือก หมัก เคี่ยว ย่าง ปิ้ง ต้ม ปริมาณกรดไฮโดรไซยานิกจะลดลง จนถึงปริมาณ ซึ่งร่างกายมนุษย์สามารถเปลี่ยนกรดไฮโดรไซยานิกนี้ เป็นสารอื่นที่ไม่เป็นอันตรายได้ หัวมันสำปะหลังสดส่วนใหญ่ประกอบด้วยน้ำ ๖๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์ แป้ง ๒๐-๔๐ เปอร์เซ็นต์ และมีโปรตีนไม่ถึง ๒ เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นหัวมันสำปะหลังจึงเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรต ให้พลังงานต่อร่างกายมนุษย์ และสัตว์ที่ดี