ไฝ ปาน และเนื้องอกที่ผิวหนัง ไฝและปาน เป็นผิวหนังที่มีสีคล้ำกว่าปกติเกิดจากการจับกลุ่มของเซลล์ผลิตเม็ดสีเมลาโนไซต์ และตามธรรมดามักจะนูนสูงขึ้นมาจากผิวหนัง โดยมีความสัมพันธ์อยู่สองประการด้วยกันคือ ทางกรรมพันธุ์ และความสัมพันธ์กับมะเร็งของผิวหนังชนิดที่เรียกว่า มาลิกแนนต์เมลาโนมา (malignant melanoma) ไฝมีลักษณะได้หลายอย่างด้วยกัน ทั้งในรูปร่างลักษณะและสีสัน คือ ๑. แบบราบ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ปานดำ ๒. นูนสูงเล็กน้อย ๓. มีขอบเป็นสีซีดขาวล้อมรอบ ๔.ขรุขระ ๕.เป็นติ่ง ๖.สัณฐานเป็นรูปโดม ๗.มีขั้วหรือก้าน และ ๘.ผิวเป็นเหมือนเส้นหนานุ่มเล็กๆ ยื่นออกมา สีของไฝก็อาจมีเพียงคล้ายหรือคล้ำกว่าผิวหนังธรรมดาเล็กน้อย เป็นสีน้ำตาลอ่อนเข้ม จนกระทั่งเป็นสีดำทีเดียว และอาจมีเส้นขนยาวๆ งอกออกจากไฝ หรือขึ้นรอบเม็ดไฟด้วย โดยมากไฝจะเริ่มเกิดขึ้น เมื่ออายุได้ ๒-๖ ปี และเมื่อถึงวัยหนุ่มส่วนก็จะมีมากขึ้น จะเกิดขึ้นที่ตำแน่งใดของผิวหนังก็ได้ แม้แต่กระทั่งที่อวัยวะเพศ | |
ปานดำชนิดมีขน | ปานดำที่ใหญ่มากๆ และมีขน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถวคอและหนังศีรษะ อาจมีอาการทางประสาทร่วมด้วย เช่น ลมบ้าหมู เป็นต้น และอาจเป็นมะเร็งชนิดมาลิกเนนต์เมลาโนมาได้บ่อย ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ |
ขี้แมลงวัน เป็นจุดเล็กๆ สีน้ำตาลหรือดำที่ผิวหนัง รูปกลมหรือรีๆ และแบนราบไม่นูนสูงขึ้นมาอาจเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้แม้แต่ที่เยื่อมูก และไม่มีความสัมพันธ์กับแสงแดด หรือมะเร็งของผิวหนังแต่อย่างใด ในผู้ที่อายุเลยวัยกลางคนไปแล้ว มักจะเกิดเป็นจุดๆ แบนๆ สีน้ำตาลเข้มบนผิวหนังที่มักจะถูกแดด โดยเฉพาะหลังมือ แขน ไหล่ หน้า และคอ และอาจมีขนาดใหญ่ๆ ได้ถึงหลายๆ เซนติเมตร แต่จะไม่จางหายไปมากนัก เมื่อถูกปกปิดจากแสงแดด ลักษณะของขี้แมลงวันในผู้ใหญ่เช่นนี้ อาจกลายเป็นมะเร็งชนิดมาลิกแนนต์เมลาโนมาได้เช่นเดียว กับปานดำขนาดยักษ์ที่มีขน ปานแดง จัดอยู่ในพวกเนื้องอกที่ไม่ร้ายแรงของผิวหนัง เกิดขึ้นเนื่องมาจาก หรือประกอบด้วยหลอดเลือด หรือกลุ่มกระเปาะของหลอดเลือด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหลอดเลือดฝอย และมีอยู่สามชนิดด้วยกัน คือ ปานแดงชนิดหลอดเลือดฝอยในเด็ก ซึ่งเป็นความผิดปกติ ของหลอดเลือดที่เกิดขึ้นตั้งแต่แรกคลอด หรือหลังคลอดเล็กน้อย มีลักษณะเป็นก้อนนูนสีแดงสด หรือแดงคล้ำจนเป็นสีม่วง อาจเป็นเพียงก้อนเดียว หรือหลายๆ ก้อน และที่ผิวหนังแห่งใดก็ได้ แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือแถวศีรษะ |
ปานแดงอาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่ได้ต่างๆ กัน ผิวหนังเรียบหรือขรุขระ พวกที่เป็นอยู่ตื้นๆ มักมีสีแดงจัด และพวกที่อยู่ลึกลงไปจะมีสีแดงเข้ม หรืออย่างธรรมดาจะกดบุ๋ม แต่สีมักไม่ซีดหมด | ปานแดงที่ใบหน้า |
ปานแดงนี้ภายหลังคลอดอาจโตโดยรวดเร็ว หรืออาจแตกเป็นแผล และมีการอักเสบได้ โดยปกติ แล้วจะค่อยๆ ยุบหายไปเอง ภายในสองหรือสามขวบ พวกที่ไม่ค่อยจะยุบหายไปเอง ได้แก่พวกที่มีลักษณะ แบนเรียบซึ่งมักขึ้นที่บริเวณท้ายทอย หรือที่ใบหน้าซีก ใดซีกหนึ่ง ส่วนใหญ่ปานชนิดนี้มักจะไม่ค่อยขยายใหญ่โตออกไปมากนัก แต่มีความสำคัญที่อาจมีโรคอื่นของ อวัยวะภายในร่วมด้วย เช่น อาจเป็นลมบ้าหมู และ ปัญญาอ่อน อีกชนิดหนึ่งของปานแดง ซึ่งเป็นแอ่งของหลอดเลือดลึกลงไปในผิวหนัง และมีผิวเรียบเกลี้ยงเกลาเหมือนปกติ ชนิดนี้มักจะเป็นตั้งแต่คลอดและใหญ่ขึ้นตามตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะใหญ่ขึ้นชัดเจน เมื่อถึงวัยหนุ่มสาว หรือเวลาตั้งครรภ์ ในผู้สูงอายุมักมีปานแดงเป็นเม็ดเล็กๆ สีแดง หรือค่อนข้างม่วงขึ้นมากเม็ดตามลำดับ หรือบางราย อาจโตถึงหลายมิลลิเมตรได้ ตุ่มปานพวกนี้มักกดไม่ยุบง่ายๆ และจะอยู่ติดตัวตลอดไป ปานแดงชนิดใยแมงมุม จะมีลักษณะเป็นจุดสีแดง และมีเป็นสายๆ แผ่กระจายออกไปขนาดเท่าหัวเข็มหมุด หรือใหญ่ถึงประมาณ ๒ เซนติเมตร และเวลาใช้หัวเข็มหมุดกดลงไปตรงกลาง สีจะซีดลงเห็นได้ชัดเจน ปานชนิดนี้มักเป็นที่หน้าคอ ส่วนบนของลำตัว หน้า แขน และมือ ผู้หญิงบางคนเวลาตั้งครรภ์อาจมีปานชนิดนี้ขึ้นมาก และหายไปเองภายหลังคลอด ปานใยแมงมุมนี้จะพบได้บ่อยในผู้ที่เป็นโรคตับ เรื้องรัง แต่ในผู้ที่ไม่ป่วยเป็นอะไรก็อาจมีได้เช่นกัน เนื้องอกที่ผิวหนัง ได้แก่โรคต่างๆ ต่อไปนี้ ๑. เซบอร์เรอิกเคอราโทซิส (seborrheic keratosis) เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในจำพวกเนื้องอก พบบ่อยที่สุดในผู้สูงอายุ โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน และไม่มีความร้ายแรงอย่างใด |
โรคเซบอร์เรอิกเคอราโทซิส | โดยปกติเนื้องอกชนิดนี้จะมีจำนวนค่อนข้างมากแถวส่วนกลางของร่างกาย เช่น ที่อก หลัง ท้อง ใบหน้า และหนังศีรษะ เป็นต้น และมักจะเป็นทั้งสองข้างของร่างกายเหมือนๆ กัน |
ลักษณะของโรคนี้จะเป็นแผ่นแบนๆ มีผิวขรุขระ แต่ค่านข้างละเอียด สีค่อนข้างเหลืองหรือน้ำตาลอ่อน ขนาดมักไม่ใหญ่เกิน ๑ เซนติเมตร เมื่อเป็นอยู่นานๆ ก็ จะหนาขึ้น สีเข้มขึ้น และมีสะเก็ดค่อนข้างเป็นมัน ถ้าโตขึ้นหรือเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็ควรสงสัยว่า อาจเป็นมะเร็งของอวัยวะภายในด้วย ๒. แอกทินิกเคอราโทซิส (actinic keratosis) โรคนี้จัดอยู่พวกเนื้องอกที่กลายเป็นชนิดร้ายแรง หรือมะเร็งได้ง่าย พบมากในผู้สูงอายุที่ต้องกรำแดดอยู่เสมอ เช่น ชาวนา หรือชาวเรือ แต่ผู้ที่ผิวคล้ำ เช่น คนไทย มักจะไม่ค่อยพบมากเท่าในพวกผิวขาว โรคนี้มักจะเกิดเป็นตามผิวหนังที่ถูกแดดอยู่เสมอ เช่น ที่ใบหน้า ริมฝีปาก หลังมือ หน้าแขน คอ และหนังศีรษะที่มีผมน้อย และมักจะเป็นหลายๆ แห่งมากกว่าแห่งเดียว ลักษณะของโรคนี้จะเป็นเม็ดเล็กๆ ค่อนข้างกลม และหยาบ สีแดงหรือน้ำตาล ติดแน่นอยู่กับผิวหนัง และมีสะเก็ดแห้งๆ หนาบ้างบางบ้างติดอยู่ บริเวณ รอบๆ มักจะมีสีแดงอักเสบ ขนาดเล็กๆ ประมาณ ๑-๒ มิลลิเมตร ขนาดใหญ่ราว ๑ เซนติเมตร หรือใหญ่กว่านั้นก็ได้ ถ้าปล่อยทิ้งเอาไว้ โรคนี้จะลามใหญ่ขึ้นช้าๆ และนูนสูงมากขึ้น และในที่สุดกลายเป็นมะเร็งของผิว หนังในประมาณ ๒๐-๒๕ เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วย ๓. ติ่งเนื้อ จัดอยู่ในพวกเนื้องอกชนิดหนึ่งมีลักษณะเป็นติ่งเล็กๆ มีขั้วยื่นยาวออกมาจากผิวหนังสีเนื้อ มีผิวเกลี้ยงเรียบ หรือขรุขระบ้าง มักเป็นบริเวณเปลือกตา คอ และรักแร้ โดยมากไม่มีอาการ และไม่ร้ายแรงอะไร เพียงแต่จะทำให้ไม่น่าดูเท่านั้น |