โรคผิวหนังที่เกิดจากไวรัส นอกจากพวกไข้ติดต่อเชื้อที่ออกผื่นตามผิวหนัง เช่น หัด อีสุกอีใส และฝีดาษแล้ว โรคผิวหนังที่พบได้บ่อยคือ เริม งูสวัด และหูด เริม เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่มที่เรียกว่า เฮอร์พีส (herpes virus) โดยที่เมื่อไวรัสนี้สามารถผ่านผิวหนังเข้าไปได้ และเกิดเป็นโรคแต่ครั้งแรกแล้ว จะไปอาศัยอยู่ที่ปมรากประสาทด้านหลัง (dorsal root ganglia) เมื่อผื่นเดิมหายแล้ว ยังสามารถกำเริบได้อีกเป็นครั้งคราว โดยที่ไวรัสนี้จะออกมาหลังจากที่พักสงบอยู่ | |
ลักษณะผื่นของโรคเริม | ลักษณะของผื่นในเริม ไม่ว่าที่ผิวหนัง หรือเยื่อจมูก เป็นกลุ่มของตุ่มพองเล็กๆ มีน้ำใสๆ ซึ่งจะแตกออก และกลายเป็นแผลตื้นๆ เจ็บ และจะเป็นอยู่ประมาณ ๒-๖ สัปดาห์ ก็จะหายไปเอง ผื่นที่เกิดซ้ำๆ ขึ้นในระยะหลังนั้นจะเล็กกว่า ไม่ค่อยเจ็บ และเป็นอยู่น้อยวันกว่าผื่นที่ขึ้นครั้งแรก |
งูสวัด เกิดจากไวรัสในกลุ่มเฮอร์พีส และเป็นตัวเดียวกันกับที่ทำให้เป็นอีสุกอีใส ความแตกต่างกันอยู่ที่ตัวผู้ป่วยเอง และสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดการติดเชื้อเท่านั้น งูสวัดมักจะเป็นในผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ โดยมีอาการปวด ปวดแสบ ปวดร้อน และเจ็บนำมาก่อนที่ผิวหนัง ตามแนวเดินของประสาทส่วนปลาย และอาจมีไข้ ปวดศีรษะ และอ่อนเพลีย อีกสองสามวัน หรืออีกหลายวันถัดมา จะมีผื่นเกิดขึ้น ไม่ข้ามเส้นผ่านศูนย์กลางของร่างกายไปอีกข้างหนึ่ง และจำกัดอยู่แค่เพียงผิวหนังที่มีเส้นประสาทจากปมประสาทรับสัมผัส (sensory ganglion) แต่เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะบริเวณที่มักจะเป็นอีสุกอีใสมากที่สุด |
ลักษณะของผื่นเป็นตุ่มพองน้ำใส ขึ้นชิดๆ กัน รวมเป็นกลุ่มๆ อยู่บนฐานที่อักเสบแดง และตุ่มพองน้ำนี้ มักจะกลายเป็นหนอง ในอีกสองสามวันต่อมา ต่อไปก็จะแห้งตกสะเก็ดใน ๗-๑๐ วัน ผื่นใหม่ๆ อาจเกิดขึ้นต่อมาอีก ๑-๔ วัน หรือจนถึง ๑ สัปดาห์ และสะเก็ดจะติดอยู่ประมาณ ๒-๓ สัปดาห์ | ลักษณะผื่นของโรคงูสวัด |
ในผู้สูงอายุ ผื่นจะมีอาการรุนแรง และเป็นอยู่นานกว่าในผู้ที่มีอายุน้อย และอาการเจ็บปวดจะคงอยู่นาน ถึงแม้ว่า ผื่นจะหายเรียบร้อยไปแล้วก็ตาม โรคงูสวัดนี้อาจติดต่อไปยังผู้อื่นได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีความโน้มเอียงต่อการติดเชื้ออยู่แล้ว และอาจเกิดขึ้นในรูปของอีสุกอีใส หูด เป็นโรคผิวหนังที่ไม่ร้ายแรง พบได้บ่อยชนิดหนึ่ง และอาจหายได้เอง สาเหตุของหูดเป็นไวรัสชนิดที่เรียกว่า พาพิลโลมรา (papilloma) ในคน ซึ่งปฎิกิริยาในการต้านทางโรคของผู้ป่วยนับเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้เกิดเป็นโรค หรือเป็นแล้ว จะกระจายไปมากน้อยเพียงใด |
หูด | หูดนี้อาจเกิดที่ผิวหนังบริเวณใดก็ได้ แต่มีบางตำแหน่งที่ชอบเป็นหูด เช่น ที่หลังมือ และหัวเข่า และลักษณะจะต่างไปจากที่เกิดขึ้นที่ตำแหน่งอื่น เช่น ที่ฝ่าเท้า จะมีลักษณะต่างไปจากหูดที่ผิวหนังธรรมดา หรือที่บริเวณที่ต่อเนื้อกับเยื่อมูก เช่น แถวทวารหนัก หรืออวัยวะเพศ เป็นต้น |
โดยทั่วไป หูดธรรมดาจะมีรูปลักษณะเป็นเม็ด นูน ผิวหยาบหรือขรุขระ หรือเป็นติ่งเล็กๆ อาจขึ้น มากหรือน้อย เล็กหรือใหญ่ก็ได้ ในบางครั้งอาจพบ ๕๐-๑๐๐ เม็ด ถ้าเป็นที่บริเวณทวารหนักและอวัยวะเพศ จะมี ลักษณะเหมือนดอกกะหล่ำปลี เรียกกันว่า "หูดหงอนไก่" |