ในปัจจุบันมีข้อมูลมากมายมหาศาล ผู้ที่สามารถจัดเก็บ และประมวลผลข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว ก็มักจะได้เปรียบในเชิงธุรกิจ ดังนั้น ระบบฐานข้อมูล (Database System) จึงถูกพัฒนาขึ้น เพื่อจัดเก็บ และประมวลผลข้อมูลปริมาณมหาศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งการทำงานเป็น ๒ ส่วนหลัก ได้แก่ ฐานข้อมูล (Database) และ ระบบจัดการฐานข้อมูล (Database Management System) ฐานข้อมูลก็คือ ข้อมูลต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์ และอยู่ร่วมกัน ส่วนระบบจัดการฐานข้อมูลคือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่ทำหน้าที่ในการดูแล และจัดการฐานข้อมูล โดยมีหน้าที่หลักในการสร้างฐานข้อมูล การ ปรับปรุงข้อมูล และการเรียกค้นข้อมูล
การจัดการฐานข้อมูลเปรียบได้กับการจัดเก็บเอกสารจำนวนมากมายมหาศาลที่วางระเกะระกะให้เป็นระเบียบเพื่อให้สามารถสืบค้นได้ง่าย
การพัฒนาเทปแม่เหล็ก และเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องแรกได้นั้น นับเป็นขั้นพื้นฐานของการพัฒนาระบบฐานข้อมูล นักวิจัยได้นำเสนอแบบจำลองข้อมูลต่างๆ ออกมาเป็น ระยะๆ เพื่อนำไปใช้ในการจัดเก็บ และประมวลผลข้อมูลที่ดี แบบจำลองที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ แบบจำลองข้อมูลเชิงสัมพันธ์ (Relational Data Model) ซึ่งนำเสนอเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ และแบบจำลองข้อมูลเชิงวัตถุ (Object-Oriented Data Model) ซึ่งนำเสนอเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๓๓ ในปัจจุบันนี้มีการนำข้อดีของทั้งสองแบบมารวมกัน และพัฒนาเป็นแบบจำลอง ใหม่เรียกว่า แบบจำลองข้อมูลเชิงวัตถุสัมพันธ์ (Object Relational Data Model) คาดว่า ระบบฐานข้อมูลในอนาคตและพัฒนาโดยใช้แบบจำลองนี้เป็นพื้นฐานโดยส่วนใหญ่
ตัวอย่างระบบฐานข้อมูล เช่น
๑. ระบบฐานข้อมูลของธนาคาร ซึ่งต้องจัดเก็บรายละเอียดที่เกี่ยวกับบัญชีต่างๆ ของลูกค้า แต่ละธนาคาร จะมีจำนวนลูกค้านับเป็นแสนคน หรือล้านคน ตัวอย่างของข้อมูลที่ต้องจัดเก็บ ได้แก่ ชื่อ ที่อยู่ ประเภทบัญชี รายการสินค้าเชื่อ ยอด คงเหลือแต่ละบัญชีของลูกค้า เป็นต้น
๒. ระบบฐานข้อมูลของโรงพยาบาล มีข้อมูลที่ควรจัดเก็บ ได้แก่ ชื่อ ที่อยู่ ประวัติการแพ้ยา ประวัติการป่วย อาการป่วย และยาที่ใช้ในการรักษาของคนไข้แต่ละคน และข้อมูลความเชี่ยวชาญของแพทย์แต่ละท่าน เป็นต้น และ
๓. ระบบฐานข้อมูลของโรงเรียน ซึ่งแต่ละแห่งมีจำนวนนักเรียนหลายร้อย หรือหลายพันคน ข้อมูลต่างๆ ที่โรงเรียนควรจัดเก็บ ได้แก่ ประวัติของนักเรียนแต่ละคน เพราะเมื่อมีเหตุจำเป็นที่ต้องติดต่อกับผู้ปกครอง ก็สามารถค้นหารายละเอียดได้อย่างรวดเร็วในฐานข้อมูล อีกทั้งข้อมูลผลการเรียนในทุกระดับชั้นของนักเรียนในแต่ละคน ก็สามารถจัดเก็บและเรียก ค้นหาได้อย่างสะดวกในฐานข้อมูลเดียวกัน เป็นต้น
การจัดการฐานข้อมูลเปรียบได้กับการจัดเก็บเอกสารจำนวนมากมายมหาศาลที่วางระเกะระกะให้เป็นระเบียบเพื่อให้สามารถสืบค้นได้ง่าย
ระบบฐานข้อมูลในปัจจุบันมีมากมาย ในองค์กรเกือบทุกแห่งมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลขึ้นใช้แล้ว เพราะประสิทธิภาพในการ ทำงานจะเพิ่มสูงขึ้นมาก เมื่อเทียบกับการจัดเก็บแบบไม่ใช้ระบบฐานข้อมูล
ในการพัฒนาและใช้ระบบฐานข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ จะต้องมีบุคลากรที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย เช่น
๑. ผู้จัดการฐานข้อมูล เป็นผู้ดูแลทุกๆ อย่าง ทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับระบบฐานข้อมูลทั้งหมด
๒. นักออกแบบฐานข้อมูล รับผิดชอบ การกำหนดรูปแบบ และโครงสร้างของข้อมูล ซึ่งนับเป็นขั้นตอนที่สำคัญขั้นตอนหนึ่ง เพราะถ้าออกแบบโครงสร้างของข้อมูลไม่ดี อาจส่งผลให้การใช้งานไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ถูกต้องได้
๓. ผู้ออกแบบ และพัฒนาระบบจัดการฐานข้อมูล มักเป็นบริษัทผลิตซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ เพราะระบบนี้เป็นซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ และมีความซับซ้อนมาก
๔. กลุ่มผู้ใช้ ซึ่งต้องการค้นหาข้อมูล ปรับปรุงข้อมูล และจัดทำรายงานต่างๆ เป็นต้น
การติดต่อสื่อสารของระบบฐานข้อมูล ต้องใช้ภาษาเป็นสื่อเช่นเดียวกับการสื่อสารของมนุษย์ ภาษาของฐานข้อมูลมีหลายประเภท แล้วแต่ลักษณะการใช้งาน ภาษาหลักๆ ประกอบด้วย ภาษากำหนดโครงสร้างของฐานข้อมูล หรือดีดีแอล (Data Definition Language: DDL) ใช้ในการกำหนดโครงสร้างของฐานข้อมูล และภาษาจัดดำเนินการข้อมูล หรือดีเอ็มแอล (Data Manipulation Language : DML) ใช้ในการค้นหา และปรับปรุงข้อมูล ภาษาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ ภาษาเอสคิวแอล (SQL : Structured Query Language) เป็นภาษาที่สร้างขึ้น เพื่อใช้กับแบบจำลองข้อมูลเชิงสัมพันธ์ โดยได้รับการพัฒนาใช้ในระบบจัดการฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์เกือบทุกระดับ สามารถทำหน้าที่เป็นทั้งดีดีแอล และดีเอ็มแอล จึงมีความสมบูรณ์ในการใช้งาน นอกจากนี้ การเขียนคำสั่งในภาษาเอสคิวแอล ก็ทำได้ง่ายด้วย