เล่มที่ 25
แนวโน้มของเทคโนโลยีสารสนเทศต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑
เล่นเสียงเล่มที่ 25 แนวโน้มของเทคโนโลยีสารสนเทศต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            การนำเทคโนโลยีมาให้บริการในด้านข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บ สื่อสาร ประมวลผล และนำเสนอข้อมูล มีชื่อเรียกรวมกันว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยี สารสนเทศในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ (ค.ศ. ๑๙๐๐ - ๑๙๙๙) ก้าวหน้าอย่างมาก มีทั้งโทรเลข โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ โทรสาร ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ฯลฯ ในสังคมยุคใหม่ที่เรียกกันว่า ไซเบอร์สเปซ


การส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-mail)

            เป้าหมายในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ มีแนวโน้มว่า คนจะพยายามทำให้คอมพิวเตอร์ติดต่อสื่อสารงานได้เหมือนคนมากขึ้น สร้างสภาพการณ์ต่างๆ เสมือนคนเราได้เห็น ได้สัมผัสในชีวิตจริงมากยิ่งๆ ขึ้นไป ในด้านบวก ต้นศตวรรษที่ ๒๑ คาดว่า จะมีแนวโน้มดัง ต่อไปนี้

  • จะมีการพัฒนาให้คอมพิวเตอร์สามารถฟังภาษาพูด และตอบเป็นภาษาพูดได้ อ่านตัวอักษร หรือลายมือเขียนก็ได้ โดยเฉพาะในภาษาไทย
  • การติดต่อสื่อสารผ่านคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงกันทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วแบบอินเทอร์เน็ต จะสร้างตลาดการค้าระดับโลก ลองนึกดูว่า เราเปิดร้านบนเครือข่ายนี้ แต่มีคนมาเยี่ยมชมได้จากทั่วโลก มาขอซื้อสินค้าของเราได้ทั่วโลก ธุรกิจก็คงจะดี เพียงแต่ต้องมีการจัดวางรูปแบบการจ่ายเงินอย่างรอบคอบ เพราะคงจะไม่สามารถจ่ายเงินสดเหมือนไปซื้อของ ตามตลาดทั่วๆ ไปได้ และต้องมีกฎหมายคุ้มครองการจ่ายเงินผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์นี้ เพื่อไม่ให้มีคนมาหลอกเอาเงินของเราไป หรือหลอกซื้อของแล้วไม่จ่ายเงิน
  • การใช้ห้องสมุด สามารถอ่านหนังสือจากห้องสมุดที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่งได้
  • การอ่านหนังสือพิมพ์ สามารถอ่านผ่านจอคอมพิวเตอร์ได้ 
  • การฟังเสียงวิทยุ สามารถฟังผ่านคอมพิวเตอร์ได้ แม้ว่า สถานีวิทยุจะอยู่คนละมุมโลก ในขณะที่เครื่องรับวิทยุธรรมดา ไม่สามารถรับสัญญาณได้

ในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ มีแนวโน้มว่า คอมพิวเตอร์จะได้รับการพัฒนาให้มีความสามารถ

ในการติดต่อสื่อสารและในการทำงานด้านต่างๆ ได้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

  • การออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในยุคหน้า อาจป้องกันปัญหาการซื้อเสียง หรือลักลอบออกเสียงแทนคนอื่นได้ โดยมีเทคโนโลยีที่ตรวจสอบลายนิ้วมือของผู้ที่มาลงคะแนนเสียง 
  • การเรียนการสอนสามารถก้าวสู่ยุคใหม่ ครูสอนอยู่ที่เดียว แต่นักเรียนจากต่างจังหวัดในทุกภาค สามารถได้ยิน ได้ฟัง และได้เรียน
  • การทำงานในยุคใหม่ ถึงแม้ผู้ร่วมงานจะอยู่คนละประเทศ ก็สามารถประชุมพร้อมกันได้ โดยดูผ่านหน้าจอ ที่แสดงให้เห็นของผู้ร่วมงานในอีกห้องหนึ่ง ในอีกประเทศหนึ่ง
  • การหลงทางในการเดินทางจะมีน้อย เนื่องจากจะมีคอมพิวเตอร์ที่สื่อสารกับดาวเทียม แจ้งที่อยู่ของรถลงบนแผนที่ได้
  • การแสดงผลของคอมพิวเตอร์จะก้าวสู่ยุคที่คอมพิวเตอร์แสดงผลได้เสมือนจริง คือ เป็นสามมิติ ไม่ใช่สองมิติ อย่างที่เรามองดูจากจอคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน และทำให้เรารู้สึกด้วยรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส เสมือนว่า เราอยู่ในสถานที่นั้นจริงๆ
  • การแพทย์จะใช้วิธีจำลองสภาพเสมือนจริงนี้ ช่วยในการรักษาได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในการผ่าตัด เช่น ถ้าหมอจะผ่าเอาเนื้อร้ายในสมองออกมา ก็สามารถมองภาพสามมิติ ที่ระบุว่า ตำแหน่งของเนื้อร้ายนั้นอยู่ ณ จุดใด ในสมองขณะที่ผ่าตัด ทำให้การผ่าตัดมีความปลอดภัยมากขึ้น