พระมหากษัตริย์ไทยบางพระองค์ ที่ประชาชนถวายพระนามว่า "มหาราช" นั้น ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอัน ยังประโยชน์อย่างเยี่ยมยอดแก่ชาติไทย เช่น ได้ทรงกอบกู้อิสรภาพ ทรงปกครองช่วยเหลือประชาชนให้อยู่เย็นเป็นสุข ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ และทรงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยให้วัฒนาถาวร ดังจะขอยกตัวอย่างมหาราชของไทยในกาลเวลาที่ล่วงมาแล้วบางพระองค์ เช่น
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
แห่งราชอาณาจักรสุโขทัย ทรงป้องกันบ้านเมือง และแผ่ราชอาณาจักรกว้างขวางออกไป เป็นที่เกรงขามของประเทศเพื่อนบ้าน ทรงเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศใกล้เคียง สนับสนุนการค้าขายให้ขยายออก ไปจนถึงประเทศห่างไกล เช่น ประเทศจีน สินค้าสำคัญของไทยขณะนั้นคือเครื่องเคลือบ ซึ่งมีชื่อเป็นที่รู้จัก กันว่า "สังคโลก" ในด้านการปกครองภายในก็ทรงดูแลทุกข์สุขราษฎรอย่างใกล้ชิด เปิดโอกาสให้มีการเข้าเฝ้า ร้องทุกข์ ตลอดจนจัดให้มีพระภิกษุแสดงพระธรรมเทศนาอบรมจิตใจประชาชน พระแท่นที่ประทับให้เฝ้าและให้พระภิกษุแสดงธรรม ยังเป็นมรดกตกทอดมาถึงชนชั้นหลัง มีชื่อว่า พระแท่นมนังศิลาบาตร พระราชกิจสำคัญยิ่งคือ ทรงคิดประดิษฐ์ตัวอักษรไทย แล้วโปรดให้จารึกลงบนหลักศิลา เป็นต้นเค้าอักษรไทยสืบต่อมา จนปัจจุบัน
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชขณะทรงพระเยาว์
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
แห่งราชอาณาจักรศรีอยุธยา ได้ทรงกู้ประเทศชาติให้กลับมีอิสรภาพพ้นจากอำนาจพม่า แล้วทรงปราบปราบเขมรซึ่งมักทำศึกแทรกแซงขณะที่ไทยกำลังอยู่ในระหว่างสงคราม มีพระบรมราชานุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่านปรากฏอยู่ ณ อนุสรณ์ดอนเจดีย์ แขวงจังหวัดสุพรรณบุรี อันเป็นสนามรบที่ทรงกระทำยุทธหัตถึกับพระมหาอุปราชา รัชทายาทแห่งประเทศพม่า และประสบชัยชนะอย่างงดงาม
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประดิษฐานอยู่ที่ หน้าศาลากลาง จังหวัดลพบุรี
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
แห่งราชอาณาจักรศรีอยุธยา พระเกียรติยศในพระราโชบายทางคบค้าสมาคมด้วยชาวต่างประเทศเป็นที่เลื่องลือ ทรงรักษาเอกราชของชาติให้พ้นจากการเบียดเบียน จากชาวต่างชาติ ซึ่งขณะนั้นกำลังขยายการค้า ลัทธิศาสนาและอำนาจทางการเมืองอยู่ในดินแดนตะวันออก การเจริญทางพระราชไมตรีระหว่างสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส เป็นที่กล่าวขวัญทั่วไปในประวัติศาสตร์ ผลจากการติดต่อกับชาวต่างประเทศนี้ ได้นำประโยชน์ทั้งทาง วิชาการ และเศรษฐกิจ มาสู่บ้านเมืองของเราเป็นอันมาก นอกจากนี้ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชยังได้ทรงอุปถัมภ์บำรุง กวี และงานด้านวรรณคดี อันเป็นศิลปะชั้นเลิศของชาติ ดังปรากฏนาม "ศรีปราชญ์" ยอดกวีในสมัยของพระองค์ท่าน
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
พระเกียรติคุณอันสมควรได้รับยกย่องให้เป็น "มหาราช" คือ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในครั้งสุดท้ายนี้ พระองค์ทรงกอบกู้เอกราชของไทยกลับคืนมา ทรงตั้งราชธานีใหม่ที่กรุงธนบุรี ทรงรวบรวมชาวไทยที่แตกเป็นหมู่เป็นเหล่าคราวมีภัย ให้เข้ากันเป็นปึกแผ่น ทำนุบำรุงบ้านเมือง ตามที่พอจะทรงกระทำได้ในระยะเวลาอันสั้น และทรงแผ่พระราชอำนาจออกไป จนเป็นที่เกรงขามแก่บ้านเมืองใกล้เคียงนับว่าทรงพระมหากรุณาธิคุณแก่ชาวไทยเป็นอันมาก
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ในศุภมงคลสมัยสมโภช กรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ ๒๐๐ ปี ใน พ.ศ. ๒๕๒๕ นั้น คณะรัฐบาลพร้อมด้วยประชาชนพลเมืองของประเทศไทย ได้ร่วมใจกัน ถวายความเทิดทูนพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ขึ้นเป็นมหาราชอีกพระองค์หนึ่ง ทั้งนี้เพราะพระองค์ท่านได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ อันเป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่ประเทศชาติ พระบวรพุทธศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่ง พระองค์ท่านทรงเป็นปฐมกษัตริย์ทรงสร้างราชธานีใหม่ในทำเลอันเป็นชัยภูมิ พระราชกิจสำคัญยิ่งคือ การทรงต่อต้านปราบปรามอริราชศัตรู รักษาพระราชอาณาจักรให้ปลอดภัยและเจริญมั่นคง ทำให้ประเทศใกล้เคียง เช่น ญวน เขมร และลาว เกรงพระบารมีและได้รับพระเมตตา จึงยอมเป็นข้าขอบขัณฑสีมาอาณาจักรด้วยความนอบน้อม ครั้นยามสงบ ก็ทรงทำนุบำรุงงานด้านศิลปกรรม และวรรณคดี ดังปรากฏพระนามและนามกวีในรัชกาล คือ พระองค์ท่านเอง กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท และเจ้าพระยาพระคลัง (หน)
พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยะมหาราช
พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงครองราชสมบัตินานถึง ๔๒ ปี และตลอดเวลาอันยาวนานนั้น ได้ทรงปรับปรุง ทำนุบำรุงประเทศชาติให้เจริญขึ้นทุกวิถีทาง ที่สำคัญมากคือการเลิกทาส นอกจากนี้ยังได้ทรงทำนุ บำรุงการศึกษา การคมนาคม การประกอบอาชีพของพลเมือง และการอนามัย เสด็จเยี่ยมเยียนทุกข์สุขของประชาชนอยู่เสมอ เสด็จต่างประเทศเพื่อสมานทางพระราชไมตรีและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้ง ทรงนำวิทยาการจากประเทศที่เจริญแล้วฝ่ายตะวันตกมาปลูกฝังในประเทศไทย ด้วยพระราชกรณียกิจอันเกิดประโยชน์นานาประการ จึงได้รับถวายสมญาว่า สมเด็จพระปิยมหาราช หรือ "มหาราช" ผู้เป็นที่เคารพรัก