เล่มที่ 2
ตราไปรษณียากรไทย
เล่นเสียงเล่มที่ 2 ตราไปรษณียากรไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            นอกจากเราจะนิยมสะสมดวงตราไปรษณียากร หรือแสตมป์ (stamp) แล้ว ยังมีผู้นิยมสะสมรอยประทับบนแสตมป์ ไปรษณียบัตร ตลอดจนจดหมายอากาศรุ่นต่างๆ ดังนั้น นอกจากการสะสมแสตมป์ให้ครบชุด เราอาจจะสะสม และศึกษาตราไปรษณียากรในรูปแบบต่างๆ ได้หลายรูปแบบ เช่น

การสะสมแสตมป์แบบศึกษาเชิงประวัติไปรษณีย์

๑. สะสมแบบศึกษาเชิงประวัติไปรษณีย์ (postal history)

            เป็นการสะสมเฉพาะแสตมป์ที่ใช้แล้วเท่านั้น แสตมป์ที่นิยมสะสมนี้จะเป็นแสตมป์ ที่มีตราประทับที่สำคัญ บ่งบอกถึงความเป็นมาในอดีต เป็นแสตมป์เดี่ยว หรือผนึกอยู่บนซอง ก็ได้ เช่น ตราประทับ KEDAH - ไทรบุรี ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐไทรบุรีเคยอยู่ในการปกครอง ของไทย และซองผนึกแสตมป์ สเตรตส์เซตเทิลเมนตส์ประทับ "B" แสดงให้เห็นว่าในอดีต เราเคยขอยืมแสตมป์จากสเตรตส์เซตเทิลเมนตส์ มาใช้ในการส่งจดหมายออกไปยังต่าง ประเทศ เป็นต้น

การสะสมแสตมป์เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

๒. สะสมเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง (thematics)

            เป็นการสะสมเพื่อศึกษาถึงความเป็นมา ของการไปรษณีย์ของประเทศใดประเทศหนึ่ง แล้วผนึกบนซอง ไปรษณียบัตร และจดหมายอากาศในชุดหรือเรื่องเดียวกัน เช่น ชุดภาพ นก ปลา ผีเสื้อ สัตว์ป่า รถ เรือ รถไฟ ดอกไม้ ผลไม้ การกีฬา ธงชาติ ลูกเสือ สัปดาห์สากล แห่งการเขียนจดหมาย บุคคลสำคัญ ศิลปวัตถุโบราณ และจิตรกรรม เป็นต้น


๓. สะสมเชิงตำนานไปรษณีย์ (traditional, classics)

            เป็นการสะสมเพื่อศึกษาถึงความเป็นมาของการไปรษณีย์ของประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะ อาจจะสะสมตั้งแต่เริ่มมีการส่งจดหมายเข้า-ออกจากประเทศ มาจนถึงสมัยใด สมัยหนึ่ง เพื่อศึกษาวิวัฒนาการการไปรษณีย์ของประเทศนั้นๆ มาเป็นลำดับ ตามหลัก สากลถือว่า การสะสมแสตมป์ในช่วงก่อน พ.ศ. ๒๔๑๘ นั้นเป็นการสะสมเชิงตำนาน ไปรษณีย์ที่แท้จริง แต่ก็อนุโลมใช้กับการสะสมแสตมป์ที่หายากที่ใช้หลังจากช่วงนั้นได้ โดยปกติ การสะสมในเชิงตำนานไปรษณีย์นี้ นิยมสะสมแสตมป์ที่ออกตั้งแต่ระยะแรกของการไปรษณีย์ในแต่ละประเทศ เรื่อยลงมาถึงระยะใดระยะหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ในการศึกษา ความเป็นมาของการไปรษณีย์ไทย ก็จะสะสมสิ่งที่ใช้แทนแสตมป์ ในสมัยก่อนการใช้แสตมป์ ที่แท้จริง มาจนถึงระยะที่ขอยืมแสตมป์จากประเทศอื่นมาใช้ และระยะที่มีแสตมป์ชุดแรก ออกใช้เองเป็นชุดที่ ๑ วิวัฒนาการเป็นชุดที่ ๒ ชุดที่ ๓ เรื่อยมา เป็นต้น

การสะสมแสตมป์เชิงตำนานไปรษณีย์


๔. สะสมเฉพาะตราประทับบนแสตมป์ (postmark)

            เป็นการสะสมเฉพาะตราประทับต่างๆ ของที่ทำการไปรษณีย์บนดวงแสตมป์ จะเป็นตราประทับในช่วงระยะเวลาปัจจุบัน หรือในอดีตก็ได้ ถ้าแสตมป์ที่มีตราประทับที่หายาก ยังคงผนึกอยู่บนซองก็ให้สะสมไว้ทั้งซอง ไม่ควรแช่น้ำลอกแสตมป์ออกจากซอง ตัวอย่าง การสะสมตราประทับนี้ ได้แก่ สะสมตราประทับประจำวันทุกที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ ไทยในสมัยใดสมัยหนึ่ง สะสมตราประจำวันและตราประทับพิเศษในงานแสดงนิทรรศการ ไปรษณีย์งานใดงานหนึ่ง เป็นต้น


ตัวอย่างแสตมป์สเตรตส์เซตเทิลเมนตส์ที่นำมาใช้ มีตราประทับกงสุลอเมริกัน กงสุลอังกฤษ และ Bangkok


การสะสมไปรษณียบัตร

๕. สะสมสิ่งจำหน่ายเพื่อการสะสม (postal stationary)

            เป็นการสะสมไปรษณียบัตรรวมถึงกระดาษต่างๆ ที่มีตราไปรษณียากรพิมพ์ติดอยู่ ใช้ส่งทางไปรษณีย์ได้ทันที โดยสะสมสิ่งเหล่านี้ให้ครบในสมัยใดสมัยหนึ่ง หรือหลายประเทศ ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ก็ได้ ปัจจุบันมีผู้สะสมไปรษณียบัตรรุ่นแรกของทุกประเทศทั่วโลก และเคยได้รับรางวัลระดับสูงของโลกมาแล้ว

๖. สะสมจดหมายไปรษณีย์อากาศ และเรื่องเกี่ยวกับการบิน (aerogram and aerophilately)

            เป็นการสะสมแบบหนึ่งที่มีผู้นิยมมากในขณะนี้ อาจสะสมจดหมายหรือไปรษณีย์ อากาศที่ส่งไปกับเที่ยวบินเที่ยวแรก หรือที่ส่งไปกับเรือเหาะต่างๆ นอกจากนี้ ยังเคยมีผู้นำ จดหมายส่งไปกับยานอากาศที่เดินทางไปดวงจันทร์ และนำกลับลงมาสู่พื้นโลกออกแสดง แก่ประชาชนอีกด้วย


แสตมป์ชุดปีกครุฑ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๓

            นอกจากที่กล่าวมาแล้ว นักสะสมอาจสะสมแสตมป์ตัวตลก หรือแสตมป์ทดลองพิมพ์ หรือแสตมป์ตัวอย่าง ได้ตามแต่ความสนใจอีกด้วย

            มูลค่าของตราไปรษณียากรนั้นอยู่กับสภาพ ความหายาก และความนิยมสะสม เป็นสำคัญ เช่น แสตมป์ที่มีรอยปรุหรือที่เรียกกันว่า ฟันของแสตมป์ขาดชำรุด แสตมป์ที่มีสภาพ เหลืองหรือแตกกรอบ แสตมป์ที่ยังไม่ได้ใช้ แสตมป์ที่ไม่มีกาวทางด้านหลังหรือมีกาวในสภาพไม่ดี เหล่านี้ถือว่ามีสภาพไม่สมบูรณ์ มูลค่าย่อมลดลงตามแต่สภาพ