เล่มที่ 4
การหายใจ
เล่นเสียงเล่มที่ 4 การหายใจ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            "การหายใจ" เป็นขบวนการที่จำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ขบวนการหายใจนี้เกิดขึ้นภายในเซลล์ที่มีชีวิตทุกๆ เซลล์ เริ่มตั้งแต่ สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวขึ้นไป จนถึงสิ่งมีชีวิตชั้นสูงที่มีส่วนประกอบของร่างกายสลับซับซ้อน

            ในสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำที่ยังไม่มีลักษณะเป็นเซลล์ เช่น เชื้อไวรัส ไม่มีขบวนการหายใจ ดังนั้น จึงไม่สามารถสร้างพลังงาน และดำรงชีวิตอยู่ได้ตามลำพัง ต้องอาศัยอยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต ได้พลังงาน และสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต จากเซลล์ที่มันอาศัยอยู่ จึงจะสามารถมีขบวนการต่างๆ และเพิ่มจำนวนได้ (อ่านเพิ่มเติมเรื่องไวรัส)

            การหายใจที่จะอธิบายในตอนนี้ เป็นการหายใจของสิ่งมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบ คือ จะต้องประกอบด้วยเซลล์ที่มีชีวิต การหายใจภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต หมายถึง การที่โมเลกุลของสารประเภทโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมันภายในเซลล์ ถูกย่อยให้แตกสลายเป็นโมเลกุลเล็กๆ โดยเอนไซม์และออกซิเจน หรือโดยเอนไซม์แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น (เอนไซม์เป็นสารประกอบหลายชนิด ซึ่งส่วนมากแล้วเป็นสารพวกโปรตีนที่เซลล์ของสิ่งที่มีชีวิตสร้างขึ้น มีหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีทุกชนิด ที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย) ผลของการสลายตัวของสารดังกล่าว ทำให้เกิดพลังงานขึ้นภายในเซลล์ สิ่งมีชีวิตนำพลังงานนี้ไปใช้ในการดำรงชีวิต ให้เป็นปกติ เช่น เอาไปใช้ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว กินอาหาร ขับถ่ายของเสีย ตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มากระตุ้น ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น
ปะการัง ที่พบอยู่ในทะเล ส่วนที่เป็นฝอยๆ เล็กๆ คล้ายดอกไม้ที่ยื่นออกมาจากโครงร่างแข็งของมันเป็นส่วนที่มีชีวิตของตัวปะการัง สามารถหายใจ กินอาหาร และถ่ายของเสียได้โดยตรงกับน้ำทะเลที่อยู่รอบๆ
ปะการัง ที่พบอยู่ในทะเล ส่วนที่เป็นฝอยๆ เล็กๆ คล้ายดอกไม้ที่ยื่นออกมาจากโครงร่างแข็งของมันเป็นส่วนที่มีชีวิตของตัวปะการัง สามารถหายใจ กินอาหาร และถ่ายของเสียได้โดยตรงกับน้ำทะเลที่อยู่รอบๆ
            สิ่งมีชีวิตบางชนิดที่ไม่จำเป็นต้องใช้ออกซิเจนในการหายใจ ก็ได้พลังงานเพียงพอที่จะดำรงชีวิตได้ ตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตเช่นนี้ ได้แก่ บัคเตรีบางชนิด เช่น บาดทะยัก (tetanus) ยีสต์ (yeast) ที่ใช้สำหรับเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นอัลกอฮอล์ โดยทั่วๆ ไปแล้ว สิ่งที่มีชีวิตเหล่านี้ มักจะเป็นพวกที่ร่างกายมีโครงสร้างง่ายๆ ไม่ซับซ้อนเหมือนกับร่างกายของสัตว์ชั้นสูง
            การหายใจโดยใช้ออกซิเจนนั้น เซลล์ได้พลังงานมากกว่าการหายใจ โดยไม่ใช้ออกซิเจนมาก ทั้งนี้เพราะสารต่างๆ ถูกย่อยไป จนถึงขั้นสุดท้ายทีเดียว

            โดยปกติขบวนการที่ออกซิเจนเข้าไปสันดาปกับอาหารภายในเซลล์เกิดขึ้นอย่างช้าๆ เป็นขั้นๆ กินเวลานานกว่าการเผาไหม้ภายนอกร่างกายมากมาย เพราะภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต ประกอบด้วยเอนไซม์จำนวนมาก ที่คอยช่วยให้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นไปอย่างช้าๆ และไม่รุนแรง

            นักวิทยาศาสตร์พบว่า พลังงานที่เกิดขึ้นจากการหายใจ ส่วนที่เหลือจากการนำไปใช้ในการดำรงชีวิต จะถูกเก็บไว้ภายในเซลล์ ในรูปของพลังงานเคมีในโมเลกุลของสารอินทรีย์ที่มีชื่อว่า อะดีโนซีน ไทรฟอสเฟต (ATP)

            ในโมเลกุลของ ATP มีพลังงานซ่อนอยู่มากมาย เมื่อร่างกายต้องการใช้พลังงานโดยกะทันหัน จะสลายตัวปลดปล่อยพลังงานออกมา ตัวเองกลายเป็นอะดิโนซีนไดฟอสเฟต (ADP) แต่ถ้าเมื่อใดร่างกายได้รับพลังงานเพิ่มเติมจากการหายใจ ADP ก็จะเก็บพลังงานส่วนเกินเข้าไว้ แล้วกลับกลายไปเป็น ATP ใหม่อีก



            การสะสมพลังงานเคมีเข้าไว้ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตในรูปของ ATP นี้ พบได้ในเซลล์ที่มีชีวิตทั่วไป ทั้งในพืช และในสัตว์ แต่จะพบมากเป็นพิเศษ ในเซลล์ของร่างกายส่วนที่ต้องการทำงานหนัก เช่น บริเวณหลอดไตเล็กๆ ที่ทำหน้าที่สกัดปัสสาวะภายในเนื้อไต

            ในสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำที่มีเพียงเซลล์เดียว เช่น ตัวอะมีบา หรือพารามีเซียม หรือในสิ่งมีชีวิตที่ร่างกายไม่สลับซับซ้อน เช่น ตัวไฮดรา หรือฟองน้ำ ไม่จำเป็นต้องมีอวัยวะพิเศษสำหรับหายใจ เพราะเซลล์ทุกเซลล์ของมันติดต่อกับสิ่งแวดล้อมภายนอกคือ น้ำ ที่มันอาศัยอยู่ได้โดยง่าย ในน้ำที่มันอาศัยอยู่ มีก๊าซออกซิเจนละลายอยู่ ก๊าซออกซิเจนสามารถแพร่เข้าไปในเซลล์ทุกเซลล์ได้โดยง่าย และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นผลเกิดจากการหายใจภายในเซลล์ ก็สามารถแพร่ออกจากเซลล์ได้โดยง่ายด้วยเช่นกัน