เล่มที่ 4
ไวรัส
เล่นเสียงเล่มที่ 4 ไวรัส
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            ไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีโครงสร้างและลักษณะแตกต่างจาก เซลล์ของพืชและสัตว์ มีขนาดเล็กมาก ดังนั้นการศึกษาโครงสร้าง และลักษณะของไวรัส จึงต้องส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ซึ่งขยายได้ถึงกว่าสามหมื่นเท่า ภายในตัวของไวรัสไม่มีสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีพอย่างครบถ้วน เช่น ไม่มีหน่วยสร้างพลังงาน สร้างสารต่างๆ เป็นต้น ดังนั้น ไวรัสจำต้องเข้าไปอาศัยอยู่ภายในเซลล์ หรือในเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต จึงจะเติบโตทวีจำนวนแพร่พันธุ์ได้

โรคไวรัสตับอักเสบ

            ไวรัสมิได้มีสภาวะเป็นเซลล์อย่างบัคเตรี และไม่สามารถเพาะเลี้ยงด้วยอาหารของบัคเตรีได้ เพราะอนุภาคตัวของไวรัสนั้น มีกรดนิวคลีอิคปริมาณน้อยมาก และอาจจะเป็น ดี เอ็น เอ หรือ อาร์ เอ็น เอ อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น กรดนิวคลิอิคนี้ห่อหุ้มไปด้วยโปรตีน หรือไลโปโปรตีน ซึ่งเกิดขึ้น หลังจากกรดนิวคลีอิคได้ทวีจำนวนมากมายแล้ว กรดนิวคลีอิคเท่านั้น ที่เป็นส่วนสำคัญที่สุดของไวรัส ไวรัสเจริญเติบโต และเพิ่มจำนวนได้ทางเดียว โดยต้องเข้าไปอยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอื่น การแพร่พันธุ์เพิ่มจำนวนของไวรัสต้องมีระยะ ไวรัสคราส ซึ่งไม่มีสำหรับบัคเตรี และก็มิได้เป็นแบบขาดกลางตัวดังเช่นการทวีจำนวนบัคเตรี

            ไวรัสมีหลายชนิดขนาดใหญ่เล็กไม่เท่ากัน ไวรัสขนาดใหญ่โตกว่าไวรัสขนาดเล็กประมาณ ๑๕๐ เท่า ไวรัสขนาดใหญ่อาจมองเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ที่ขยายได้พันเท่า ไวรัสทุกชนิดอาจมองเห็น และถ่ายรูปได้ เมื่อใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ไวรัสหลายชนิดที่เป็นตัวการทำให้จุลชีพ พืช สัตว์และมนุษย์เกิดโรค มีรูปร่างเป็นทรงกลม แต่ก็มีไวรัสบางชนิดมีรูปร่างเป็นแท่งยาว ไวรัสบางชนิดมีรูปร่างเหมือนลูกอ๊อด หรือลูกระเบิดมือชนิดมีด้าม ปัจจุบัน เฉพาะไวรัสของมนุษย์มีมากกว่า ๕๐๐ ชนิด กว่า ๖๐ ชนิดที่ทำให้มนุษย์มีอาการคล้ายโรคหวัด

            ตามปกตินั้น จุลชีพเมื่อเข้าไปเจริญในสิ่งมีชีวิตแล้ว มักทำให้สิ่งมีชีวิตนั้นผิดปกติ หรือเป็นโรค โรคไวรัสในมนุษย์ได้แก่ หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคโปลิโอ ฝีดาษ หัด คางทูม โรคไข้เลือดออก โรคอีสุกอีใส ฯลฯ โรคไวรัสในสัตว์ได้แก่ โรคลงแดงของวัวควาย โรคอหิวาต์สุกร โรคปากและเท้าเปื่อยของวัวควาย โรคนิวคาสเซิลในไก่ โรคพิษสุนัขบ้า โรคโพลิฮีดรัลในแมลง โรคมิคโซมาโตซีสในกระต่าย โรคเพลกเป็ด โรคออ เจสกี้ ฯลฯ โรคไวรัสในพืช ได้แก่ โรคใบยาสูบด่าง โรคใบยาสูบหด โรคไวรัสในต้นข้าวได้แก่ โรคข้าวใบเหลืองส้ม โรคไวรัสในต้นข้าวโพด โรคไวรัสในกล้วยไม้ โดยทั่วไป ไวรัสมักจะทำให้เกิดผลเสียหายทางด้านเศรษฐกิจ แต่ไวรัสบางชนิดอาจก่อให้เกิดผลดี เช่น ต้นดอกทิวลิปจะให้ดอกทิวลิปอย่างธรรมดา แต่ต้นมีไวรัสจะทำให้ดอกทิวลิปมีกระแต้ม หรือด่างผิดธรรมดา ปรากฏลวดลายสวยงาม แตกต่างจากที่เคยเป็น จึงทำให้มีราคาสูงขึ้น ในทวีปออสเตรเลียมีผู้เคยนำไวรัสมิคโซมาโตซีสมาใช้ เพื่อฆ่ากระต่ายที่จะไปแย่งกินหญ้าในบริเวณที่เลี้ยงแกะและวัว สถานีทดลองทางเกษตรบางแห่งได้ใช้โพลิฮีดรัลไวรัส ทำลายหนอนหรือบุ้ง ซึ่งเป็นตัวอ่อนของแมลงจำพวกผีเสื้อทำลายพืช ผัก เช่น หนอนเจาะสมอ ฝ้าย หนอนกระทู้หัวหอม หนอนใบผัก ปัจจุบันได้มีผู้นำไวรัสของแมลงทดลองฆ่าแมลงวัน ยุงไรแดง  ซึ่งจะเป็นแนวทางในการควบคุมแมลง ที่เป็นตัวพาหะนำเชื้อโรค

ไวรัสโรคไข้ทรพิษหรือฝืดาษ

            การระบาดติดต่อของไวรัสเหมือนกับการระบาดติดต่อของจุลชีพทั่วไป ไวรัสบางชนิดของมนุษย์และสัตว์ติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรง ไวรัสบางชนิดที่ทนทานตายยาก เมื่ออยู่นอกเซลล์อาจจะติดต่อโดยการใช้ภาชนะร่วมกัน หรือสิ่งมีชีวิตอื่นที่มีโอกาสสัมผัสนำไป ไวรัสบางชนิดติดต่อโดยทางปาก เช่น คางทูม บางชนิดโดยทางหายใจ เช่น โรคโปลิโอ หัด ไข้หวัดใหญ่ ไวรัสหลายชนิดของมนุษย์และสัตว์มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสิ่งมีชีวิตที่เป็นพาหะของโรค โดยไวรัสนั้น เข้าไปเจริญในเซลล์ ของแมลง ยุง เห็บ ฯลฯ ซึ่งมักจะเป็นตัวการในการแพร่เชื้อให้ระบาดได้ เช่น โรคไข้ฟลีโบโตมัสโดยแมลงฟลีโบโตมัส โรคไข้เลือดออกโดยยุงลาย โรคสมองอักเสบรุสเซียหน้าร้อนโดยเห็บ ไวรัสในพืชนอกจากจะมีการระบาดติดต่อแบบไวรัสมนุษย์และสัตว์แล้ว ยังมีเพลี้ยหรือแมลงอื่นๆ ที่ดูดกินน้ำในใบของพืช เป็นอาหาร ไวรัสบางชนิดที่อยู่ในดินมักอาศัยราหรือหนอนในดินเป็นพาหะ อันเป็นสภาวะที่แตกต่างไปจากไวรัสของมนุษย์และสัตว์

            การควบคุมมิให้เกิดโรคไวรัสทำได้ยาก เพราะยาปฏิชีวนะที่ทำลายบักเตรีได้ดีนั้น ทำลายไวรัสไม่ได้ เนื่องจากไวรัสอาศัยอยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต การทำลายไวรัส จะมีผลกระทบกระเทือนไปถึงเซลล์ของสิ่งที่มีชีวิต ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ แม้ปัจจุบัน จะพบยาปฏิชีวนะ ที่หยุดยั้งการสังเคราะห์ไวรัสได้ การรักษาโรคไวรัสโดยใช้ยา ก็ยังทำไม่ได้ผลเป็นส่วนใหญ่ เพราะยาเหล่านั้นทำลายเซลล์ด้วย ดังนั้น วิธีควบคุมโรคไวรัสที่ดีที่สุด ได้แก่ การป้องกันโดยการฉีดวัคซีนที่ฆ่าไวรัสให้ตายแล้ว หรือวัคซีนที่ทำจากไวรัสพันธุ์พิเศษ ที่ฤทธิ์อ่อนมาก จนไม่ทำให้เกิดอาการโรค แต่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิป้องกันโรค เช่น การควบคุมโรค โรคอหิวาต์สุกร โปลิโอ หัด โรคไข้เหลือง โรคฝีดาษ โรคลงแดงของ วัวควาย โรคนิวคาสเซิลของไก่ โรคพิษสุนัขบ้า