เล่มที่ 7
การเลี้ยงปลา
เล่นเสียงเล่มที่ 7 การเลี้ยงปลา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            ปลาเป็นอาหารประจำวันของคนไทยควบคู่กับข้าว ปลามีคุณค่าอาหาร สูง มีเนื้อนุ่มย่อยง่ายกว่าเนื้อสัตว์อื่น อุดมสมบูรณ์ด้วยโปรตีน เกลือแร่ วิตามิน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกายทำให้สุขภาพและพลานามัยสมบูรณ์

            การเลี้ยงปลา ทำได้เกือบทุกสภาพท้องที่ที่มีน้ำ แต่วิธีดำเนินการนั้น แตกต่างกันในข้อปลีกย่อย เช่น การเลี้ยงปลาในบ่อ จะต้องมีบ่ออยู่เดิม หรือมิฉะนั้น จะต้องขุดขึ้นใหม่ ถ้าเป็นบ่อเดิมจะต้องปรับปรุงเล็กน้อย วิดน้ำให้แห้งขุดลอกเอาเลนขึ้นทำคันรอบบ่อ เพื่อป้องกันน้ำท่วม ไม่ให้ปลาในบ่อหลบหนีออกไปในฤดูฝน หรือในฤดูน้ำมาก การขุดบ่อใหม่ ลงทุนค่อนข้างสูง แต่คุ้มค่า ภายในระยะเวลาอันสั้น รูปร่างลักษณะของบ่อ ตามปกติ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งจะช่วยให้จับปลาได้สะดวก และมีรูปร่างเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม ความลึกของบ่อ ควรลึกประมาณ ๑-๑.๕ เมตร และควรเก็บกักน้ำได้ลึกไม่ต่ำกว่า ๑ เมตร ดินที่ขุดขึ้นจากบ่อ นำเอาไปไปทำคันรอบบ่อ เพื่อประโยชน์ดังกล่าวข้างต้น การเลี้ยงปลาแบบนี้ นิยมทำกันมากในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


            สำหรับท่านที่มีที่ดินอยู่ตามชายฝั่งทะเล บริเวณป่าชายเลนที่มีน้ำขึ้นลง อาจปรับปรุงพื้นที่สร้างบ่อ สำหรับเลี้ยงปลาน้ำกร่อย หรือเลี้ยงกุ้งได้ เมื่อปรับที่เรียบร้อยแล้ว ก็ขุดเอาดินขึ้นมาทำคันรอบบ่อ ขนาดของบ่อจะเล็กหรือใหญ่ แล้วแต่ต้องการ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ เมื่อระดับน้ำขึ้นสูงสุด บ่อควรเก็บกักน้ำ ได้ลึกไม่ต่ำกว่า ๑ เมตร บ่อเลี้ยงปลาน้ำกร่อยควรมีท่อทางระบายน้ำเข้าและท่อทางระบายน้ำออก ซึ่งจะช่วยชักน้ำเข้าบ่อ และระบายน้ำทิ้ง เมื่อต้องการจับปลา หรือตากบ่ออันเป็นการประหยัดไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ การเลี้ยงปลาแบบนี้ทำกัน มากในจังหวัดชายทะเล เช่น สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม

ปลาแห้งที่ใช้เป็นอาหาร

            ท่านที่มีบ้านช่องอยู่ตามบริเวณแม่น้ำลำคลอง ก็อาจจะทำการเลี้ยงปลาเป็นอาชีพได้ ด้วยวิธีการเลี้ยงปลาในกระชัง กระชังก็หมายถึง คอก ซึ่งกรุด้วยไม้ไผ่สานตาถี่ พอที่จะป้องกันไม่ให้ปลาเล็ดลอดหนีออกไปได้ ปัจจุบัน นิยมกรุด้วยเส้นลวดไนลอน หรือพลาสติก ซึ่งมีขายอยู่ทั่วไป รูปแบบ หรือรูปร่างลักษณะกระชังเป็นกรอบไม้รูปสี่เหลี่ยม สานด้วยไม้ไผ่ หรืออวนปิดด้านก้น และด้านข้างสี่ด้าน ปากบนจะปิดหรือเปิดก็ได้ตามต้องการ ด้านบนสองด้านมีทุ่นไม้ไผ่ เมื่อนำไปลอยในแม่น้ำลำคลอง ทุ่นจะช่วยพยุงไม่ให้กระชังจม และลอยขึ้นลงได้ตามระดับน้ำ การเลี้ยงปลาแบบนี้ นิยมทำกันมาก ในจังหวัดแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่นครสวรรค์ลงมา ถึงพระนครศรีอยุธยา

            ในนาข้าวที่สามารถชักน้ำเข้ามาได้ หรือที่น้ำขังอยู่นานพอสมควร ก็สามารถที่จะปรับปรุงสำหรับเลี้ยงปลาได้ โดยการขุดคูรอบคันนา นำดินที่ขุดมาทำคันนาให้กว้างและสูงขึ้น การเลี้ยงปลากระทำภายหลังเก็บเกี่ยวข้าว หรือเลี้ยงปลาพร้อมกับการปลูกข้าวก็ย่อมทำได้ การเลี้ยงปลาในนาเป็นประโยชน์ทั้งในแง่การใช้ที่ดิน และทำให้ผลผลิตของข้าวเพิ่มขึ้นด้วย เพราะปลาจะช่วยคุ้ยเขี่ยเก็บวัชพืช กำจัดแมลงหรือตัวหนอนที่เป็นศัตรูข้าว การเลี้ยงปลาในนาข้าวนี้ จะกระทำได้ก็เฉพาะท้องที่ที่มีการชลประทานดี เช่น ในภาคเหนือ ในท้องที่อื่นที่มีน้ำเอ่อสูง เช่น ในภาคกลางบางแห่ง หรือที่ที่ขาดแคลนน้ำ เช่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การเลี้ยงปลาในนาย่อมทำได้ยาก หรือทำได้ชั่วระยะเวลาอันสั้น ปลาไม่โตพอที่จะใช้เป็นอาหารได้

การเลี้ยงปลาในนาข้าว

            การเลี้ยงปลาสวยงามในตู้กระจก เพื่อความเพลิดเพลินเจริญใจ ดูสวยงาม ใช้ประดับประดาไว้ในห้องรับแขก หรือตามเฉลียงมุมบ้าน หรือจะทำบ่อเล็กๆ ฉาบปูนให้มีรูปร่างแปลกตา ประดับด้วยไม้ดอกไม้ใบรอบๆ บ่อ นำปลาที่มีสีสันสวยงาม เช่น ปลาเงิน ปลาทอง มาปล่อยลงเลี้ยงไว้ดูเล่น จะทำให้บ้านน่าอยู่ยิ่งขึ้น

ปลาทอง เป็นปลาสวยงามที่นิยมเลี้ยงกันทั่วไป

            การเลี้ยงปลาสวยงาม อาจจะดำเนินการเป็นธุรกิจการค้า ทำรายได้ให้แก่ผู้เลี้ยงเป็นอาชีพได้อย่างดี ประเทศไทยเรา ส่งปลาสวยงามออกจำหน่ายยังต่างประเทศหลายสิบชนิด คิดเป็นเงินมากกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท ดังนั้น จึงมีผู้สนใจทำมาหาเลี้ยงชีพ ด้วยการเลี้ยงปลาสวยงามมากราย

ปลาเทวดาทะเล
เป็นปลาสวยงามชนิดหนึ่ง

            การเลือกชนิดปลาที่จะใช้เลี้ยงก็ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่จะใช้เลี้ยงปลา ปลาที่เหมาะสำหรับเลี้ยงในบ่อน้ำจืด ได้แก่ ปลาสวาย ปลาเทโพ ปลาดุก ปลาตะเพียน ปลาหมดตาล ปลาสลิด ปลาหมอเทศ ปลานิล ปลาไน และปลาจีน ปลาที่เลี้ยงในน้ำกร่อย ได้แก่ ปลากะพง ปลานวลจันทร์ทะเล ปลาหมอเทศ และถ้าความเค็มของน้ำต่ำ หมายถึง กร่อยเล็กน้อย ก็สามารถที่จะปล่อยปลาไน และปลาตะเพียนลงเลี้ยงได้ สำหรับปลาที่เหมาะกับการนำมาเลี้ยงในกระชังนั้น ได้แก่ ปลาสวาย ปลาเทโพ ปลาไน และปลาดุก ในที่นา ซึ่งมีระดับน้ำค่อนข้างตื้น ก็ควรจะเลี้ยงปลาที่มีขนาดเล็ก และใช้เป็นอาหารได้ เช่น ปลาสลิด ปลาหมดตาล ปลาไน ปลาตะเพียน และปลาหมอเทศ

            ปลาที่ปล่อยลงเลี้ยงจะเจริญเติบโตได้ก็ต้องมีอาหารเพียงพอ อาหารที่ปลากินนั้น ได้แก่ อาหารในบ่อที่เกิดขึ้นเองธรรมชาติ อาหารดังกล่าวจะเกิดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคุณภาพของดิน ถ้าเป็นดินดี มีอาหาร และแร่ธาตุอยู่มาก อาหารก็เกิดมาก ฉะนั้นถ้าต้องการให้ปลาเจริญเติบโต ก็ต้องมีการใส่ปุ๋ยลงในบ่อ เช่นเดียวกับการปลูกต้นไม้บนบกเหมือนกัน ปุ๋ยที่ใช้กับบ่อปลา ได้แก่ ปุ๋ยคอก มูลสัตว์เลี้ยง เช่น มูลไก่ มูลหมู มูลเป็ด มูลโค และมูลกระบือ การใช้ปุ๋ยพวกนี้ควรใส่ทีละน้อย และคอยสังเกตสีของน้ำ ถ้าน้ำมีสีเขียว เมื่อเอามือจุ่มลงไปจนถึงข้อศอกมองไม่เห็นฝ่ามือ แสดงว่าน้ำนั้นสมบูรณ์ดี ถ้าน้ำเริ่มมีสีจาง และมองเห็นฝ่ามือ น้ำนั้นไม่ค่อยมีอาหารจึงค่อยเติมปุ๋ยลงไปใหม่ นอกจากใช้ปุ๋ยคอกแล้ว ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีขายอยู่ตามท้องตลาด ชนิดที่ใช้ได้ผลดีก็คือ ปุ๋ยฟอสเฟต แต่ราคาค่อนข้างแพง ปริมาณการใช้แตกต่างไป ตามคุณลักษณะของดิน นอกจากอาหารธรรมชาติแล้ว ปลาที่เลี้ยงยังต้องการอาหารสมทบ เช่น รำข้าว ผัก ถั่ว เศษเนื้อ ซึ่งจะช่วยให้ปลาเจริญเติบโตเร็วขึ้นอีกด้วย

กบศัตรูของการเลี้ยงปลา

            ศัตรูที่คอยรบกวน และกินปลาที่เลี้ยงมีอยู่หลายอย่างด้วยกัน ชนิดแรกก็ได้แก่ พวกปลา เช่น ปลาช่อน ปลาชะโด ปลากะสง ปลากั้ง ปลาบู่ ปลาฉลาด ปลาพวกนี้มีลักษณะดุร้าย และกินปลาด้วยกันเป็นอาหาร มีความทนทานเป็นพิเศษ บางชนิดอยู่ได้ในที่แห้ง คืบคลานจากบ่อหนึ่งไปยังอีกบ่อหนึ่งได้ นอกจากนั้นปลาเหล่านี้ยังแพร่พันธุ์ได้ในบ่อ มันสามารถจะกินตั้งแต่ลูกปลาขนาดเล็ก ไปจนถึงปลาขนาดใหญ่ ฉะนั้นก่อนที่จะปล่อยลูกปลาลงเลี้ยงในบ่อ จะต้องวิดน้ำตากบ่อให้แห้ง เวลาจะปล่อยน้ำเข้าบ่อต้องใช้ตะแกรงกรองน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้มีปลาเหล่านี้ปะปนเข้าไปอยู่ในบ่อ นอกจากปลา ยังมีพวกนก กบ เขียด งู ซึ่งกินปลาเป็นอาหาร ต้องคอยป้องกัน และทำลายอยู่เสมอ

            ตามปกติ ปลาไม่ค่อยมีโรครบกวนเหมือนสัตว์อื่น จะมีพยาธิเกาะอาศัยบ้างเป็นครั้งคราว แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้ปลาตาย การที่มีปลาตายครั้งละมากๆ นั้น ส่วนมากมีสาเหตุจากการให้อาหารมากเกินไป หรือมิฉะนั้นก็เติมปุ๋ยลงในบ่อมากเกินควร  ซึ่งทำให้น้ำเน่าเสีย ก๊าซออกซิเจนในน้ำลดน้อยลงจนไม่พอสำหรับปลาจะใช้หายใจ จะสังเกตได้ง่ายๆ ก็คือ ในตอนเช้ามืด ปลาจะลอยหัวขึ้นมาหายใจเอาอากาศบนผิวน้ำ เมื่อปรากฏเช่นนี้จะต้องทำการระบายน้ำในบ่อบางส่วนออก แล้วเติมน้ำใหม่เข้าไปแทน