เล่มที่ 7
การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม
เล่นเสียงเล่มที่ 7 การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            เนื่องจากหม่อนเจริญเติบโตได้ดีทั้งในเขตร้อนและอบอุ่น ดังนั้นการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จึงเป็นอาชีพสำคัญของประชาชน ในหลายประเทศ ทั้งในเอเชีย และยุโรป เช่น จีน ญี่ปุ่น ไทย ฝรั่งเศส อิตาลี ฯลฯ

ต้นหม่อน


            หม่อนเป็นพืชมีดอก เป็นพืชยืนต้น และเป็นไม้พุ่ม มีหลายพันธุ์ ทั้งพันธุ์พื้นเมือง และพันธุ์ที่มนุษย์ผสมขึ้นมา เพื่อให้ได้ลักษณะที่ต้องการ และให้ผลผลิตสูง พันธุ์ซึ่งใช้ปลูกสำหรับเลี้ยงไหม ควรเป็นพันธุ์ที่ปลูกได้ดีในท้องที่ทั่วไป โตเร็ว ทนทานต่อความแห้งแล้ง และโรคได้ดี ใบบาง ไม่หยาบ ขอบใบมีแฉกน้อย ฯลฯ ลักษณะเหล่านี้เป็นลักษณะสำคัญ ซึ่งทำให้หม่อนให้ผลผลิตสูง ได้ใบหม่อนมากพอที่จะนำมาเลี้ยงไหมได้อย่างเต็มที่ พันธุ์ที่ปลูกกันมากในบ้านเราส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พื้นเมือง เช่น พันธุ์หม่อนน้อย พันธุ์ตาดำ เป็นต้น

ผลหม่อน

            การขยายพันธุ์หม่อนทำได้หลายวิธี ทั้งใช้เมล็ดและกิ่ง แต่วิธีที่ให้ผลเร็ว และได้ต้นหม่อน ที่มีลักษณะเหมือนพันธุ์เดิมทุกประการก็คือ การตัดกิ่งปักชำ กิ่งที่จะใช้ขยายพันธุ์ควรมีอายุไม่ต่ำกว่า ๑ ปี มีตาไม่น้อยกว่า ๕-๖ ตา และยาวประมาณ ๒๕-๓๐ เซนติเมตร หลังจากปักชำกิ่งลงดินทรายแกลบเผา หรือขี้เลื่อยได้ ๑ เดือน จึงนำไปปลูกลงดิน ระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุด สำหรับการปลูกต้นหม่อนคือ ระยะต้นฤดูฝน เพราะต้นหม่อนระยะนี้ต้องการ ความชื้นสูงมาก เมื่อต้นหม่อนตั้งตัวได้แล้ว ต้องคอยดูแลปราบวัชพืช ใส่ปุ๋ย ต้นหม่อนจึงจะเจริญเติบโตได้ดี หลังจากต้นหม่อนอายุ ได้ ๑ ปี จึงเริ่มตัดแต่ง กิ่งและเก็บใบไปเลี้ยงไหม การตัดแต่งกิ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการทำสวน หม่อน เพราะจะช่วยให้หม่อนมีต้นเตี้ย เก็บใบได้สะดวก และมีใบมากกว่า ปล่อยให้เติบโตไปเองตามธรรมชาติ

            เนื่องจากหนอนไหมกินใบหม่อนเพียงอย่างเดียวเท่านั้นเป็นอาหาร ดังนั้น การเลี้ยงไหมจึงควรเริ่มต้น ในระยะเวลาที่ต้นหม่อนมีใบมาก จึงจะมีอาหารพอ สำหรับเลี้ยงหนอนไหม นอกจากนี้การเลี้ยงไหมจะได้ผลดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ อุปกรณ์การเลี้ยง วิธีเลี้ยง และพันธุ์ที่นำมาเลี้ยงอีกด้วย เพราะปรากฏว่า การเลี้ยงไหมแผนใหม่ตามคำแนะนำ ของกองการไหม กรมวิชาการเกษตร โดยเลี้ยงไหมพันธุ์ผสมระหว่างพันธุ์จีนและญี่ปุ่น และใช้อุปกรณ์ โรงเลี้ยงที่ทันสมัย  ได้ผลดีกว่าการเลี้ยงด้วยวิธีของชาวบ้าน และเลี้ยงพันธุ์พื้นเมืองไทย เช่น พันธุ์นางขาว นางน้ำ ฯลฯ

กิ่งหม่อนชำ ที่ออกรากแล้ว
พร้อมที่จะนำไปปลูก

            นอกจากเลือกพันธุ์ การเอาใจใส่ดูแลสวนหม่อน และหนอนไหมระยะต่างๆ และการวางแผนกะเวลาเลี้ยงไหม ให้เหมาะสมกับดินฟ้าอากาศ และการเจริญเติบโต ของต้นหม่อนแล้ว การควบคุมโรคและแมลงหรือสัตว์ต่างๆ ที่ทำความเสียหายแก่หม่อนหรือหนอนไหม ก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้การ ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมได้ผลผลิตสูง และมีคุณภาพดีอีกด้วย