เล่มที่ 7
ผีเสื้อในประเทศไทย
เล่นเสียงเล่มที่ 7 ผีเสื้อในประเทศไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            ผีเสื้อเป็นแมลงจำพวกหนึ่ง เราจัดแมลง (Insects) เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชั้นสูง อยู่ในไฟลัมอาร์โทรโปดา (Arthropoda) ซึ่งเป็นไฟลัมที่มีจำนวนชนิดของสัตว์มากที่สุด สำหรับผีเสื้อเองนั้น เมื่อรวมทั้งผีเสื้อกลางวันและผีเสื้อกลางคืนแล้ว มีจำนวนชนิดมากถึง ๑๔๐,๐๐๐ ชนิด จัดเป็นแมลงจำพวกที่มีความแตกต่างกันในเรื่องขนาดมากที่สุด บางชนิดเล็กมาก เมื่อกางปีกเต็มที่จะโตไม่เกิน ๑/๔ นิ้ว บางชนิดใหญ่มาก เช่น ผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่งในอเมริกาใต้ เมื่อกางปีกเต็มที่จะโตถึง ๑ ฟุต


            รูปร่างของผีเสื้อประกอบด้วยลำตัว ซึ่งไม่มีโครงกระดูกอยู่ภายใน มีขาหกขา เช่นเดียวกับแมลงชนิดอื่นๆ ลำตัวเป็นวงแหวนหลายวงเชื่อมต่อกันด้วยเยื่อบางๆ ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้ลำตัวเคลื่อนไหวได้สะดวก  ผีเสื้อมีปีก ๒ คู่ ปีกคู่หลังจะมีขนาดเล็กกว่าปีกคู่หน้า ขณะบินปีกทั้งสองคู่จะแผ่กางออก และยึดติดเป็นแผ่นเดียวกันในแต่ละข้าง ด้วยวิธีซ้อนปีกอัดติดกันแน่น หรือใช้ข้อเล็กๆ ที่โคนปีกเกี่ยวกันไว้ พวกปีกเล็กเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว จะกระพือปีกเร็ว พวกปีกใหญ่เมื่อเทียบกับน้ำหนักตัวจะกระพือปีกช้า เวลาบิน จึงมีลักษณะเหมือนร่อนไปตามลม

            ผีเสื้อมีตารวมใหญ่คู่หนึ่งอยู่ด้านข้างของส่วนหัว สามารถรับรู้ภาพของวัตถุที่เคลื่อนที่ได้เร็ว จึงบินได้ว่องไว ตามจับได้ยาก มีหนวดคู่หนึ่งอยู่ระหว่างตารวมสำหรับรับรู้กลิ่น ข้างใต้ส่วนหัวมีงวงซึ่งใช้ดูดน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ หรืออาหารเหลวอื่นๆ เวลาที่ไม่ใช้งาน งวงนี้จะม้วนขดไว้เป็นวง


            สัตว์พวกแมลงมีการเจริญเติบโตแตกต่างกัน บางชนิดเช่น พวกตั๊กแตน เมื่อฟักตัวออกจากไข่ ตัวอ่อนจะมีรูปร่างลักษณะเป็นตัว เหมือนตัวตั๊กแตนเต็มวัยเลยทีเดียว เพียงแต่สัดส่วน หรือขนาดอวัยวะบางส่วนแตกต่างไป เช่น เมื่อฟักออกมาจากไข่ใหม่ๆ ลูกตั๊กแตนจะหัวโต ตัวสั้น ขนาดตัวเล็ก ต่อมาก็มีการลอกคราบอีกหลายครั้งกว่าจะโตเต็มวัย ในแต่ละครั้งที่ลอกคราบ ลูกตั๊กแตนก็จะตัวโตขึ้น และเปลี่ยนแปลงลักษณะใกล้เคียงตัวเต็มวัยยิ่งขึ้น ผีเสื้อมีการเจริญเติบโตแตกต่างไปจากตั๊กแตน กล่าวคือ มีการเจริญเติบโตแบบครบสี่ขั้น ซึ่งใแต่ละขั้นนั้น ตัวอ่อนจะมีรูปร่างลักษณะ และความเป็นอยู่ แตกต่างกันอย่างน่าสังเกต
            
            ขั้นแรกเป็นระยะที่ผีเสื้อเกิดเป็นไข่ ขั้นที่สองผีเสื้อที่ได้ฟักตัวออกมาจากไข่ แล้วดำรงชีวิตเป็นหนอนผีเสื้อ ซึ่งมีรูปร่างลักษณะขนาดแตกต่างกันไป แล้วแต่ชนิดของผีเสื้อ หนอนผีเสื้อกลางวันส่วนมากไม่มีขนปกคลุม ในระยะตัวหนอน มันจะกัดกินใบพืชเป็นอาหาร ตัวหนอนมีปากแข็งแรงมาก เติบโตด้วยวิธีลอกคราบหลายครั้ง เมื่อเติบโตเต็มที่ก็จะลอกคราบครั้ง สุดท้ายออกมา แล้วดำรงตัวอยู่เป็นดักแด้ นับว่าเริ่มวงจรชีวิตขั้นที่ ๓ ระยะดักแด้นี้นับว่า เป็นระยะที่แปลกมาก ดักแด้จะพักนิ่ง ไม่เคลื่อนไหว ไม่กินอาหาร ถ้าเป็นผีเสื้อกลางคืนตัวหนอนผีเสื้อจะชักใยไหมให้เป็นปลอกห่อหุ้มตัวดักแด้นี้ไว้ แต่ดักแด้ของผีเสื้อกลางวันไม่สร้างรังไหมห่อหุ้มตัวเช่นนั้น ดักแด้ของผีเสื้อมักมีรูปร่าง และสีกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันอันตรายจากศัตรู เพราะเป็นระยะที่มันอยู่นิ่ง จัดว่า อ่อนแอ ไม่อาจต่อสู้ หรือหลบหลีกศัตรูได้


            ในระยะดักแด้ โครงสร้างต่างๆ ของตัวหนอนจะสลายตัวลง และแปรเปลี่ยนประกอบกันขึ้นเป็นตัวผีเสื้อ เมื่อผีเสื้อโตเต็มที่อยู่ภายในผนังลำตัว เราอาจมองเห็นสีของปีกได้ และผีเสื้อก็จะดันเปลือกดักแด้ให้แตกออก เข้าสู่ขั้นที่สี่ของวงจรชีวิต คือ กลายเป็นผีเสื้อในระยะตัวเต็มวัย หลังจากขยายปีกออกโตเต็มที่ ผึ่งปีกให้แห้งแข็งดีแล้ว ผีเสื้อก็จะบินออกหากินต่อไปได้

            เราอาจกล่าวได้ว่า ผีเสื้อมีความสวยงามยิ่งกว่าสัตว์ใดๆ

            ในประเทศไทยเราก็มีผีเสื้อกลางวันหลายชนิด ชีวิต และความเป็นอยู่ของมันเป็นสิ่งที่น่าสนใจ น่าติดตามศึกษาทีเดียว