เล่มที่ 4 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
ไวรัส
เล่นเสียงเล่มที่ 4 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ไวรัส
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            สิ่งมีชีวิต ย่อมมี เกิด (เพิ่มจำนวน) แก่ เจ็บ (ผิดปกติ) และตาย (หมดความสามารถในการเพิ่มจำนวน และเสื่อมสลาย)

            การเพิ่มจำนวนสิ่งมีชีวิตนั้น สิ่งมีชีวิตต้องใช้พลังงาน สิ่งที่มีชีวิตได้ พลังงานจากอาหาร

            ไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องเข้าไปอาศัยในสิ่งมีชีวิต เพื่อผลิตเพิ่มจำนวนไวรัส นอกจากนี้ไวรัสทำให้สิ่งมีชีวิตนั้นผิดปกติ ถ้าสิ่งมีชีวิตผิดปกติแต่น้อยก็ดูเหมือนปกติ ถ้าผิดปกติมากก็จะแสดงอาการเป็นโรค


            ไวรัสส่วนใหญ่ทำให้เกิดโรค ไวรัสมีขนาดเล็กมาก ตัวอย่าง เช่น โปลิโอไวรัส หากเรียงกันหนึ่งล้านตัว จะมีความยาวเพียง ๒.๕ มิลลิเมตร ไวรัสปากเท้าเปื่อย สองล้านห้าแสนตัว เรียงกันยาวประมาณ ๑ นิ้ว สำหรับไวรัสขนาดโต จะมีขนาด ๑๕๐ เท่าของไวรัสขนาดเล็ก การศึกษารูปร่างไวรัสจึงต้องใช้กล้องส่องขยายให้เห็นใหญ่ขึ้นถึงสามหมื่นเท่า กำลังขยายขนาดนี้ สามารถทำให้ไข่คางคกเห็นโตเท่าลูกปิงปอง ไวรัสมีหลายชนิด รูปร่าง ขนาด ต่างๆ กัน แต่ละชนิดทำให้เกิดโรคต่างๆ กันไป ตัวอย่างของโรคมนุษย์ ที่เกิดจากไวรัส ได้แก่ โรคหวัด อีสุกอีใส โรคโปลิโอ และคางทูม เป็นต้น

            ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในมนุษย์บางชนิดจะทำให้เกิดโรคเฉพาะในมนุษย์อย่างเดียว แต่บางชนิดก็ทำให้เกิดโรคได้ทั้งมนุษย์และสัตว์ ส่วนไวรัสบางชนิดทำให้เกิดโรคเฉพาะในสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่บางชนิดก็ทำให้เกิดโรคขึ้นได้ในสัตว์หลายชนิด มิหนำซ้ำบางชนิดยังอาจทำให้เกิดโรคติดต่อมาถึงมนุษย์ได้ด้วย เช่น โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ ไวรัสที่ทำให้เกิดโรค ในพืช มักทำให้เกิดโรคแต่เฉพาะพืชเท่านั้น ไม่ติดต่อมาถึงมนุษย์และสัตว์ด้วย เช่น ไวรัสของกล้วยไม้ทำให้ต้นกล้วยไม้เป็นโรค ไวรัสของแมลงจะทำให้แมลงเป็นโรค

            คนที่ป่วยเป็นโรคเนื่องจากไวรัสอาจทำให้ผู้อื่นติดโรคได้ ไวรัสอาจจะออกจากตัวผู้ป่วยทางลมหายใจ หรือทางน้ำลาย น้ำมูก หรืออาจออกไปทางอุจจาระ ปัสสาวะ ไวรัสอาจจะเข้าไปในร่างกายของ มนุษย์ได้หลายทางด้วยกัน เช่น ทางลมหายใจ ทางปาก ทางแผล หรือรอยถลอกของผิวหนัง และโดยการกัดของแมลง ยุง หรือเห็บ ที่มีเชื้อไวรัส

            แม้ว่าไวรัสจะทำอันตรายรุนแรงแก่มนุษย์ก็ตาม คนบางคนที่ได้รับเชื้อไวรัส มักจะมีอาการเล็กน้อย ทำให้เป็นอุปสรรคในการควบคุม โรคระบาด เพราะมนุษย์ที่มีอาการโรคอย่างอ่อนนี้ จะเป็นผู้ที่แพร่เชื้อไวรัสให้แก่ประชาชนได้อย่างง่ายดาย และกว้างขวาง โดยไม่รู้ตัว อย่างไรก็ดี เราสามารถนำไวรัส บางชนิดมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้เหมือนกัน โดยทำให้ไวรัสอ่อนกำลังลงจนไม่ทำให้เกิดอาการของโรค และเกิดการระบาดติดต่อแพร่ออกไป เพื่อใช้เป็นวัคซีนป้องกันโรคไวรัสนั้น เช่น วัคซีนโปลิโอ วัคซีนหัด วัคซีนไข้เหลือง วัคซีนฝีดาษ วัคซีนคางทูม วัคซีนหัดเยอรมัน

            ไวรัสที่เป็นคุณแก่มนุษย์ ได้แก่ ไวรัสที่ฆ่าแมลง และตัวบุ้งที่ทำลายพืช โดยไม่ทำให้มนุษย์หรือสัตว์เป็นโรค เป็นต้น