เล่มที่ 7
การชลประทาน
เล่นเสียงเล่มที่ 7 การชลประทาน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            การชลประทาน มีขนาดกิจการต่างๆ กัน ตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ ทั้งหมดมีจุดประสงค์ เพื่อการจัดหาน้ำ สำหรับการเพาะปลูก พื้นที่เพาะปลูกจะได้มีน้ำอย่างเพียงพอ ในเวลาที่พืชต้องการ ทำให้พืชเจริญงอกงามได้ดี และให้ผลผลิตสูงเต็มที่

ชาวนาวิดน้ำเข้านาด้วยโพง


            กิจการหรือวิธีการใดๆ ที่เรียกว่า การชลประทาน นั้น จะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบครบ ๓ ประการ คือ เป็นกิจการ ที่บุคคลจัดทำขึ้น เป็นกิจการที่จัดทำขึ้นเพื่อนำน้ำไปใช้ และใช้น้ำนั้นเพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูก

            แม่น้ำลำคลอง มีน้ำล้นตลิ่งในฤดูน้ำ จนไหลไปท่วมพื้นที่ข้างๆ จนเป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูก พื้นที่เพาะปลูกได้รับน้ำเอง จากปรากฏการณ์ของธรรมชาติ มิใช่เกิดจากการกระทำของบุคคล ไม่เป็นการชลประทาน กิจการประปาก็ไม่เรียกว่า การชลประทาน อีกเช่นกัน เพราะเป็นกิจการที่เราจัดทำขึ้น เพื่อนำน้ำไปใช้ทางด้านอุปโภคบริโภคเป็นส่วนใหญ่

หลุกยกน้ำขึ้น เพื่อการชลประทาน

            กิจการชลประทานที่มีขนาดเล็ก และเป็นชลประทานแบบง่ายๆ ได้แก่ เราใช้ถังตักน้ำไปรดต้นไม้ ชาวสวนวิดสาดน้ำรดต้นไม้ ด้วยภาชนะต่างๆ และชาวนาวิดน้ำเข้านาด้วยระหัด เป็นต้น กิจการชลประทานเหล่านี้ มีประโยชน์กับพื้นที่เพาะปลูกจำนวนไม่มากนัก

คลองส่งน้ำขนาดใหญ่

            กิจการชลประทานที่มีขนาดใหญ่ จะมีสิ่งก่อสร้างและอุปกรณ์ มากขึ้นได้แก่ การสร้างฝาย เพื่อทดน้ำให้มีระดับสูง จนสามารถไหลเข้าคลองส่งน้ำ และคูส่งน้ำได้เอง กระจายน้ำไปได้ทั่วพื้นที่เพาะปลูก หรือการสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ เพื่อเก็บน้ำไว้ จนเกิดเป็นอ่างเก็บน้ำ แล้วส่งน้ำผ่านอาคารควบคุมปริมาณน้ำที่เขื่อน ไปตามคลองส่งน้ำ และคูส่งน้ำ กระจายน้ำไปได้ทั่วพื้นที่เพาะปลูก กิจการขนาดนี้ อาจต้องใช้เงินลงทุนสูง แต่ก็มีประโยชน์ต่อพื้นที่เพาะปลูกจำนวนมาก

            วิธีทำการชลประทานมีหลักอยู่ว่า เราจะต้องยกน้ำ หรือทำให้น้ำจากแหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ฯลฯ มีระดับสูง ที่พอเหมาะ แล้วจึงนำหรือส่งน้ำนั้นต่อไปยังพื้นที่เพาะปลูกที่ต้องการ

            การยกน้ำให้สูงขึ้น เพื่อการชลประทาน มีอยู่ ๒ วิธี คือ

            ๑. ใช้เครื่องมือแ ละแรงประเภทต่างๆ ยกน้ำขึ้นโดยตรง ได้แก่ การใช้ภาชนะ หรือเครื่องมือต่างๆ เช่น ถัง โพง ระหัด หลุก และเครื่องสูบน้ำ ฯลฯ ตัด วิด สาด สูบ ด้วยแรงคน แรงลม แรงน้ำ แรงสัตว์ และแรงจากเครื่องยนต์ เป็นต้น

            ๒. โดยการสร้างอาคารขวางทางน้ำ

            การสร้างอาคารทดน้ำขวางทางน้ำ ระดับน้ำหน้าอาคารทดน้ำจะสูงกว่าพื้นที่เพาะปลูกที่จะส่งน้ำให้ ทำให้น้ำไหลออกไปยังพื้นที่เพาะปลูก ด้วยแรงดึงดูดของโลกได้

อ่างเก็บน้ำของเขื่อนปราณบุรี

            การทดน้ำด้วยอาคารทดน้ำดังกล่าวข้างต้นนั้น ในบางท้องที่อาจทำไม่ได้ผล เพราะแหล่งน้ำที่จะอำนวยให้ทำการทดน้ำได้นั้น ควรมีปริมาณน้ำไหลตามธรรมชาติเพียงพอกับความต้องการในฤดูกาลเพาะปลูก หากท้องที่ใดมีน้ำไหลมาตามธรรมชาติ มีปริมาณผันแปรไปตามฝน และฤดูกาลมากแล้ว ก็จะต้องมีวิธีการเก็บน้ำที่มีมากในฤดูฝนนั้นไว้ใช้เมื่อถึงคราวจำเป็น โดยการสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำปิดกั้นทางน้ำระหว่างหุบเขา หรือระหว่างเนินสูงเก็บน้ำไว้เป็นแหล่งน้ำถาวรสำหรับใช้งาน แหล่งเก็บน้ำนี้เรียกว่า "อ่างเก็บน้ำ" การจัดทำอ่างเก็บน้ำจะต้องจัดให้มีปริมาณน้ำมากพอกับความต้องการในฤดูกาลเพาะปลูก และมีระดับสูงกว่าพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนเก็บกักน้ำที่จะส่งน้ำไปให้ด้วย

การส่งน้ำให้ไร่ฝ้าย

            เมื่อยกน้ำให้สูงขึ้นได้ตามความต้องการแล้ว จึงจะส่งน้ำนั้นไปยังพื้นที่เพาะปลูกให้ทั่วถึงด้วยระบบส่งน้ำ ระบบส่งน้ำอาจประกอบด้วยคลองส่งน้ำต่างๆ กันหลายสาย พร้อมกับมีอาคารสำหรับบังคับ และควบคุมปริมาณน้ำในคลองด้วย หรือบางแห่งอาจจะมีระบบส่งน้ำเป็นท่อ เช่นเดียวกับท่อส่งน้ำประปาก็ได้

            พื้นที่เพาะปลูกแห่งใดก็ตามที่อยู่ในเขตโครงการชลประทาน ย่อมจะมีน้ำอุดมสมบูรณ์ การชลประทานจึงมีประโยชน์ต่อเกษตรกรในเขตโครงการชลประทานมาก จะเป็นหลักประกัน ไม่ให้เกิดการขาดแคลนน้ำ ระหว่างฤดูกาลเพาะปลูก และไม่ต้องเพาะปลูกโดยอาศัยธรรมชาติเป็นหลักอีกต่อไป