โรคทางอายุรศาสตร์มีมากมายหลายโรค เป็นได้กับทุกระบบของร่างกาย ในการรักษาโรคทางอายุรศาสตร์นั้น ก่อนอื่นแพทย์จะต้องรู้ก่อนว่า ผู้ป่วยเป็นโรคอะไร จึงจะสามารถรักษาได้อย่างถูกต้อง การรักษาเป็นไปตามลำดับขั้น ดังนี้
แพทย์ซักถามประวัติผู้ป่วย
เริ่มด้วย การถามประวัติของการเจ็บป่วยในปัจจุบัน ซึ่งได้แก่ อาการผิดปกติ ที่ทำให้ต้องมาพบแพทย์ ประวัติของการเจ็บป่วยในอดีต ประวัติการเจ็บป่วยของบุคคลในครอบครัว และประวัติส่วนตัวของผู้ป่วย
หลังจากนั้นแพทย์ก็จะตรวจร่างกาย มีการตรวจดูลักษณะทั่วไป และตรวจตามระบบต่างๆ ของร่างกาย การตรวจร่างกายนี้จะช่วยให้แพทย์ทราบว่า มีอะไรผิดปกติอยู่ที่ตำแหน่งหรือส่วนใด ของระบบใดในร่างกาย
แพทย์สืบค้นสาเหตุของโรค โดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
เมื่อตรวจร่างกายแล้ว ถ้าแพทย์ยังไม่ทราบว่า ผู้ป่วยเป็นโรคอะไร ก็จะดำเนินการขั้นต่อไป คือ ทำการสืบค้น ซึ่งได้แก่ การสืบค้นประจำ และการสืบค้นพิเศษ การสืบค้นประจำส่วนใหญ่เป็นการตรวจง่ายๆ ทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจปัสสาวะ ส่วนการสืบค้นพิเศษ คือ การสืบค้นเฉพาะโรค
เมื่อทำมาถึงขั้นนี้ แพทย์ก็อาจบอกได้ว่า ผู้ป่วยป่วยเป็นโรคใด และพร้อมที่จะทำการรักษาได้ ขั้นตอนทั้งหมดนี้ เรียกว่า การวินิจฉัยโรค
การป้องกันและรักษาโดยการให้ยา
การรักษา แยกได้เป็น การรักษาเฉพาะ คือ ให้ยา ซึ่งสามารถบำบัดโรคที่ทราบแน่นอนแล้ว การรักษาตามอาการ คือ การให้ยาระงับอาการ ซึ่งเป็นการช่วยทุเลาความทรมานชั่วคราว การรักษาประคับประคอง เป็นการเพิ่มความต้านทานตามธรรมชาติ ให้แก่ร่างกายผู้ป่วย การรักษาบรรเทาอาการ ใช้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง และจิตวิทยารักษา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีจิตใจ และอารมณ์ดีขึ้น
การป้องกัน ในทางการแพทย์ ถือว่า การป้องกันนั้นดีกว่าการรักษา แต่ถ้าเป็นโรคนั้นขึ้นแล้ว ก็ต้องรักษาและป้องกันพร้อมกันไป
โรคทางอายุรศาสตร์ อาจแบ่งตามระบบต่างๆ ได้ดังนี้ คือ
โรคระบบการหายใจ อาการของโรคระบบนี้ ได้แก่ ไอ ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก และหายใจลำบาก เป็นต้น
โรคระบบการหายใจที่พบบ่อย คือ ภาวะการหายใจวาย โรคหลอดลมอักเสบ ปัจจุบัน โรคปอดบวม และโรคมะเร็ง
โรคระบบทางเดินอาหาร อาการของโรคระบบนี้ ได้แก่ ปวดท้อง อาเจียน ท้องเดิน ท้องผูก และกลืนอาหารลำบาก เป็นต้น
โรคระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อย คือ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคแผลเพปติก มะเร็งกระเพาะอาหาร ภาวะตับวาย โรคตับแข็ง และโรคฝีในตับ
อวัยวะและระบบต่างๆ ภายในร่างกาย
โรคระบบประสาท อาการของโรคระบบนี้ ได้แก่ ชักและหมดสติ ปวดศีรษะ หมดสติหรือโคม่า เป็นลม อัมพาต ชาและเหน็บชา เป็นต้น
โรคระบบประสาทที่สำคัญ คือ โรคหลอดเลือดของสมอง และโรคเนื้อสมองตาย
โรคของต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม โรคในระบบนี้ที่พบบ่อย ได้แก่ โรคคอพอกสามัญ โรคคอพอกเป็นพิษ และโรคเบาหวาน เป็นต้น
โรคของไต โรคของไตที่พบบ่อย ได้แก่ ภาวะไตวายเฉียบพลัน การอักเสบของทางเดินปัสสาวะ กรวยไต และไตอักเสบเฉียบพลัน และกรวยไต และไตอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น
โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด อาการที่เห็นได้ชัด ได้แก่ อาการเขียวคล้ำที่บริเวณเนื้อเยื่อของร่างกาย เช่น ริมฝีปาก ลิ้น และเยื่อตาขาว อาการบวมตามบริเวณที่ต่ำของร่างกาย เช่น ที่เท้า นอกจากนี้ ยังมีความดันเลือดสูง ชีพจรเลือดแดงผิดปกติ ปลายนิ้วปุ้ม และเจ็บหน้าอก เป็นต้น
โรคระบบหัวใจ และหอลดเลือดที่พบบ่อย คือ ภาวะหัวใจวาย ไข้รูมาติกเฉียบพลัน โรคหัวใจรูมาติกเรื้อรัง โรคลิ้นไมทรัลรั่ว โรคของหลอดเลือดแดงโคโรนารี โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย และโรคความดันเลือดสูง
โรคของเลือด โรคของเลือดที่พบบ่อย คือ โรคเลือดจาง โรคเลือดออก และโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว