ระบบโครงกระดูก และกล้ามเนื้อทำหน้าที่เป็นโครงร่างในการทรงตัว ทำให้มนุษย์ยืนและเคลื่อนไหวได้ ถ้ากระดูกหักหรือเป็นโรค จะทำให้การทำหน้าที่เป็นโครงในการทรงตัวเสียไป จำเป็นต้องช่วยซ่อมแซมให้กระดูกติดกัน และมีความแข็งแรง รับน้ำหนักในการทรงตัวได้ดีเหมือนเดิม การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับกระดูกหัก หรือกระดูกที่เป็นโรค บางครั้งต้องใช้วิธีการผ่าตัดนำกระดูกมาเสริมให้ ทดแทนส่วนที่เสียไป กระดูกที่นำมาทดแทนในบางคนที่เป็นผู้ใหญ่ แพทย์สามารถผ่าตัดนำเอากระดูกจากส่วนของร่างกาย ที่ไม่ต้องรับน้ำหนักมากมาทดแทน เช่น กระดูกน่อง กระดูกเชิงกรานส่วนปีกเหนือสะโพก หรือส่วนปลายบนกระดูกหน้าแข้ง ในบางกรณี เช่น ในเด็กเล็ก กระดูกดังกล่าวนี้ ยังไม่เจริญพอที่จะให้แพทย์ผ่าตัดแบ่งนำมาใช้ทดแทนในส่วนที่เสียไปในร่างกายของผู้ป่วยเองได้ และแม้ในคนแก่ กระดูกอาจบางมากไม่มีเนื้อกระดูกพอที่จะนำไปใช้ได้ หรือในบางกรณีศัลยแพทย์ต้องการกระดูกจำนวนมากๆ เพื่อทดแทนในส่วนกระดูกที่มีขนาดใหญ่ๆ ได้ ปัญหาเหล่านี้จะแก้ไขได้ โดยการนำเอากระดูกจากผู้อื่น เช่น จากผู้เสียชีวิตใหม่ๆ ที่ไม่เป็นโรคร้าย หรือไม่เคยได้รับยาที่เป็นอันตรายบางอย่าง เช่น สารกัมมันตภาพรังสี และอายุไม่สูงมาก
กระดูกปลูก ตัดเป็นแผ่น ก่อนนำไปตัดเป็นชิ้นเล็กๆ และผ่านขบวนการทำให้แห้ง ภายใต้อุณหภูมิต่ำมาก
(กระดูกในภาพนี้ ได้จากกระดูกต้นขาที่หัก และได้รับการผ่าตัดเอาออก เพื่อใส่หัวกระดูกเทียม)
ในปัจจุบัน มีวิธีทำกระดูกสำหรับปลูกหลายวิธี ได้แก่ การใช้กระดูกสดจากผู้เสียชีวิตโดยตรง หรือวิธีที่ดีคือ การนำกระดูกสดไปแช่ในอุณหภูมิที่ต่ำมากคือ -๗๐ องศาเซลเซียส ทั้งนี้ เพื่อให้กระดูกปลูกมีคุณสมบัติที่ดีขึ้นในการนำไปใช้ เพื่อลดปฏิกิริยาต่อต้านจากร่างกายของผู้ป่วย วิธีที่นิยมกันมากในปัจจุบัน ได้แก่ การนำกระดูกสดไปทำให้แห้ง ภายใต้อุณหภูมิต่ำมากคือ -๗๐ องศาเซลเซียส โดยการขจัดเอาน้ำออกจากกระดูกจนปริมาณน้ำในกระดูกเหลืออยู่ไม่เกินร้อยละ ๕ ของน้ำหนัก นำไปบรรจุใส่ถุงหรือกล่องพลาสติก ผนึกด้วยความร้อนไม่ให้อากาศเข้าออกได้ แล้วนำไปฆ่าเชื้อ ด้วยการอบก๊าซเอทิลีนออกไซด์ (ethylene oxide) หรือฉายรังสี เพื่อฆ่าเชื้อบัคเตรี วิธีนี้สามารถเก็บกระดูกปลูกไว้ใช้ได้ เป็นเวลานาน ๑ ปี วิธีสุดท้ายได้แก่ การใช้ขบวนการเคมี แยกเอาแร่ธาตุแคลเซียมออกจากกระดูก และใส่สารเคมีบางอย่าง เพื่อช่วยให้ปฏิกิริยาต่อต้านจากร่างกายผู้ป่วยลดลง แต่วิธีนี้การจัดทำยุ่งยาก และสิ้นเปลืองวัสดุมาก อีกทั้งความแข็งแรงของกระดูกสูญเสียไปมาก จากการขจัดเอาแร่ธาตุออก วิธีที่ใช้ในประเทศไทยปัจจุบันได้แก่ วิธีที่ทำให้กระดูกแห้ง ภายใต้อุณหภูมิต่ำ และวิธีนำกระดูกสดมาแช่แข็ง ภายใต้อุณหภูมิต่ำมาก ซึ่งวิธีหลังนี้ สามารถจัดหากระดูกขนาดใหญ่ๆ ไว้ใช้ทดแทนส่วนของกระดูกที่เป็นโรคที่มีการสูญเสียขนาดใหญ่ได้ แต่ชนิดแห้งภายใต้อุณหภูมิต่ำนั้น มักจะเป็นกระดูกขนาดเล็ก
ในประเทศไทยได้มีการจัดทำกระดูก สำหรับใช้ปลูกในการผ่าตัดมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๒ และได้จัดตั้งเป็นหน่วยงาน ที่มีหน้าที่ผลิต และวิจัยผลการใช้ขึ้น ที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีชื่อว่า ศูนย์เนื้อเยื่อชีวภาพกรุงเทพฯ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา และเปิดทำการบริการทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ ศูนย์นี้มีกรรมการบริหารเป็นแพทย์ และมีนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันการแพทย์ต่างๆ ทั่วประเทศร่วมเป็นกรรมการ