เล่มที่ 17
การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์
เล่นเสียงเล่มที่ 17 การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            มนุษย์ชอบอยู่รอบกันเป็นกลุ่ม เพื่อจะได้พึ่งพาอาศัยกัน และทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน สิ่งที่จะทำให้มนุษย์ร่วมตัวกันก็คือ การใช้ภาษาเดียวกัน นับถือศาสนาเดียวกัน มีวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีที่คล้ายกัน

มุมซ้าย การทำประมง
มุมขวา มนุษย์จะเลือกตั้งถิ่นฐานที่มีสิ่งแวดล้อมเหมาะแก่การประกอบอาชีพเช่น การทำประมง

            ในอดีตการรวมตัวเป็นกลุ่มของมนุษย์ เพื่อตั้งถิ่นฐาน และสร้างบ้านเรือนนั้น จะมีลักษณะที่แตกต่างกัน คือ บางกลุ่มจะเลือกตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ที่เป็นป่า บางกลุ่มจะเลือกพื้นที่ใกล้แม่น้ำ หรือทะเล บางกลุ่มจะเลือกพื้นที่บนภูเขา มนุษย์ส่วนใหญ่จะเลือกตั้งถิ่นฐานในเขตที่ราบ ที่มีพื้นที่กว้างขวาง มีแหล่งน้ำและดินที่อุดมสมบูรณ์ หรือกล่าวโดยสรุปว่า การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอดีตนั้น แต่ละกลุ่มจะพิจารณาเลือกพื้นที่ที่มีสิ่งแวดล้อม เหมาะแก่การดำรงชีพ ที่ใดมีผลิตผลตามธรรมชาติอย่างเพียงพอ มีสภาพอากาศดี มีอุณหภูมิ และความชื้นที่เหมาะสม มีน้ำกินน้ำใช้สมบูรณ์ มนุษย์จะตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยกันหนาแน่น มากกว่าในพื้นที่ที่เย็นจัด ร้อนจัด หรือมีสภาพอากาศที่รุนแรง ซึ่งจะมีคนอาศัยอยู่เป็นจำนวนน้อย หรือไม่มีผู้คนอาศัยอยู่เลย

            การตั้งถิ่นฐานที่มนุษย์ต้องอาศัยผลิตผลจากธรรมชาตินั้น เป็นการตั้งถิ่นฐานที่ไม่ถาวร เพราะเมื่อใดที่ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป ไม่สามารถให้ผลิตผลเพียงพอต่อการดำรงชีพแล้ว มนุษย์จะอพยพย้ายถิ่นฐานเดิม ไปหาที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากกว่า

อุตสาหกรรมครัวเรือนอีกชนิดหนึ่งในนิคมสร้างตนเอง คือ การสานภาชนะต่าง ๆ

การตั้งถิ่นฐานแบบถาวรนั้นเริ่มขึ้น เมื่อมนุษย์รู้จักเพาะปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นอาหาร หรือไว้ขาย เพื่อมีรายได้มาใช้เลี้ยงชีพ

            ต่อมามนุษย์มีความรู้มากขึ้น จึงสามารถสร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้หลายอย่าง เพื่อให้การดำรงชีวิตมีความสะดวกสบายมากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น การสร้างบ้านเรือน โรงงานอุตสาหกรรม รถยนต์ และเครื่องทุ่นแรงต่างๆ

การทำสับปะรดกวนในนิคมสร้างตนเอง

            การที่มนุษย์มารวมกันเป็นกลุ่ม เพื่อตั้งถิ่นฐานนั้น เมื่อมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นๆ จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ถ้าหากมนุษย์รู้จักแต่จะใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการดำรงชีพ และไม่สนใจในการบำรุงดูแลรักษา จะทำให้ทรัพยากรธรรมชาติ มีแต่ความเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ ซึ่งจะมีผลต่อการประกอบอาชีพทางการเกษตรคือ ให้ผลิตผลไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพคนจำนวนมาก

            ดังนั้นความคิดในการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในปัจจุบัน จึงแตกต่างจากในอดีต ที่พิจารณาจากสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติเท่านั้น มาเป็นการพิจารณาว่า ในที่ใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นในชนบท หรือในเมือง ที่สามารถประกอบอาชีพ มีรายได้มาเลี้ยงครอบครัวได้แล้ว มนุษย์จะไปรวมตัวกันเป็นกลุ่มอยู่ ณ ที่นั้น เช่น ตามชานเมืองที่มีโรงงานอุตสาหกรรม จะมีการรวมกลุ่มคนเป็นจำนวนมาก เกิดเป็นชุมชนใหม่ขึ้น การตั้งถิ่นฐานในเมืองก็เช่นกัน มนุษย์จะเลือกที่อยู่อาศัย หรือสร้างบ้านเรือน ในบริเวณที่ใกล้สถานที่ที่จะประกอบอาชีพ ถ้าสามารถเลือกได้ ดังนั้นถ้าหากไม่มีการวางแผน การเติบโตของเมืองเป็นอย่างดีแล้ว ย่อมก่อให้เกิดปัญหาต่อการดำรงชีวิตได้ เช่น ปัญหามลพิษต่างๆ ปัญหาน้ำท่วม เป็นต้น

            ส่วนการตั้งถิ่นฐานในชนบทนั้น เนื่องจากชนบทมีพื้นที่กว้างขวางมาก การวางแผนทำได้ค่อนข้างยาก รัฐจึงได้จัดรูปแบบของการตั้งถิ่นฐานในชนบทเป็นหลายลักษณะ เช่น การจัดนิคมสร้างตนเอง การจัดปฎิรูปที่ดิน และการจัดหมู่บ้านสหกรณ์ เป็นต้น ประชาชนที่ไปรวมกลุ่มกันอยู่ในโครงการต่างๆ ที่ได้มีการวางแผนที่ดี ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว จะมีความสุขสบาย มีความสะดวกในการประกอบอาชีพ และจะไม่มีปัญหาใดๆ ที่รุนแรง จนทำให้ต้องอพยพ ไปหาที่ตั้งถิ่นฐานใหม่กันอีกต่อไป