เล่มที่ 17
ข้าวสาลี
เล่นเสียงเล่มที่ 17 ข้าวสาลี
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            ข้าวสาลีเป็นธัญพืชที่มีปริมาณของผลิตผลสูงที่สุด ในหมู่ธัญพืชด้วยกัน ความสำคัญของข้าวสาลีในด้านการใช้เป็นอาหารของมุนษย์ ได้มีมานานนับแต่สมัยโบราณแล้ว คนในซีกโลกตะวันตกถือว่า การมีข้าวสาลีให้บริโภคเป็นอารยธรรมขั้นสูงทีเดียว ปริมาณของข้าวสาลีที่ผลิตได้ในปีหนึ่งๆ ของซีกโลกนี้ ยังเป็นเครื่องชี้ถึงฐานะทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางการเมืองได้ด้วย

การปิ้งจาปาตีแบบพื้นบ้านของชาวอินเดีย ซึ่งทำจากแป้งข้าวสาลี

            ในสมัยหิน มุนษย์ใช้แผ่นหินเรียบๆ สองแผ่น บดเมล็ดข้าวสาลีให้เป็นแป้ง ซึ่งไม่ละเอียดดีนัก มนุษย์สมัยนั้นเอาแป้งสาลีหยาบๆ ผสมกับน้ำพอที่จะปั้นเป็นก้อนได้ แล้วเอาไปตากแดดจนแห้ง เพื่อใช้เป็นอาหาร สมัยต่อมา มนุษย์มีความสามารถในการประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ การเปลี่ยนรูปเมล็ดข้าวสาลีให้เป็นแป้งและอาหารก็ดีขึ้น ตามลำดับ เช่น มนุษย์รู้จักการหมักแป้งข้าวสาลีกับเชื้อยีสต์ ก่อนเอาไปเข้าเตาอบ ทำให้ได้ขนมปังที่ฟูและอร่อย นอกจากนี้มนุษย์ยังเติมสิ่งปรุงรสต่างๆ ลงไปในแป้งสาลี เช่น นม น้ำตาล ไข่ เนย และเครื่องเทศ ทำให้เราได้ขนมชนิดต่างๆ

การปิ้งจาปาตีแบบพื้นบ้านของชาวอินเดีย ซึ่งทำจากแป้งข้าวสาลี

            ข้าวสาลีไม่ใช้พืชพื้นเมืองของไทย การนิยมบริโภคข้าวสาลีของคนไทย เพิ่งเกิดขึ้นมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง ทั้งนี้เนื่องจากอิทธิพลของวัฒนธรรมการบริโภคแบบตะวันตก การทดลองปลูกข้าวสาลีในประเทศไทยได้เริ่มอย่างจริงจัง ในระยะหลังสงครามโลกครั้งนี้สอง และสามารถปลูกเป็นการค้าได้ในภาคเหนือ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๗ จนถึงปัจจุบัน

แปลงปลูกข้าวสาลี ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย


            พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวสาลี ควรเป็นที่ดอน ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์สูง ดินไม่เป็นกรด อากาศหนาวเย็น มีหมอกตกมาก ก่อนปลูกควรไถและคราดดินให้ละเอียด ปลูกโดยวิธีหว่านเมล็ดให้กระจายไป หยอดเมล็ดเป็นแถวห่างกัน ๒๐ เซนติเมตร หรือหยอดเมล็ดเป็นหลุมห่างกัน ๒๕ เซนติเมตร แล้วเกลี่ยดินกลบเมล็ดให้เรียบร้อย ใช้เมล็ดประมาณ ๑๕ กิโลกรัมต่อไร่

            ระยะเวลาปลูกข้าวสาลีที่เหมาะสมที่สุด สำหรับภาคเหนือของประเทศไทย คือ ระยะกลางเดือนตุลาคม จนถึงกลางเดือนพฤศจิกายน ข้าวสาลีจะเริ่มออกรวงประมาณต้นเดือนธันวาคม ระยะเก็บเกี่ยวข้าวสาลีจะตกอยู่ระหว่างเดือนมกราคม ถึงต้นเดือนมีนาคม เราเก็บเกี่ยวโดยใช้เคียวตัดรวง นวดเอาเมล็ดออกจากรวง โดยฟาดกับภาชนะที่สานด้วยไม้ไผ่ขนาดใหญ่ หรือนวดด้วยเครื่อง