เล่มที่ 17
ของเสียที่เป็นอันตราย
เล่นเสียงเล่มที่ 17 ของเสียที่เป็นอันตราย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            ของเสียที่เป็นอันตราย หมายถึง ของเหลือทิ้งจากการบริโภค หรือเป็นสิ่งของเสื่อมสภาพ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม แบ่งออก ได้เป็น ๗ ลักษณะ ได้แก่ เป็นสารพิษ เป็นของติดไฟง่าย เป็นกรดหรือด่าง ทำให้เกิดก๊าซพิษ หรือระเบิด เป็นสารกัมมันตรังสี และเป็นของมีเชื้อโรคปนเปื้อน

ผลกระทบจากการทิ้งของเสียที่เป็นอันตรายลงสู่ทะเล


            แหล่งที่มาของของเสียที่เป็นอันตรายมีหลายแหล่งด้วยกัน โรงงานอุตสาหกรรมเป็นแหล่งสำคัญที่สุด รองลงมานั้นคือ ชุมชน ซึ่งรวมโรงพยาบาลอยู่ด้วย และการเกษตรกรรม โรงงานอุตสาหกรรมอาจผลิตพวกสารพิษ สารไวไฟ สารกัดกร่อน โรงพยาบาลทิ้งของเหลือใช้ ที่ปนเปื้อนเชื้อโรค และการเกษตรกรรมปล่อยสารเคมีพวกยากำจัดแมลง ยากำจัดศัตรูพืชลงสู่แหล่งน้ำ หรือระเหยไปในบรรยากาศ

            เนื่องจากในทุกปีมีโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นเหตุให้เกิดของเสียที่เป็นอันตรายเพิ่มพูนมากขึ้นตามลำดับ ความรู้เกี่ยวกับการกำจัดของเสียเหล่านี้อย่างถูกต้อง จึงเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นเรื่องที่ทุกคนควรรู้

ถังบรรจุสารเคมีที่เสื่อมสภาพแล้ว

            ผลกระทบที่เกิดจากของเสียเหล่านี้ ต่อสิ่งแวดล้อมนั้นมีมาก นับตั้งแต่ก่อให้เกิดโรคเพียงเล็กน้อย เช่น โรคผิดหนัง โรคท้องเสีย ไปจนถึงโรคที่เป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต เช่น โรคมะเร็ง นอกจากนั้นยังทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ เป็นอันตรายต่อพืชและสัตว์ และทำให้ทรัยพ์สินเสียหาย

            อันตรายที่เกิดโดยตรงต่อมนุษย์ อาจเป็นโดยการสัมผัสโดยตรงทางผิวหนัง หรือสูดดมเข้าไป เช่น ในกรณีที่ของเสียเป็นพวกกรด ด่าง หรือยาฆ่าแมลง หรืออาจสะสมอยู่ในห่วงโซ่อาหาร แล้วถ่ายทอดกันไปเป็นทอดๆ จนถึงมนุษย์ เช่น ในกรณีที่ยาฆ่าแมลง ซึ่งตกค้างอยู่ในพืช ผัก ผลไม้ แล้วมนุษย์นำมารับประทาน โดยไม่ระมัดระวังเป็นต้น ส่วนอันตรายจากของเสีย ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ก็โดยทำให้ปนเปื้อนต่อแหล่งน้ำหรือเจือปนอยู่ในอากาศ ในรูปของไอหรือฝุ่นของสารเคมี หรือทำให้เกิดการระเบิด หรือไฟไหม้อย่างรุนแรง

ถ่านไฟฉายและแบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว เป็นของเสียที่เป็นอันตรายประเภทหนึ่ง

สารอันตรายร้ายแรงจากของเสียที่เราควรรู้จักไว้ ได้แก่ สารปรอท สารหนู สารตะกั่ว และสารแคดเมียม

สารปรอท

            เป็นสารเคมีซึ่งใช้กันมากในอุตสาหกรรม สารนี้ถ้าลงไปปนเปื้อนในแหล่งน้ำ จะเข้าไปสะสมอยู่ในปลาและสัตว์น้ำ ซึ่งจะส่งผลมายังคนที่บริโภค โดยทำให้เกิดโรคพิษจากสารปรอท เกิดโรคทางระบบประสาท ความจำเสื่อม ชัก ไม่สามารถควบคุมการทรงตัวไว้ได้ และถ้าบริโภคมาก ก็อาจทำให้ถึงตายได้

สารหนู

            ใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น ทำสี ทำวัตถุระเบิด สารหนู เป็นสารพิษที่มีอันตรายมากต่อร่างกาย ทำให้เป็นโรคทางผิวหนัง อัมพาต ตับไตเสื่อม และอาจทำให้ถึงตายได้

สารตะกั่ว

            ใช้มากในอุตสาหกรรมทำแบตเตอรี่รถยนต์ ทำสี ผสมในน้ำมันเบนซิน ผสมในยากำจัดศัตรูพืช สารนี้ทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า อาการแพ้พิษสารตะกั่ว เกิดโลหิตจาง มีอาการผิดปกติของประสาท เพ้อ คลั่ง ชัก และเป็นอัมพาต อาจทำให้ถึงตายได้ สารนี้อาจปนเปื้อนอยู่ในน้ำหรือระเหยเป็นไอ หรือเป็นฝุ่นตะกั่ว ปะปนอยู่ในอากาศ ซึ่งเป็นอันตรายมาก ถ้าสูดดมเข้าไป

สารแคดเมียม

            ใช้มากในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น อุตสาหกรรมชุมโลหะ ทำสี ยาง และพลาสติก สารแคดเมียมเป็นพิษต่อร่างกาย ทำให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินหายใจ โลหิตจาง เป็นโรคตับและลำไส้ ปวดกระดูก กระดูกเปราะ คนที่ได้รับสารนี้เข้าไปมาก หรือสะสมอยู่นานเข้า ก็จะทำให้มีรูปร่างผิดปกติ คดงอไป เนื่องจากแคดเมียมเข้าไปแทนที่แคลเซียมในกระดูก สารแคดเมียมอาจละลายปนเปื้อนอยู่ในน้ำ และในต้นข้าว ซึ่งใช้น้ำที่มีสารนี้ละลายปะปนอยู่

ซากแบตเตอรี่รถยนต์ซึ่งประกอบด้วยสารตะกั่ว

            การจัดการกับของเสียที่เป็นอันตราย ไม่ควรแก้ที่ปลายเหตุ เช่น ถ้าพบว่ามีสารตะกั่วอยู่ในอากาศถึงขีดอันตราย ไม่ควรจัดการเพียงให้สารตะกั่วหมดไปจากอากาศในบริเวณนั้นเท่านั้น แต่ต้องสืบสาวไปจนถึงต้นตอ แล้วจัดการแก้ไขให้เป็นระบบครบวงจร

            เริ่มต้นด้วยการปรับปรุงขบวนการผลิต โดยเปลี่ยนมาใช้ขบวนการที่ทำให้ของเสียที่เกิดขึ้นลดปริมาณลง อาจทำได้โดยเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบ โดยใช้เป็นสารที่มีอันตรายน้อย เปลี่ยนแปลงวัสดุ และขนาดของภาชนะหีบห่อ และเปลี่ยนแปลงขบวนการผลิต

การตรวจสอบคุณภาพน้ำในแม่น้ำลำคลอง

            ขั้นต่อไปได้แก่ การเก็บกัก และการขนส่ง การเก็บกัก หมายถึง การเก็บไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก่อนทำการขนส่ง การเก็บกักนิยมเก็บไว้ในถังที่ทำด้วยสาร ซึ่งแข็งแรงปลอดภัยเพียงพอ เช่น โลหะ พลาสติก ไฟเบอร์กลาสส์ และแก้วหรือถ้าของเสียมีเป็นจำนวนมาก ก็จำเป็นต้องเก็บไว้ในบ่อพัก ซึ่งบุพื้นและผนังโดยรอบ ด้วยวัสดุกันซึม ส่วนการขนส่ง เพื่อเคลื่อนย้ายไปทำลาย อาจทำได้ ทั้งโดยรถยนต์ เรือ หรือรถไฟ แต่ยานพาหนะนั้น จะต้องมีถังบรรทุกที่ปกปิดมิดชิด

            การบำบัด หรือทำลายฤทธิ์ของของเสียที่เป็นอันตราย เป็นขั้นตอนสำคัญอันดับถัดไป ทำโดยเปลี่ยนแปลงสารพิษ ที่เจือปนอยู่ ให้หมดความเป็นพิษ หรือมีพิษน้อยลง หรืออยู่ในลักษณะที่ไม่สามารถแสดงความเป็นพิษได้ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการกำจัด การบำบัด หรือทำลายฤทธิ์นี้ อาจทำได้หลายวิธี สุดแล้วแต่ชนิดของสารที่เป็นอันตราย ที่มีอยู่ในของเสีย

            ในบางกรณี เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว ของเสียบางอย่าง อาจนำมาใช้ทำประโยชน์ได้ เช่น นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในบขบวนการผลิตอื่น นำไปเผา เพื่อให้เกิดพลังงานความร้อน เอาไปทำให้ตกตะกอน เพื่อแยกสารที่ใช้ประโยชน์ได้ออกมา และอื่นๆ การนำกลับมาใช้ประโยชน์เช่นนี้ ถ้าทำได้ก็จะเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าที่สุด

            ขั้นตอนสุดท้ายของการจัดการของเสียที่เป็นอันตราย คือ การทำของเสียที่มีอันตรายไม่สูงนัก หรือของเสียที่ผ่านการทำลายฤทธิ์แล้ว ไปฝังไว้ในบริเวณ ซึ่งได้มีการออกแบบให้มีระบบป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพอนามัยของคนเราได้อีก