"อหิวาต์กำเริบ ล้างมือก่อนเปิบ ด้วยน้ำประปา ผักดิบผักสด งดเสียดีกว่า หากใช้น้ำท่า จงต้มเสียก่อน..."
เมื่อ ๖๐ หรือ ๗๐ ปีก่อน เด็กๆ จะคุ้นเคยกับบทท่องนี้กันแทบทุกคน เพราะเป็นบทที่นักเรียนทุกคนจะต้องท่องเป็นประจำ เนื่องจากในช่วงเวลานั้น อหิวาตกโรคกำลังระบาด ผู้คนเจ็บป่วยและเสียชีวิตกันเป็นจำนวนมาก ทางราชการจึงมีนโยบาย ให้โรงเรียนทั่วประเทศสอนให้เด็กๆ ท่องจำ และนำไปปฏิบัติที่บ้าน เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนและทุกคนในครอบครัว
ในอดีต เรายังไม่มีน้ำประปาใช้ เมื่อฝนตก ทุกบ้านจะต้องหาภาชนะต่างๆ เช่น โอ่ง ตุ่ม ไว้รองรับน้ำฝน ถ้าใครมีบ้านอยู่ใกล้แม่น้ำลำคลอง ก็จะใช้น้ำในการทำความสะอาดร่างกายและเสื้อผ้าของใช้ ส่วนน้ำฝนก็เก็บไว้ดื่มกิน สมัยนั้น ในอากาศยังไม่มีมลพิษ ทุกคนจึงดื่มน้ำฝนได้อย่างสนิทใจ เพราะน้ำฝนที่บริสุทธิ์มีรสจืดสนิทและอร่อย ถ้าได้ลอยดอกมะลิ (ซึ่งยังไม่มียาฆ่าแมลง) ด้วยแล้ว น้ำฝนจะหอมและมีรสอร่อยชื่นใจยิ่งนัก
วิถีการดำรงชีวิตของคนไทยในสมัยต่างๆ มีความผูกพันกับสายน้ำ เช่น ในสมัยสุโขทัย มีแหล่งน้ำสายสำคัญ คือ น้ำแม่รำพัน ที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวเมืองสุโขทัย เมื่อประชากรมีจำนวนเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องกักเก็บน้ำไว้ใช้และดื่มกิน วิธีกักเก็บน้ำ ของชาวสุโขทัย ได้แก่ สร้างตระพังรับน้ำ สร้างทำนบ (สรีดภงส์) สร้างบ่อน้ำ และทำท่อส่งน้ำ สมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ ก็เช่นเดียวกัน แต่ละสมัย ก็จะมีวิธีกักเก็บน้ำแตกต่างกันไป
ต่อมาน้ำในแม่น้ำลำคลองหรือจากบ่อที่ชาวบ้านขุดขึ้นเอง เริ่มจะมีมลพิษ เข้ามาปะปน ซึ่งอาจมาจากโรงงาน การทิ้งขยะ หรือการขับถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะลงในน้ำ ทำให้น้ำเต็มไปด้วยเชื้อโรคนานาชนิด เมื่อประชาชนนำมาใช้ก็อาจเจ็บป่วย และติดต่อกัน กลายเป็นโรคระบาด การใช้น้ำจากแม่น้ำลำคลองหรือที่เรียกกันว่า น้ำท่า (คู่กับน้ำฝน) จึงต้องผ่านขั้นตอนการทำให้สะอาด ปราศจากมลพิษหรือเชื้อโรค น้ำที่ผ่านขั้นตอนดังกล่าวถือว่าเป็นน้ำที่สะอาดปลอดภัย ใช้ดื่มกินได้ แต่บางบ้านก็ยังต้มซ้ำอีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัยจริง
น้ำที่ผ่านขั้นตอนการทำให้สะอาดนี้มีชื่อเฉพาะว่า "น้ำประปา" จัดว่าเป็นน้ำที่สะอาดและปลอดภัยกว่าน้ำจากแม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนอง บึง หรือจากบ่อน้ำที่ขุดขึ้นเพื่อนำน้ำจากใต้ดินมาใช้ที่เรียกกันว่า บ่อบาดาล
กิจการน้ำประปาเกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่เสด็จฯ เยือนประเทศ ในทวีปยุโรป ได้ทรงศึกษากิจการบ้านเมืองของชาวตะวันตก ซึ่งรวมถึงการจัดการเกี่ยวกับเรื่องการกักเก็บน้ำไว้ใช้อย่างละเอียด ทรงตระหนักดีว่า กำลังของบ้านเมืองย่อมเกิดจากประชาชนที่มีสุขภาพอนามัยที่ดี และทรงห่วงใยประชาชนที่ต้องเสียชีวิตไป ด้วยโรคภัยไข้เจ็บอันเกิดจากการดื่มน้ำและการปรุงอาหารด้วยน้ำที่ไม่สะอาด จึงทรงตราพระราชกำหนดสุขาภิบาลขึ้น และตั้งกรมสุขาภิบาล โดยโปรดเกล้าฯ ให้จ้างช่างผู้ชำนาญวิชาช่างจากต่างประเทศเข้ามาเป็นนายช่างสุขาภิบาล และคิดค้นวิธีทำน้ำให้สะอาดและปลอดภัย