เล่มที่ 39 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
การศึกษาของสงฆ์
เล่นเสียงเล่มที่ 39 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ การศึกษาของสงฆ์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            “... จึงเห็นพ่อนี้แลประเสริฐเลิศกว่าบุคคลทั้งหมด พ่อได้ออกบวชอุปสมบทครั้งนี้ เชิญเทพยดาทุกราศีมาช่วยป้องกัน สรรพอันตราย อย่าได้ให้มากล้ำกรายบังเกิดมี  ให้สำเร็จในการพิธีบรรพชากิจ เหมือนหนึ่งวาจาข้าพเจ้าประสิทธิไว้ในครั้งนี้ ให้ลั่นฆ้องเข้าสามที โห่ร้องอวยชัย ฯ ...”
(จากบททำขวัญนาค  ท่านวัดถนน  แต่ง)


            เสียงทำขวัญนาค เสียงฆ้อง และเสียงโห่ดังมาจากหมู่บ้าน แสดงว่า มีพิธีเตรียมบวชบุตรชายที่อายุถึง ๒๐ ปีแล้ว เป็นพระภิกษุ ในพระบวรพุทธศาสนา


            การบวชเรียนเป็นหน้าที่ของชายไทย ถือว่าเป็นการสนองพระคุณ ของบิดามารดาประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง  การที่ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย และพระพุทธธรรม เป็นการฝึกอบรมตนให้เป็นคนดี

            แต่เดิมมายังไม่มีการจัดการศึกษาสำหรับพระเณรอย่างเป็นระบบ วัดใดมีพระสงฆ์ที่ทรงความรู้เชี่ยวชาญทางด้านใด ก็จะถ่ายทอดวิชานั้น แก่ศิษย์ด้วยวิธีการสอนของตนเอง ดังตัวอย่างจากวรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน เมื่อเณรแก้วไปเรียนวิชา กับสมภารคง ที่วัดแค จังหวัดสุพรรณบุรี ได้เรียนวิชาสะกดทัพจับพล ผูกพยนต์ กำบังตน สะเดาะโซ่ตรวน และตำราพิชัยสงคราม


            ต่อมาการศึกษาของพระสงฆ์มีรูปแบบมากขึ้น พระสงฆ์ได้เรียนภาษาบาลี และพระปริยัติธรรม ผู้ที่เรียนสำเร็จตามหลักสูตร ได้เป็นนักธรรม ตรี โท เอก และเปรียญตรี โท เอก

            ปัจจุบันระบบการศึกษาของพระสงฆ์มีหลักสูตร และกระบวนการเรียนการสอน ถึงระดับอุดมศึกษา  ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยสงฆ์ ๒ แห่ง คือ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง เป็นแหล่งความรู้ ทางพระพุทธศาสนา เปิดโอกาสให้ภิกษุสามเณร รวมถึงคฤหัสถ์ที่ใฝ่ธรรม ได้ศึกษาเล่าเรียน จนถึงระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต  มหาวิทยาลัยสงฆ์ได้ขยายการจัดการศึกษาไปทั่วประเทศ และนานาประเทศ