เล่มที่ 17
โรคตับอักเสบจากไวรัส
เล่นเสียงเล่มที่ 17 โรคตับอักเสบจากไวรัส
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ลักษณะอาการของโรคตับอักเสบ

            โรคตับอักเสบ หมายถึง โรคที่เซลล์ของตับมีการอักเสบเกิดขึ้น ตับที่อักเสบจะบวมโต ผู้ป่วยมีอาการเจ็บแน่นบริเวณตับ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย ผู้ป่วยบางรายมีไข้ต่ำ คลื่นไส้ และอาเจียน ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการตัวเหลือง และตาเหลืองเกิดขึ้นตามมา จากนั้นอาการต่างๆ จะทุเลาลง ผู้ป่วยเข้าสูงระยะพักฟื้น ซึ่งอาจกินเวลานานหลายสัปดาห์ หรือเป็นเดือน กว่าจะหายเป็นปกติ

การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ

            โรคตับอักเสบที่มีระยะเวลาการดำเนินโรคเป็นเวลาไม่นาน ผู้ป่วยทุเลาอาการ และหายขาดภายในเวลาไม่เกิน ๖ เดือน จัดเป็นโรคตับอักเสบชนิดเฉียบพลัน ส่วนโรคตับอักเสบที่มีการดำเนินโรคนานกว่า ๖ เดือน จัดเป็นโรคตับอักเสบชนิดเรื้อรัง

            อาการของผู้ป่วยโรคตับอักเสบจากสาเหตุต่างๆ มักคล้ายคลึงกัน จากอาการที่แสดง และการตรวจร่างกาย แพทย์ไม่สามารถบอกสาเหตุของโรคได้แน่ชัด จำเป็นต้องอาศัยห้องแล็บ หรือห้องปฎิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ตรวจเลือด ดูหน้าที่การทำงานของตับ และการตรวจที่บอกสาเหตุของโรคได้แน่ชัด คือ การตรวจทางห้องปฎิบัติการไวรัส เพื่อหาแอนติเจน และ/หรือแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสต้นเหตุ การทราบถึงตัวเชื้อต้นเหตุ มีประโยชน์ในแง่ของการวินิจฉัยความรุนแรงของโรคในผู้ป่วย เช่น ถ้าเป็นตับอักเสบเอ จะมีโอกาสหายขาดได้ แต่ถ้าเป็นตับอักเสบบี อาจจะหายขาด หรืออาจจะกลายเป็นพาหนะเรื้อรังก็ได้ นอกจากนี้การทราบถึงตัวเชื้อต้นเหตุ ยังช่วยเป็นแนวทางในการดูแลป้องกันผู้ใกล้ชิด และผู้สัมผัสโรคอีกด้วย

ภาพถ่ายจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนของเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด เอ และชนิด บี

ตับอักเสบเอ

            เชื้อไวรัสตับอักเสบเอเข้าสู่ร่างกาย โดยการรับประทานอาหาร ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ ผู้ติดเชื้อประมาณหนึ่งในสามเท่านั้น ที่แสดงอาการโรคตับอักเสบชนิดเฉียบพลัน ผู้ใหญ่มักมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็ก และเมื่อหายจากการติดเชื้อแล้ว โดยไม่ว่าจะเกิดอาการของโรคหรือไม่ก็ตาม ก็จะหายขาด ไม่มีภาวะการเป็นพาหะของโรคติดตามมาภายหลัง เกิดภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต จะไม่เป็นโรคตับอักเสบเอ อีก

            เชื้อไวรัสตับอักเสบเอ ถูกขับออกมาในอุจจาระตั้งแต่ ๒ สัปดาห์ ก่อนและหลังแสดงอาการดีซ่านเป็นแหล่งแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นต่อไป อาจตรวจพบไวรัสในเลือดได้ในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น เชื้อจึงไม่แพร่สู่ผู้อื่นโดยการถ่ายเลือด การตรวจจำเพาะนำไปสู่การวินิจฉัยว่า เป็นโรคไวรัสตับอักเสบเอ คือ การตรวจเซรุ่ม แล้วพบแอนติบอดีชนิดไอจีเอ็มต่อแอนติเจนของเชื้อไวรัส ส่วนการตรวจหาอนุภาคของไวรัสในอุจจาระ โดยใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ไม่เป็นที่นิยมทำกัน เนื่องจากวิธีการช้าและไม่สะดวก

ภาพถ่ายจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนของเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด เอ และชนิด บี

ตับอักเสบบี

            เชื้อไวรัสสตับอักเสบบี พบได้ในสารน้ำ และสารคัดหลั่งต่างๆ ของร่างกายได้แก่ เลือด น้ำนม น้ำลาย น้ำอสุจิ และเมือกในช่องคลอด เชื้อไวรัสตับอักเสบบีจึงติดต่อได้โดยทางเข็มฉีดยา หรือของมีคมที่เปื้อนเลือด ทางเพศสัมพันธ์ และติดต่อจากมารดามายังทารก โดยเฉพาะในระยะคลอด หรือติดต่อในระยะเลี้ยงดูหลังคลอด วิธีการเช่นนี้ เป็นวิธีเดียวกับการติดต่อแพร่เชื้อของไวรัสโรคเอดส์

            ผู้ติดเชื้อตับอักเสบบีบางรายไม่แสดงอาการ บางรายแสดงอาการของโรคตับอักเสบอย่างเฉียบพลัน ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะทุเลา และหายภายใน ๔-๖ สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนน้อยเป็นโรครุนแรง จนถึงแก่ชีวิต และผู้ป่วยบางรายกลายเป็นโรคตับอักเสบบี เรื้อรัง อย่างไรก็ดี ผู้เป็นตับอักเสบบีเรื้อรังบางราย อาจไม่เคยแสดงอาการชนิดเฉียบพลันเลย หรือมีเพียงอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ และเจ็บตับมาก่อนเท่านั้น ผู้เป็นพาหะมีความเสี่ยงต่อการเป็นตับแข็ง และมะเร็งตับตามมา

            การวินิจฉัยโรคตับอักเสบ บี ทำได้โดยการตรวจหาแอนติเจนของเชื้อไวรัส ในเลือดของผู้ติดเชื้อ แอนติเจนชนิดนี้มีชื่อเรียกว่า เฮปาไตติสบี เซอร์เฟสแอนติเจน หรือเอชบีเเอสแอนติเจน ปัจจุบันนี้ธนาคารเลือดทุกแห่ง ต้องตรวจคัดเลือกเลือด ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีทิ้ง ไม่นำไปให้กับผู้ป่วยอื่นๆ
เชื้อไวรัสตับอักเสบบี พบได้มากในประเทศไทย พบว่าเป็นพาหะเรื้อรัง โดยไม่แสดงอาการ มีในผู้ชายไทยประมาณร้อยละ ๑๐ และในผู้หญิงไทยประมาณร้อยละ ๕ ในปัจจุบันมีวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีออกใช้ วัคซีนนี้เตรียมจากเอชบีเอสแอนติเจน ที่สกัดจากพลาสมาของผู้เป็นพาหะ หรือเตรียมจากยีสต์ โดยวิธีการทางพันธุวิศวกรรม

โรคไวรัสตับอักเสบพบได้ในคนทุกอายุ แต่พบบ่อยในเด็กโตและหนุ่มสาว

ตับอักเสบชนิดไม่ใช่เอ ไม่ใช่บี

            หลังจากที่การศึกษาเกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบเอและบีก้าวหน้าไปมากมาย มีการตรวจคัดเลือด ที่มีเอชบีเอสแอนติเจนออกไป ไม่นำไปใช้ แต่ก็ยังพบผู้ป่วยตับอักเสบ ภายหลังการรับเลือดเกิดขึ้นได้บ่อยๆ ผู้ป่วยเหล่านี้ตรวจไม่พบว่า มีการติดเชื้อทั้งไวรัสตับอักเสบเอและบี จึงเรียกว่า โรคตับอักเสบชนิดไม่ใช่เอ ไม่ใช่บี

            การศึกษาทางระบาดวิทยา ร่วมกับงานทางห้องปฏิบัติการ ในระยะต่อมาได้พบว่า เชื้อตับอักเสบชนิดไม่ใช่เอ ไม่ใช่บี น่าจะเป็นเชื้ออย่างน้อยสองชนิด ชนิดแรก ติดต่อโดยทางรับเลือด หรือผลิตภัณฑ์เลือด หรือเข็มฉีดยาที่มีเชื้อ เช่นเดียวกับไวรัสตับ-อักเสบบี ให้ชื่อว่า ไวรัสตับอักเสบซี ส่วนชนิดที่สองติดต่อจากการรับประทานอาหาร ที่มีเชื้อปนเปื้อน เหมือนกับไวรัสตับอักเสบเอ และให้ชื่อว่า ไวรัสตับอักเสบอี

ตับอักเสบซี

            ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ หรืออาการที่เกิดขึ้นไม่รุนแรง จนต้องรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล โรคตับอักเสบที่เกิดขึ้นภายหลังการถ่ายเลือดในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี

            ผู้ติดเชื้อตับอักเสบซี บางรายกลายเป็นพาหะเรื้อรัง เกิดตับแข็ง และมะเร็งตับตามมา

การวินิจฉัยโรคตับอักเสบซี ในปัจจุบันทำได้โดยตรวจคัดว่า ไม่ใช่โรคตับอักเสบเอ และตับอักเสบบี และตรวจจำเพาะ โดยการทดสอบหาแอนติบอดีของเชื้อไวรัสตับอักเสบซี

ตับอักเสบดี

            ไวรัสตับอักเสบดี เป็นไวรัสที่ไม่สมบูรณ์ กล่าวคือ ไม่สามารถติดเชื้อเพิ่มจำนวนในเซลล์ตับได้โดยลำพัง จะต้องติดเชื้อร่วมกับตับอักเสบบี แล้วจึงจะมีการเพิ่มจำนวนของไวรัส ทั้งตับอักเสบดีและบี ดังนั้นไวรัสตับอักเสบดี จึงมีวิธีการติดต่อ เช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบบี

            การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดี ร่วมกับไวรัสตับอักเสบบี อาจเป็นการติดเชื้อร่วมพร้อมกัน หรือเป็นการติดเชื้อตับอักเสบดีซ้ำเติม ในผู้ที่เป็นพาหะติดเชื้อไวรัสตับอีกเสบบีอยู่ก่อนแล้ว เชื้อตับอักเสบดี ทำให้เกิดโรคตับอักเสบรุนแรงกว่าเชื้ออื่นๆ และอาจมีการติดเชื้อเรื้อรัง แล้วกลายเป็นตับแข็งได้ในอัตราค่อนข้างสูง

            การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี จะป้องกันการติดเชื้อตับอักเสบดีได้ด้วย

ตับอักเสบอี

            ไวรัสตับอักเสบอี ติดต่อโดยการรับประทานอาหาร หรือน้ำดื่ม ที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อน มีรายงานการระบาดในหลายประเทศ เช่น พม่า เนปาล ปากีสถาน อินเดีย รัสเซีย ฯลฯ ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาวถึงวัยกลางคน ถ้าโรคนี้เกิดขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ จะมีอัตราการตายสูงถึงร้อยละ ๒๐ ยังไม่พบว่า ไวรัสตับอักเสบอี ทำให้เกิดการติดเชื้อชนิดเรื้อรัง และยังไม่ทราบว่า ทำให้เกิดการติดเชื้อ โดยไม่ปรากฏอาการหรือไม่ ในปัจจุบันยังไม่มีน้ำยา ที่จะใช้สำหรับการวินิจฉัยโรคตับอักเสบอี ออกจำหน่าย การวินิจฉัยโรคทางห้องปฏิบัติการ ยังกระทำกันในเชิงวิจัยเท่านั้น