เล่มที่ 20
จิตรกรรมไทยแบบประเพณี
เล่นเสียงเล่มที่ 20 จิตรกรรมไทยแบบประเพณี
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            ภูมิปัญญาและฝีมือของช่าง เขียนไทยแต่โบราณนั้น สะท้อนแนวความคิด และเรื่องราวทางพุทธศาสนา กิจกรรมทางสังคม และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ภาพจิตรกรรมประเภทนี้ เป็นศิลปะ ที่ช่างไทยสร้างสรรค์สั่งสม สืบทอด ปรับปรุงกันมาหลายชั่วอายุคน จนเป็นศิลปะ ที่มีระเบียบงดงาม มีความชัดเจนแนบเนียน จนกลายเป็นจิตรกรรมไทยแบบประเพณี ปรากฏให้เห็นทั่วไปในภาพจิตกรรมฝาผนังของโบสถ์และวิหาร



จิตรกรรม ไทยแบบประเพณี :

จิตรกรรมในพุทธศาสนา

            เข้าใจกันว่า จิตรกรรมไทยแบบประเพณี เริ่มเกิดขึ้นในประเทศไทยมา ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๐ - ๑๑ ตั้งแต่อารยธรรมอินเดียแพร่หลายเข้ามาสู่ประเทศไทย ก่อให้เกิดวัฒนธรรมทวาราวดี มีการสร้างงานประติมากรรมเล่าเรื่องในพุทธศาสนา เช่น สร้างพระพุทธรูปสลักหิน หรือใช้ปูนปั้น ซึ่งปรากฏให้เห็นอยู่ เชื่อว่า ยังมีงานจิตรกรรมด้วย แต่ไม่ปรากฏหลักฐาน โดยคาดว่า งานจิตรกรรมคงชำรุด เสียหายไปหมดแล้ว เพราะงานจิตรกรรมเขียนด้วยวัสดุไม่คงทน อาจถูกแดด ถูกฝน ทำลายชะล้างไปสิ้น

            การมีสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ทั้งกับเพื่อนบ้านใกล้เคียง และกับประเทศอื่นๆ ที่อยู่ห่างไกล ทำให้มีการถ่าย - รับอิทธิพลทางด้านจิตรกรรม เช่น ในสมัยสุโขทัย ประเทศไทยมีการติดต่อทางพุทธศาสนากับพม่าและลังกา จิตรกรรมของไทยจึงได้รับอิทธิพลจากพม่าและลังกาอยู่บ้าง แต่ก็ยังคงรักษาลักษณะของไทยเอาไว้ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยติดต่อค้าขายกับจีน จิตรกรรมไทยก็รับอิทธิพลของจิตรกรรมจีนไว้เป็นอันมาก ต่อมาเมื่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชไมตรีกับประเทศตะวันตก จิตรกรรมไทยแบบประเพณีก็ได้รับอิทธิพลของประเทศตะวันตกไว้มากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสาระเรื่องราวที่นำมาเขียนภาพ หรือแนวการเขียนภาพแบบตะวันตก

ลักษณะ ของจิตรกรรมไทยแบบประเพณี

            จิตรกรรมไทยแบบประเพณีมีลักษณะสำคัญ ๓ ประการ ประการหนึ่ง คือ การระบายสีเรียบ อีกประการหนึ่ง คือ การตัดเส้น เพื่อแสดงรูปร่าง และแสดงรายละเอียดของภาพ งานตัดเส้นนี้ถือว่า มีความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะแสดงฝีมือเชิงช่างแล้ว ยังสะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับระดับของสังคมอีกด้วย เช่น การเขียนภาพพระราชา เจ้านาย และบ่าวไพร่ จะมีกฏเกณฑ์ในการแสดงภาพแตกต่างกัน การตัดเส้นแสดงภาพพระราชา จะต้องให้ดูอ่อนช้อย แต่สง่างาม ราวกับสมมติเทพ เครื่องทรงของพระองค์ก็เขียนอย่างประณีต ปิดทองตัดเส้นอย่างงดงาม

            ประการสุดท้ายคือ การมีรูปลักษณ์อย่างอุดมคติกึ่งสมจริง เช่น ภาพพระพุทธเจ้า จะเป็นภาพผสมผสานของลักษณะสมจริงกับพุทธลักษณะ อันเป็นอุดมคติ ที่ระบุไว้ในคัมภีร์ จิตรกรรมไทยแบบประเพณีมักจะเน้นพุทธบารมี โดยเขียนเป็นกรอบประภามณฑลรอบพระวรกาย หรือกรอบรอบพระเศียร หรือพระรัศมีมีรูปเปลวเหนือพระเศียร แม้การแสดงภาพพระราชาให้ดูสง่างามราวกับสมมติเทพ ก็เป็นความพยายาม ที่จะแสดงลักษณะอุดมคติกึ่งสมจริง ในจิตรกรรมไทยแบบประเพณีเช่นกัน


การจัดวางภาพ

            ช่างเขียนไทยมีวิธีการจัดวางภาพได้แนบเนียนยิ่งนัก กล่าวคือ ท่านเรียงลำดับ ภาพเหตุการณ์ก่อน - หลังตามเนื้อเรื่อง คั่นแต่ละฉากแต่ละตอนด้วยภาพทิวทัศน์ เช่น ต้นไม้ หรือบ้านเรือน ช่างเขียนสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ประดิษฐ์กรอบรูปสามเหลี่ยมที่ขอบหยักเป็นฟันปลาเรียกว่า "สินเทา" เพื่อแบ่งฉาก ทำให้เน้นแต่ละฉากได้ชัดเจนงดงามมากขึ้น

การ สร้างจิตรกรรมฝาผนังของช่างไทยสมัยโบราณ

            ก่อนอื่นช่างต้องเตรียมผนังให้มีพื้นผิวเรียบ และต้องไม่ดูดสีที่ระบาย ขั้นต้นช่างหมักปูนขาวที่จะฉาบผนังไว้ราว ๓ เดือน หรือนานกว่านั้น ระหว่างนั้นจะต้องหมั่นถ่ายน้ำ จนความเค็มของปูนลดน้อยลง จึงนำปูนหมักมาผสมกับน้ำอ้อยเคี่ยว ที่เหนียวประดุจน้ำผึ้ง และกาวจากยางไม้ หรือจากหนังสัตว์ ช่างบางท่านร่อนทรายละเอียดผสมด้วย ส่วนผสมทั้ง ๔ นี้ จะทำให้ปูนฉาบแข็งเหนียว และมีผิวเรียบเป็นมัน

เมื่อปูน ฉาบแห้งสนิทแล้ว ให้ชโลมผนังด้วยน้ำต้มใบขี้เหล็ก เพื่อให้ผนังลดความเป็นด่าง เพราะด่างอาจทำปฏิกิริยากับสีบางสี เช่น ทำสีแดงให้จางซีด

วิธีทดสอบว่า ผนังยังมีความเป็นด่างอยู่หรือไม่ ช่างโบราณใช้ขมิ้นขีด หากสีเหลืองของขมิ้นเปลี่ยนเป็นสีแดง แสดงว่า ผนังยังมีความเป็นด่างอยู่ ต้องชะล้างด้วยน้ำต้มใบขี้เหล็กต่อไปอีก

ความเป็นอยู่ของชาวบ้านริมน้ำ จิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณาราม บางกอกน้อยกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ ๓

            เมื่อเตรียม ผนังพร้อมแล้ว จะต้องทารองพื้นก่อนการเขียนภาพ ส่วนผสมของรองพื้นประกอบด้วย ดินสอพองบดละเอียด หมักในน้ำ กรองสิ่งสกปรกออกให้หมด แล้วจึงทับน้ำให้ดินสอพองหมาด นำมาผสมกับกาว ที่ได้จากน้ำต้มเม็ดในของมะขาม เมื่อรองพื้นแห้งแล้ว จึงขัดให้เรียบก่อนเขียนภาพ

สีที่ใช้เขียนภาพ ช่างโบราณเตรียมจากธาตุแร่ เช่น สีดำได้จากเขม่าถ่านของไม้เนื้อแข็ง สีเหลือง สีนวลได้จากดินธรรมชาติ สีแดงได้จากดินแดง สีทองได้จากแผ่นทองคำเปลว ช่างไทยใช้สีแดง เหลือง เขียว คราม ขาว ดำ เป็นหลัก ผสมกันเกิดเป็นสีอื่นๆ ได้อีก

การตัดเส้นแสดงรูปร่างและรายละเอียดของเครื่องประดับ จิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯสมัยกรุงรัตนสินทร์ตอนต้น

น้ำผสมสีใช้น้ำผสมกาวที่เตรียมจากหนังสัตว์ หรือกาวกระถิน ผสมไว้ในภาชนะเล็กๆ เช่น โกร่งหรือกะลา เมื่อใช้ไปสีแห้ง ก็เติมน้ำ ใช้สากบดฝนให้กลับเป็นน้ำสี นำมาใช้งานได้อีก

            หากต้องการให้ภาพแวววาวประดุจทอง ช่างจะใช้ทองคำเปลวปิดส่วนนั้น ก่อนปิดทอง ต้องทากาว ที่ทำจากต้นรัก หรือยางต้นมะเดื่อ เมื่อปิดทองแล้ว ช่างมักตัดเส้นด้วยสีแดง หรือสีดำ เพราะทั้ง ๒ เส้นนี้ ช่วยขับสีทองให้เปล่งประกายได้ดีกว่าสีอื่นๆ


ภาพพุทธประวัติตอนพระพุทธบิดาส่งทูตมาเชิญเสด็จและตอนแสดงปาฏิหาริย์ ท่ามกลางพระประยูรญาติวัดราชสิทธาราม บางกอกใหญ่กรุงเทพฯ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

            พู่กันที่ช่างใช้ระบายสี นั้น มีหลายขนาด หากใช้ตัดเส้น ช่างใช้พู่กันขนาดเล็ก ซึ่งช่างนิยมเรียกว่า พู่กันหนวดหนู ทั้งๆ ที่ทำจากขนหูวัว หากใช้ระบายพื้นที่ขนาดใหญ่ ช่างใช้แปรงทำจากรากต้นลำเจียก หรือทำจากเปลือกต้นกระดังงา โดยนำมาตัดเป็นท่อน ให้พอเหมาะกับความต้องการใช้ นำไปแช่น้ำให้อ่อนนุ่ม เพื่อจะได้ทุบปลายข้างหนึ่งให้แตกเป็นฝอย ใช้เป็นขนแปรงได้ สำหรับจิตรกรรมสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ช่างคิดประดิษฐ์วิธีเขียนใบไม้เป็นกลุ่ม เป็นพุ่ม ด้วยการ "กระทุ้ง" คือ ใช้แปรงแตะสีหมาดๆ แล้วแตะแต้มให้เกิดเป็นกลุ่มหรือพุ่มใบไม้ตามต้องการ

ช่างเขียน

            ก่อนที่จะมีระบบโรงเรียนฝึกช่างเขียนนั้น ผู้ที่รักจะเป็นช่างเขียน จะต้องฝากตัวเป็นศิษย์ในสำนักของช่างเขียน ที่อาจจะเป็นพระภิกษุ หรือฆราวาส ศิษย์จะต้องปรนนิบัติรับใช้ครู พร้อมๆ กับฝึกเขียนภาพไปด้วย ครูแต่ละสำนักต่างก็มีลักษณะ และกลวิธีการเขียนภาพเฉพาะของตน อย่างที่เรียกกันว่า "สกุล ช่าง"

สีฝุ่น

            นอกจากช่างท้องถิ่น ซึ่งมีฝีมือและลักษณะต่างๆ กัน ตามสกุลช่างของตนแล้ว ยังมีช่างหลวงจากราชสำนักอีกด้วย ช่างหลวงนี้มีระเบียบแบบแผน ในการเขียนภาพของตน เป็นที่ยอมรับนับถือว่า เป็นงานจิตรกรรมที่ประณีตงดงาม งานของช่างหลวง จึงมักมีอิทธิพล ต่อการเขียนภาพของช่างท้องถิ่นเสมอ


            ผลงานของช่างเขียนจิตรกรรมไทยแบบประเพณี ส่วนมากมักปรากฏเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์และวิหาร เป็นภาพแบบอุดมคติกึ่งสมจริง จำลองแนวคิด ความศรัทธาในพุทธศาสนา อีกทั้งยังสอดแทรกกิจกรรมทางสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน จากจิตรกรรมไทยแบบประเพณีนี้ นอกจากจะให้เราตระหนักถึงภูมิปัญญา และฝีมือของช่างไทยแล้ว ยังให้ความรู้เชิงประวัติศาสตร์ อันมีค่ายิ่งแก่อนุชนรุ่นต่อๆ มาด้วย


พู่กัน