เล่มที่ 20
เลเซอร์
เล่นเสียงเล่มที่ 20 เลเซอร์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            เลเซอร์เป็นแหล่งกำเนิดแสงแบบโคฮีเร้นท์ กล่าวคือ คลื่นแสงเลเซอร์มีความพร้อมเพรียง เคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้แสงเลเซอร์มีลักษณะเป็นลำแสงพุ่งไปได้ไกล มีความเข้มสูง มีสีเดียว เพราะมีค่าความยาวคลื่นคงที่ สำหรับเลเซอร์ชนิดหนึ่งๆ คุณสมบัติเหล่านี้ เกิดขึ้นจากกลไกการเกิดแสงเลเซอร์ ซึ่งอาศัยการเร้าให้เกิดจากการเปล่งแสงด้วยโฟตอน ที่มีพลังงานตายตัว และเกิดการป้อนกลับ เพื่อขยายจำนวนโฟตอนนั้นให้มีมากขึ้น ด้วยแควิตี้แสง ที่ทำจากกระจกสะท้อนแสง ที่วางขนานกัน ทำให้โฟตอนมีการสะท้อนกลับไปกลับมา และเร้าให้เกิดโฟตอนเพิ่มขึ้น จนสามารถเอาชนะความสูญเสียในระบบพุ่งออกเป็นแสงเลเซอร์ ที่ทรงพลังในที่สุด

การใช้เลเซอร์ประกอบการแสดงนิทรรศการ

            เลเซอร์มีหลายชนิด ทั้งที่มีขนาดใหญ่ เช่น เลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์ จนถึงเลเซอร์ขนาดเล็กจิ๋ว เช่น เลเซอร์ไดโอด ที่ทำจากสารกึ่งตัวนำ กำลังแสงของเลเซอร์จึงมีตั้งแต่รุนแรงมากเป็นเทราวัตต์ (๑๐๑๒ วัตต์ = ล้านล้านวัตต์) ใช้เป็นอาวุธ หรือตัวกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์แบบฟิวชั่นได้ จนถึงกำลังแสงต่ำไม่เป็นอันตราย มีหน่วยเป็นไมโครวัตต์ (๑๐-๖ วัตต์ = ๑/ล้านวัตต์) ซึ่งมีในเครื่องใช้ไฟฟ้าสมัยใหม่หลายชนิด แสงเลเซอร์มีสีต่างๆ กัน ตามชนิดของเลเซอร์ บางครั้งเป็นแสงที่ตามองไม่เห็น เช่น แสงอินฟาเรด และแสงอัลตราไวโอเลต วัสดุที่ใช้ทำตัวกลางเลเซอร์นั้น อาจเป็นได้ทั้งของแข็ง ของเหลว ก๊าซ และสารกึ่งตัวนำ

เครื่องเสียงคอมแพคดิสก์

            เลเซอร์มีประโยชน์ใช้งานกว้าง ได้แก่ ใช้เจาะตัด เชื่อมวัสดุ ที่ต้องการความแม่นยำ และคมชัด ใช้ผ่าตัด ทั้งทางการแพทย์ทั่วไป และจักษุแพทย์ ใช้ในงานสื่อสารโทรคมนาคมผ่านเส้นใยแก้วนำแสง ใช้ทำภาพสามมิติ ใช้ในอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งที่ใช้ในบ้านและสำนักงาน เช่น เครื่องเสียงคอมแพคดิสก์ เครื่องเล่นวิดีโอเลเซอร์ดิสก์ เครื่องถ่ายเอกสาร และเครื่องพิมพ์แบบเลเซอร์ ตลอดจนการใช้แสงเลเซอร์ เพื่อใช้อ่านบาร์โค้ดในร้านสรรพสินค้าอาหาร และศูนย์การค้าต่างๆ เลเซอร์ยังมีการใช้ เพื่อวัดระยะทาง ปฏิบัติงานด้านการสำรวจ ตลอดจนงานก่อสร้าง และเครื่องมือวัดนานาชนิด ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ด้วย