เล่มที่ 20
เสียงและมลภาวะทางเสียง
เล่นเสียงเล่มที่ 20 เสียงและมลภาวะทางเสียง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            เสียงคือ คลื่นความดันที่เคลื่อนที่ไปในอากาศ คลื่นเสียงเป็นคลื่นตามยาว เคลื่อนที่ไปในอากาศ โดยที่อากาศไม่ได้เคลื่อนที่ตามไปด้วย อากาศเพียงแต่สั้นไปมา เมื่อมีเสียงเดินทางผ่านไปเท่านั้น

            เสียงอาจเคลื่อนที่ไปในของเหลว เช่น น้ำ หรือของแข็ง เช่น เหล็ก ได้เช่นเดียวกับเมื่อเคลื่อนที่ไปในอากาศ คลื่นเสียงเคลื่อนที่ไปในเหล็กได้เร็วกว่าเคลื่อนที่ไปในอากาศถึงสิบห้าเท่า และเคลื่อนที่ไปในน้ำเร็วกว่าเคลื่อนที่ในอากาศสี่เท่า
            อวัยวะสำหรับรับฟังเสียงของเราคือ หู ซึ่งแบ่งเป็นสามส่วน เรียกชื่อว่า หูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน เมื่อคลื่นเสียงเคลื่อนที่มาถึงหูของเรา ใบหูจะทำหน้าที่รวบรวมคลื่นเสียงไว้ แล้วส่งเข้าไปทางช่องหู ซึ่งมีความยาวประมาณหนึ่งนิ้ว เมื่อเข้าไปถึงแก้วหู คลื่นเสียงจะทำให้แก้วหูสั่น การสั่นสะเทือนถูกส่งถ่ายทอดไปตามกระดูกเล็กๆ สามชิ้น มีชื่อว่า กระดูกรูปค้อน กระดูกรูปทั่ง และกระดูกรูปโกลน มีกลไกทำหน้าที่ปกป้องเสียงที่ดัง และเป็นคันโยกปล่อยเสียงเข้าไปสู่หูชั้นใน จากหูชั้นใน คลื่นเสียงจะเปลี่ยนเป็นสัญญาณไฟฟ้าไปสู่สมอง ซึ่งจะทำให้สมองรับรู้เป็นเสียง

            เสียงแบ่งออกได้เป็นสองชนิด คือ เสียงธรรมดา และเสียงรบกวน เสียงธรรมดาเป็นเสียงที่มีความยาวคลื่นเป็นระเบียบ จึงทำให้รื่นหูผู้ฟัง หรือเสียงที่เราต้องการสื่อสารกัน แต่เสียงรบกวน ทำให้เราเดือดร้อนรำคาญ เช่น เมื่อโยนหนังสือลงบนพื้น ขณะที่หนังสือตกกระทบพื้น จะทำให้อากาศสั่นสะเทือนอย่างไม่เป็นระเบียบ ทำให้ตกใจ หรือดังเกินไป จนเรารู้สึกไม่ชอบ

            เสียงรบกวนอาจเป็นเสียงดัง หรือเสียงค่อยก็ได้ เสียงพลุเป็นเสียงรบกวนชนิดเสียงดัง ส่วนเสียงน้ำหยดดังติ๋งๆ จากก๊อก เป็นเสียงรบกวนชนิดค่อย ซึ่งแม้จะค่อยมาก แต่ก็อาจทำให้เราเดือดร้อนรำคาญได้มากเช่นกัน
เสียงพลุ ซึ่งเป็นเสียงรบกวนชนิดเสียงดัง
เสียงพลุ ซึ่งเป็นเสียงรบกวนชนิดเสียงดัง
            เราวัดระดับเสียง และระดับของความดัง เป็นเดซิเบล เสียงที่ดังไม่เกิน ๖๐ เดซิเบล เป็นเสียงที่ฟังได้สบาย เสียงดังระหว่าง ๖๐ ถึง ๘๐ เดซิเบล จัดว่า เป็นเสียงดัง เสียงที่ดังเกินกว่า ๘๐ เดซิเบล ถือว่า เป็นเสียงที่ดังมาก ซึ่งอาจทำลายสุขภาพได้ จากการทดลองพบว่า ถ้าเราต้องฟังเสียงดังมากอยู่นานๆ จะทำให้หูหนวก ไม่สบาย และเป็นโรคทางประสาทได้

            เสียงรบกวนที่ทำให้เดือดร้อนรำคาญ อาจเกิดขึ้นได้จากการก่อสร้าง การจราจรทางถนน เสียงเครื่องบิน การจราจรทางรถไฟ และจากโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนเสียงรบกวนที่ดังมากที่สุดภายในอาคาร ได้แก่ เสียงในดิสโกเธค

            เสียงรบกวนที่เกิดจากการก่อสร้าง ถ้าเป็นโครงการก่อสร้างขนาดเล็ก เช่น เสียงที่เกิดจากการสร้างหรือซ่อมอาครที่พักอาศัย เพียงหนึ่งหรือสองหลัง ไม่ทำให้เกิดปัญหามากนัก เพราะเสียงเหล่านี้จะหยุดไปในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน แต่ถ้าเป็นเสียงรบกวนจากการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ เช่น อาคารสูงหลายสิบชั้น ซึ่งต้องใช้เวลากว่าหนึ่งปี หรือหลายปี ก็อาจทำให้เป็นอันตรายต่อหูได้
เสียงรบกวนจากเครื่องบิน
เสียงรบกวนจากเครื่องบิน
            เสียงรบกวนที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญมากที่สุด คงจะได้แก่ เสียงจากการจราจรทางถนน เพราะสามารถแผ่กระจายเข้าไปสู่สภาพแวดล้อมได้ง่าย ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญต่อเนื่อง เข้าสู่บ้านเรือน ศูนย์การค้า สำนักงาน และสถานที่ทำงานต่างๆ ที่อยู่ใกล้แหล่งกำเนิดเสียง

            เสียงเครื่องบินทำความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ผู้มีที่อยู่อาศัยใกล้สนามบิน เสียงเครื่องบินไอพ่นขณะบินขึ้น เป็นเสียงที่ดังมาก วัดค่าความดังของเสียงได้ถึง ๑๓๐ เดซิเบล เสียงจากเครื่องบินตอนกลางวัน ทำลายสมาธิในห้องเรียน ส่วนเสียงในตอนกลางคืน ทำให้ผวาตื่นจากหลับ

            เสียงดังภายในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งดังติดต่อกันตลอดทั้งวันทั้งคืน เป็นอันตรายมาก ต่อผู้ที่ทำงานอยู่ภายในโรงงานนั้น เพราะอาจทำให้หูเสื่อม หรือหูหนวกได้ ผู้ที่ทำงานอยู่ในโรงงาน ซึ่งมีเสียงดังมาก ควรสวมเครื่องป้องกันหู เพื่อป้องกันมิให้หูหนวก
ห้องบันทึกเสียงที่มีผนังทำด้วยวัสดุพรุนเพื่อใช้ดูดเสียง
ห้องบันทึกเสียงที่มีผนังทำด้วยวัสดุพรุนเพื่อใช้ดูดเสียง
            ภายในอาคารเสียงดังรบกวนที่มีค่าสูงสุด คือ เสียงดนตรีในดิสโกเธค ซึ่งมีค่ากว่า ๑๐๐ เดซิเบล และอาจเป็นอันตรายต่อหู ทำให้หูหนวกได้

            การควบคุมเสียงรบกวนทำได้สามวิธีคือ

            (๑) ควบคุมที่แหล่งกำเนิดเสียง
            (๒) ปรับทางเดินของเสียง และ
            (๓) ป้องกันหูของผู้ฟัง

            การควบคุมแหล่งกำเนิดของเสียง ทำได้โดยใช้วัสดุดูดเสียง เช่น กระเบื้องเนื้อพรุนกรุผนัง หรือเพดานของแหล่งกำเนิดเสียง

            การปรับทิศทางเดินของเสียง ทำได้โดยการหันทิศทางของเสียงจากแหล่งกำเนิดเสียง ให้เสียงเดินทางไปทางอื่น ซึ่งมิใช่พื้นที่รับเสียง หรือใช้กำแพงกั้นเสียงระหว่างแหล่งกำเนิด และผู้รับเสียง กำแพงกั้นเสียงอาจเป็นกำแพงชนิดธรรมดา สิ่งก่อสร้าง หรือขอบคันดินก็ได้

            ส่วนการป้องกันหูของผู้ฟัง ควรใช้เครื่องครอบหู หรือจุกเสียบหู วิธีนี้ใช้ได้ดีกับผู้ทำงานในโรงงาน ที่มีเสียงดังมากๆ หรือผู้ทำงานในสนามบิน