วรรณคดีมรดกคือ หนังสือที่บรรพบุรุษของเราได้รจนาขึ้นอย่างประณีตงดงาม ทั้งร้อยแก้ว และร้อยกรอง แสดงความรู้สึกนึกคิดของท่านด้วยภาษาไทยที่มีศิลปะ นับว่า เป็นมรดกวัฒนธรรมการใช้ภาษาของชาติ สมควรที่ลูกหลานไทย จะรักและหวงแหนไว้ให้อยู่คู่กับประเทศชาติตลอดไป
ท่านผู้รู้แบ่งสมัยของวรรณคดีมรดกของไทย ออกเป็น ๔ สมัย คือ สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์
สมัยสุโขทัย (ประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐ - ๑๘๙๕)
ในสมัยนี้มีวรรณคดีมรดกที่สำคัญ เช่น ศิลาจารึกหลักที่ ๑ พ่อขุนรามคำแหง และไตรภูมิพระร่วง
ศิลาจารึกหลักที่ ๑ พ่อขุนรามคำแหง เป็นร้อยแก้ว จารึกลงบนแท่งศิลารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า บรรยายพระราชประวัติ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เรื่องธรรมเนียมนิยมของชาวสุโขทัย และอาณาเขตของกรุงสุโขทัย อาจกล่าวได้ว่า ศิลาจารึกหลักนี้ เป็นหลักฐานอย่างแรกที่แสดงการนำอักษรไทยมาใช้เขียนภาษาไทย
ส่วน ไตรภูมิพระร่วง นั้น พญาลิไท หรือพระมหาธรรมราชาที่ ๑ กษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น โดยทรงรวบรวมเรื่องราวทางศาสนาจากคัมภีร์โบราณถึง ๓๐ คัมภีร์ เล่าว่า สัตว์โลกทั้งหลายย่อมเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภูมิทั้ง ๓ คือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ มนุษย์ที่ทำกรรมดีอาจไปเกิดในแดนที่มีความสุขสบาย แต่ถ้าทำกรรมชั่วก็จะไปเกิดในแดนนรก ได้รับความทุกข์ทรมาน เช่น คนขายของโกงตาชั่ง เมื่อตายแล้ว จะตกนรก ยมบาลเอาคีมหนีบลิ้นดึงออกมา เกี่ยวด้วยเบ็ดเหล็กที่ลุกเป็นไฟไม่มีวันดับ
สมัยอยุธยา (ประมาณ พ.ศ. ๑๘๙๓ - ๒๓๑๐)
กรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานีของไทยยาวนาน ประมาณ ๔๑๗ ปี มีวรรณคดีมรดกหลายเรื่อง ที่ลูกหลานไทย สมควรรักษาไว้อย่างภาคภูมิใจ เช่น ลิลิตยวนพ่าย ลิลิตพระลอ สมุทรโฆษคำฉันท์ โคลงกำสรวล และกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ เป็นต้น
ลิลิตยวนพ่าย เป็นร้อยกรองประกอบด้วย ร่ายดั้น และโคลงดั้นบาทกุญชร มีชั้นเชิงการใช้ภาษาสูงมาก กวีนิพนธ์เรื่องนี้ เป็นพงศาวดารเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อครั้งทรงทำสงครามชิงหัวเมืองฝ่ายเหนือ คืนจาก พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์เมืองเชียงใหม่
ส่วน ลิลิตพระลอ เป็นวรรณคดีท้องถิ่นไทยภาคเหนือ กล่าวถึงความรัก ที่มีอุปสรรคของพระลอกับพระเพื่อนพระแพง ซึ่งทั้ง ๓ คนยึดมั่นในความรัก จนถึงกับยอมแลกด้วยชีวิต บทประพันธ์ใช้ภาษาที่เรียบง่าย สะเทือนอารมณ์ การแต่งถูกต้องตามรูปแบบฉันทลักษณ์ ถือเป็นตัวอย่างของโคลงสี่สุภาพที่มีการบังคับเสียงวรรณยุกต์ เอก ๗ โท ๔ เช่น
อเสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหล ลืมตื่น ฤาพี่
สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือ
สมุทรโฆษคำฉันท์ เป็น "ยอดแห่งคำประพันธ์ประเภทฉันท์" รูปแบบของการประพันธ์ประกอบด้วยฉันท์และกาพย์ วรรณคดีมรดกเรื่องนี้ มีผู้ประพันธ์ถึง ๓ ท่าน เริ่มต้นจาก พระมหาราชครูรับกระแสพระราชดำรัสจาก สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ท่านแต่งได้เกือบจบตอนที่ ๒ ก็ถึงแก่อนิจกรรม สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงทรงพระราชนิพนธ์ต่อ แต่ก็ยังไม่จบ ทิ้งร้างไว้ จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงพระนิพนธ์ต่อจนจบ ครบทั้ง ๔ ตอน เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๒
สมุทรโฆษคำฉันท์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการผจญภัยที่สนุกสนานตื่นเต้นของพระสมุทรโฆษ และนางพินทุมดี ที่ได้พระขรรค์วิเศษพาเหาะไปเที่ยวยังที่ต่างๆ ได้ ต่อมา พระขรรค์ถูกลักไป ทั้งสองต้องพลัดพรากจากกัน ต่างผจญภัย
การเห่เรือ ใช้ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค
อนิรุทธคำฉันท์ เป็นบทประพันธ์ที่ยอดเยี่ยมเรื่องหนึ่งของศรีปราชญ์ ผู้เป็นกวีเอกคนหนึ่ง ในแผ่นดิน สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระอนิรุทธเป็นพระนัดดาของพระกฤษณะ ผู้ทรงเป็นนารายณ์อวตาร วันหนึ่งพระอนิรุทธบรรทมหลับใต้ต้นไทร พระไทรจึงอุ้มพระอนิรุทธไปสมกับนางอุษา ธิดาของพระยายักษ์พานาสูร พระยายักษ์จับตัวพระอนิรุทธเอาไว้ได้ พระกฤษณะต้องยกกองทัพมาช่วยพระนัดดา พระยายักษ์จึงไปขอให้พระศิวะช่วย เพราะสู้พระกฤษณะไม่ได้ และต้องยอมให้พระอนิรุทธ และนางอุษา ได้ครองรักกันอย่างมีความสุข
นอกจากนี้ ยังมีวรรณคดีมรดกสมัยอยุธยาอีกหลายเรื่องที่มีคุณค่ามาก เช่น โคลงกำสรวล ซึ่งกวีได้บรรยายอารมณ์เศร้าที่ต้องพลัดพรากจากผู้เป็นที่รักได้อย่างซาบซึ้ง กินใจยิ่งนัก ซึ่งกวีในสมัยหลังถือเป็นแบบฉบับ สำหรับการประพันธ์นิราศ เช่น พระยาตรัง แต่งโคลงนิราศตามเสด็จลำน้ำน้อย และนายนรินทรธิเบศ (อิน) แต่โคลงนิราศนรินทร์ บทเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์
เป็นวรรณคดีมรดกสมัยอยุธยาที่ลูกหลานไทยภาคภูมิใจมากอีกเรื่องหนึ่ง อันที่จริง เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ทรงพระนิพนธ์บทร้อยกรองไว้หลายเรื่อง แต่ บทเห่เรือของพระองค์ได้รับการยกย่องว่า เป็นบทพระนิพนธ์ที่ดีที่สุด เพราะมีรูปแบบแปลกใหม่ คือ ทรงแบ่งเนื้อเรื่องออกเป็นตอนๆ แต่ละตอน นำด้วยโคลงสี่สุภาพ ๑ บท แล้วแต่งกาพย์ขยายความ ลักษณะการประพันธ์เช่นนี้เรียกว่า กาพย์ห่อโคลง
สมัยธนบุรี (พ.ศ. ๒๓๑๐ - ๒๓๒๕)
แม้สมัยนี้จะมียะยะเวลาสั้นเพียง ๑๕ ปี แต่ก็มีวรรณคดีมรดกต่อเนื่องมาจากกรุงศรีอยุธยา และสือเนื่องไปยังกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น ลิลิตเพชรมงกุฎ ที่หลวงสรวิชิต หรือเจ้าพระยาพระคลัง (หน) รจนาไว้
จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ จากพระระเบียงรอบวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
สมัยรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๒๕ - ปัจจุบัน)
ระยะเวลากว่า ๒๐๐ ปี นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๒๕ ที่ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ได้ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ กวีได้รังสรรค์วรรณคดีมรดกไว้เป็นจำนวนมาก เช่น พระราชนิพนธ์บทละครเรื่องราวเกียรติ์ ฉบับรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น เพื่อใช้ในพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๒๘ - ๒๓๒๙) เนื้อเรื่องเกี่ยวกับการทำสงครามระหว่างพระรามกับทศกัณฐ์ เรื่องรามเกียรติ์นี้ มักใช้ประกอบการแสดงโขน ซึ่งเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงอย่างหนึ่งของไทย
ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ บทละครเรื่องอิเหนา ทรงนำพงศาวดารชวามาร้อยกรองเป็น บทละครที่ไพเราะมาก เช่น บทกลอนตอนที่นางจินตะหราตัดพ้ออิเหนา เมื่ออิเหนาลาจากไปทำศึกช่วยกรุงดาหา ซึ่งเป็นเมืองของนางบุษบา ดังนี้
"แล้วว่าอนิจจาความรัก พึ่งประจักษ์ดั่งสายน้ำไหล
ตั้งแต่จะเชี่ยวเป็นเกลียวไป ที่ไหนเลยจะไหลคืนมา
สตรีใดในพิภพจบแดน ไม่มีใครได้แค้นเหมือนอกข้า
ด้วยใฝ่รักให้เกินพักตรา จะมีแต่เวทนาเป็นเนืองนิตย์"
นอกจากนี้ เรายังมี บทเสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน บทเสภาเป็นกลอนชนิดหนึ่งที่ใช้ขับ เพื่อความบันเทิง นักเลงกลอนตั้งแต่สมัยอยุธยานิยมกันมาก
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส (พ.ศ. ๒๓๓๓ - ๒๓๙๖) ทรงพระนิพนธ์ ลิลิตตะเลงพ่าย เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทย
นิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี ของสุนทรภู่ เป็นวรรณคดีมรดกอีกเรื่องหนึ่ง ที่นิยมอ่านกันอย่างแพร่หลาย คำกลอนของสุนทรภู่นั้น มีความไพเราะ เพราะมีทั้งสัมผัสนอก และสัมผัสใน ทำให้ฟังรื่นหู นอกจากนี้ยังแทรกคติคำสอนเตือนใจ เช่น กลอนในตอนที่พระฤาษีสอนสุดสาคร หลังจากที่สุดสาครถูกชีเปลือยหลอกพาไปผลัก ตกเหว ดังนี้
"แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน"