เล่มที่ 24
เมืองหลวงเก่าของไทย
เล่นเสียงเล่มที่ 24 เมืองหลวงเก่าของไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
เมืองเชียงใหม่

            เชียงใหม่เป็นเมืองหลวงของแคว้นล้านนา ตั้งอยู่บริเวณที่ราบเชิงดอยสุเทพ และอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย

จิตรกรรมฝาผนังภาพชาวพื้นเมืองล้านนา ที่มา : วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่

            พระเจ้ามังราย คือ กษัตริย์องค์แรกที่รวบรวมเมืองต่างๆให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วมาสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ เป็นศูนย์กลางของแคว้น

            เมืองสำคัญคือ หริภุญไชย หรือลำพูน ซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจดั้งเดิมแถบลุ่มแม่น้ำปิง ก่อนที่พระเจ้ามังรายจะเข้าครอง

            เมื่อพระเจ้ามังรายสิ้นพระชนม์ กษัตริย์ล้านนาองค์ต่อๆมา ได้ย้ายไปประทับที่เมืองเชียงราย และเชียงแสน อันเป็นดินแดนเดิมของพระเจ้ามังราย จนถึง พ.ศ. ๑๘๗๗ จึงได้ย้ายกลับมาประทับที่เมืองเชียงใหม่ ทำให้เมืองเชียงใหม่กลับมาเป็นศูนย์กลางอีกครั้งหนึ่ง

            เมืองเชียงใหม่มีความเจริญ ร่ำรวยจากการค้าขายแลกเปลี่ยนกับดินแดนที่อยู่รอบๆ และมีความรุ่งเรืองทางพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ดังมีโบราณวัตถุ และโบราณสถานปรากฏให้เห็นมากมาย

            แคว้นล้านนาเริ่มเสื่อมลงเมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๘ เนื่องจากมีการแย่งชิงราชสมบัติ พม่าสามารถเข้ายึดเมืองได้ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๑ หลังจากนั้น แคว้นล้านนาก็เกิดการแตกแยก ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เนื่องจากศัตรูจากภายนอกรุกราน และการแย่งชิงอำนาจกันเองระหว่างเจ้าเมืองต่างๆ ภายในแคว้น

            ครั้นถึง พ.ศ. ๒๑๓๗ ผู้นำชุมชนแห่งเมืองลำปาง คือ เชื้อสายหนานทิพย์ช้าง ซึ่งมีพระยากาวิละเป็นคนสำคัญ ได้ขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าตากสินแห่งกรุงธนบุรี ให้ขับไล่พม่าออกจากดินแดน รวบรวมบ้านเมือง และผู้คนที่แตกแยกกันอยู่ ให้กลับมารวมกันเหมือนเดิม รวมทั้งเมืองเชียงใหม่ที่ถูกทิ้งร้างไว้นานถึง ๒๑ ปีด้วย

            ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ได้ทรงแต่งตั้งพระยากาวิละให้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ พระยากาวิละพยายามฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่อยู่เป็นเวลานาน ในที่สุด เมืองเชียงใหม่ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม

ตุ๊กตาสังคโลก แสดงวิถีชีวิตของชาวสุโขทัย ที่มา : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
เมืองสุโขทัย

            สร้างขึ้นเมื่อประมาณตอนกลางของพุทธศตวรรษที่ ๑๘ หรือประมาณ พ.ศ. ๑๗๕๐ ปฐมกษัตริย์ของเมืองสุโขทัยทรงพระนามว่า พ่อขุนศรีนาวนำถม

            เมืองสุโขทัยตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของลุ่มแม่น้ำยม ลักษณะผังเมืองเป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยม มีแนวกำแพงเมือง ๓ ชั้น มีสิ่งก่อสร้างที่ยังหลงเหลือให้เห็นคือ วัด ซากวัดวาอารามต่างๆ ที่มีอยู่ ทั้งนอกเมือง และในเมือง ส่วนพระตำหนักที่ประทับของกษัตริย์ และบ้านเรือนราษฎรสร้างด้วยไม้ ซึ่งเป็นวัสดุที่ไม่คงทน จึงผุพังเสียหาย และไม่ปรากฏหลักฐานให้เห็น

            สุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์สมดังคำที่ว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" อาชีพหลักคือเกษตรกรรม มีร่องรอยการทดน้ำทำเหมืองฝายนำน้ำเข้าไร่นาอยู่ทั่วไป

            คนไทยแถบลุ่มแม่น้ำยม และลุ่มแม่น้ำน่าน ได้รวมพลังกันขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพงออกไปจากเมืองสุโขทัย น่าเชื่อว่า ขอมสบาดโขลญลำพงเป็นขุนนางจากกรุงละโว้ หรือลพบุรี ที่เข้ามามีอิทธิพลในเมืองสุโขทัย พ่อขุนบางกลางหาวได้ครองเมืองสุโขทัยทรงพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์

            กษัตริย์องค์สำคัญอีกองค์หนึ่งคือ พ่อขุนรามคำแหง ทรงรวบรวมเมืองใกล้เคียงเข้าด้วยกันเป็นกลุ่มเมือง โดยมีสุโขทัยเป็นศูนย์กลาง แต่หลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ลง กลุ่มเมืองเหล่านี้ก็แตกแยกเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกัน จนถึงสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท ซึ่งเป็นหลานของพ่อขุนรามคำแหง กลุ่มเมืองเหล่านี้จึงได้กลับมารวมกันอีกครั้ง

            พระมหาธรรมราชาลิไทได้ทรงเผยแผ่พระพุทธศาสนาออกไปนอกแคว้นสุโขทัย เช่น เมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองเชียงใหม่ เป็นต้น ทำให้เมืองสุโขทัยได้ชื่อว่า เป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนา

            สุโขทัยเป็นศูนย์กลาง หรือเมืองหลวงของแคว้นอยู่ประมาณ ๒๐๐ ปี หลังจากพระมหาธรรมราชาลิไทสวรรคตแล้ว กรุงศรีอยุธยา โดยกษัตริย์ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ได้อาศัยความเป็นเครือญาติที่มีศักดิ์สูงกว่า เข้าครอบงำราชวงศ์สุโขทัยทีละเล็กทีละน้อย จนไม่สามารถกำหนดอย่างแน่นอนได้ว่า แคว้นสุโขทัยได้กลายเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่เมื่อใด

            แต่ก็ได้มีการกำหนดให้ พ.ศ. ๑๙๘๑ เป็นปีที่สุโขทัยรวมเข้ากับกรุงศรีอยุธยาอย่างแน่นอน เพราะในปีนี้ ปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนว่า กษัตริย์อยุธยาได้ส่งโอรสของพระองค์ที่มีพระราชมารดาเป็นเจ้าหญิงสุโขทัย ให้มาเป็นพระมหาอุปราชอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นสุโขทัย

กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้าขายกับดินแดนโพ้นทะเล (ภาพหุ่นจำลองจากศูนย์ประวัติศาสตร์ จ.พระนครศรีอยุธยา)

กรุงศรีอยุธยา

กรุงศรีอยุธยา หรือ กรุงอโยธยา

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง) ได้สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓

            ก่อนที่จะมีการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงอย่างเป็นทางการนั้น ศูนย์กลางการปกครองบริเวณภาคกลางนี้ อยู่ที่กรุงละโว้ หรือลพบุรี ละโว้เป็นเมืองสมัยโบราณที่มีความสัมพันธ์กับบ้านเมืองโบราณในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยปรากฏหลักฐานเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ ที่ยังหลงเหลืออยู่ให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น เมือง พิมาย ในจังหวัดนครราชสีมา และเมืองพนมรุ้ง ในจังหวัดบุรีรัมย์ ต่อมาได้ย้ายศูนย์กลางจากเมืองละโว้ลงทางใต้ ในบริเวณที่ต่อมาภายหลัง ได้สถาปนาขึ้นเป็นกรุงศรีอยุธยา เพื่อหาทำเลที่ตั้งที่สะดวกต่อการคมนาคมติดต่อไป ยังที่ต่างๆ โดยเฉพาะเส้นทางตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อออกสู่ทะเล ในสมัยนี้ มีเรื่องเล่า ในลักษณะตำนานที่กล่าวถึงการรวบรวมบ้านเมืองในภาคใต้ไว้ในราชอาณาจักรด้วย ดังนั้น เมื่อสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นมา จึงปรากฏว่า กรุงศรีอยุธยาได้เป็นเมืองหลวงของ ราชอาณาจักรสยาม ที่มีอำนาจครอบคลุมตลอดทั้งบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ และภาคใต้

กรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ในบริเวณที่แม่น้ำ ๓ สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำ ลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก ไหลมาบรรจบกัน เป็นที่ลุ่มต่ำ น้ำท่วมถึง เหมาะแก่การเกษตร โดยเฉพาะการปลูกข้าวมากที่สุด

กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น เป็นเมืองศูนย์กลางของการค้าขาย ทั้งทางตะวันตก และตะวันออก มีสินค้ามากมาย ได้แก่ ไม้ หนังสัตว์ ข้าว จึงทำให้กรุงศรีอยุธยามั่งคั่งตั้งแต่ต้นจนถึงปลายสมัย

ร่องรอยอารยธรรมของกรุงศรีอยุธยา

            กรุงศรีอยุธยาเสียกรุงแก่พม่าครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๒ แต่บ้านเมืองมิได้รับความเสียหายมากมายนัก ต่อมาสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกู้เอกราชได้ ทำให้ไทยหลุดพ้นจากอำนาจของพม่า และทรงทำสงครามยุทธหัตถี จนมีชัยชนะ ทำให้กรุงศรีอยุธยาสงบสุขต่อมาเป็นเวลานาน

            กรุงศรีอยุธยาเสียเอกราชแก่พม่าครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยา เป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรสยาม เป็นเวลายาวนานถึง ๔๑๗ ปี มีกษัตริย์ปกครอง ๓๔ พระองค์

กรุงธนบุรี

            กรุงธนบุรีมีบริเวณตัวเมืองอยู่บนสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีพระราชวังตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำ เดิมเป็นเมืองท่าเล็กๆ ซึ่งชาวตะวันตกนำสินค้าบรรทุกเรือมาขึ้นฝั่งที่เมืองนี้ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
พ.ศ. ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาได้เสียเอกราชให้แก่พม่า พม่าเผาพลาญกรุงศรีอยุธยาจนย่อยยับ พระเจ้าตากสินทรงกอบกู้เอกราชไว้ได้ และทรงรวบรวมกลุ่มต่างๆ ที่แตกแยกออกไป ให้กลับมารวมกันเป็นชาติไทยอีกครั้งหนึ่ง

            ข้าราชการกรุงศรีอยุธยาคนสำคัญ ที่ได้เข้ามาร่วมกอบกู้เอกราชของชาติคือ นาย สุดจินดา หุ้มแพร มหาดเล็ก ซึ่งภายหลังคือ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในรัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี
            
พระเจ้าตากสินมหาราช

            พระยาตากสิน ได้ทำพิธีปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ ครองกรุงธนบุรี เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๑๑


พระตำหนักเก๋งคู่ ที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

            กรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงได้เพียง ๑๕ ปีเท่านั้น (พ.ศ. ๒๓๑๐ - ๒๓๒๕) แต่ตลอดระยะเวลา ๑๕ ปี ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงครองราชสมบัตินั้น พระองค์ต้องทรงตรากตรำต่อการบริหารราชการแผ่นดินเป็นอย่างมาก อีกทั้งต้องทรงทำสงครามกับพม่าถึง ๗ ครั้งด้วย

            การที่กรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองราชอาณาจักรต้องถูกทำลายไป ทำให้บ้านเมืองต่างๆ ในราชอาณาจักรต้องแตกแยกออกเป็นก๊กเป็นเหล่า แต่ละก๊กต่างรวมตัวกัน เพื่อต่อสู้ปกป้องท้องถิ่นของตนเองโดยอิสระ สมเด็จพระเจ้าตากสินต้องทรงพยายามทำความเข้าใจ ให้กลับเข้าร่วมเป็นราชอาณาจักรเดียวกันเหมือนเดิม ก๊กที่ไม่สามารถทำความเข้าใจกันได้ ก็จำเป็นต้องใช้กำลังปราบปราม การที่ประเทศไทยมีดินแดนเป็นปึกแผ่นเช่นทุกวันนี้ได้ ก็เนื่องด้วยพระราชภารกิจของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่ทรงตรากตรำในครั้งนั้น