เล่มที่ 33 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
คลอง
เล่นเสียงเล่มที่ 33 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ คลอง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

ในภาษาไทยมีคำที่ใช้เรียกทางน้ำ หรือลำน้ำขนาดต่างๆ รวมกันว่า แม่น้ำคูคลอง โดยแม่น้ำเป็นลำน้ำที่มีขนาดใหญ่มาก ส่วนคลองมีขนาดใหญ่รองลงมา และคูมีขนาดเล็กที่สุด

            คลองในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นคลองที่คนขุดขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ต่างๆ แต่ก็มีบางคลองที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออก และภาคใต้ของประเทศ มักเรียกลำน้ำเล็กๆ บางสายที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติว่า "คลอง" เช่น คลองกระแส ในจังหวัดระยอง คลองใหญ่ ในจังหวัดตราด คลองไชยา ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี คลองปากนคร ในจังหวัดนครศรีธรรมราช และคลองนาทวี ในจังหวัดสงขลา แต่ในภาคเหนือและภาคกลางของประเทศ ถ้ากล่าวถึงคลอง ก็หมายถึง ลำน้ำที่คนขุดขึ้นเพียงอย่างเดียว

การขุดคลองให้ประโยชน์หลายประการ นอกจากเพื่อใช้เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำ เชื่อมแม่น้ำสายต่างๆ เข้าด้วยกันแล้ว ยังให้ประโยชน์ในด้านการนำน้ำจากแม่น้ำสายใหญ่ๆ เข้าไปในพื้นที่เพาะปลูกที่อยู่ห่างไกลจากแม่น้ำ ทำให้ผู้คนสามารถขยายการตั้งถิ่นฐาน และพื้นที่เพาะปลูกได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

            ในสมัยโบราณ การขุดคลองยังให้ประโยชน์ในด้านการป้องกันเมืองสำคัญๆ เช่น เมืองหลวง ให้ข้าศึกโจมตีเมืองได้ยากยิ่งขึ้น โดยการขุดคลองให้เป็น
 คูเมือง อยู่ด้านนอกของกำแพงเมือง หากข้าศึกจะเข้าโจมตี ก็ต้องผ่านทั้งคูเมืองและกำแพงเมือง จึงจะเข้าถึงตัวเมืองได้


            ปัจจุบันคลองมีความสำคัญลดน้อยลงกว่าแต่ก่อน เพราะในด้านการคมนาคมขนส่ง มีทางถนนและทางรถไฟเข้ามาเป็นทางเลือก ให้สามารถเดินทาง และขนส่งสินค้าได้รวดเร็วและสะดวกกว่าลำคลอง ในด้านยุทธศาสตร์ คูเมือง และกำแพงเมือง ก็ไม่อาจป้องกันการโจมตีของข้าศึกศัตรูได้แล้ว เนื่องจากการทำสงครามในปัจจุบัน ใช้อาวุธที่ทันสมัย เช่น ปืนใหญ่ จรวด รถถัง เครื่องบิน สามารถต่อสู้กับข้าศึกศัตรูได้ในระยะไกล

            แม้คลองจะมีความสำคัญลดน้อยลงกว่าแต่ก่อน แต่ในประเทศไทยคลองก็ยังคงมีประโยชน์อยู่มาก โดยเฉพาะในบริเวณที่ราบภาคกลางของประเทศ ซึ่งมีแม่น้ำลำคลองเป็นเครือข่ายโยงใยอยู่อย่างหนาแน่น บ้านเรือนของราษฎรจำนวนไม่น้อยที่สร้างอยู่ติดริมคลอง และได้อาศัยคลองเป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อภายในท้องถิ่น คลองบางแห่งมีตลาดน้ำ ซึ่งพ่อค้าแม่ค้านำสินค้ามาขายทางเรือให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้น และตลาดน้ำได้กลายเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ให้มาเที่ยวชมกิจกรรม และความเป็นอยู่ของผู้คนในท้องถิ่น

            ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ คลองต่างๆ หลายแห่งมีน้ำสกปรก เนื่องจากประชาชนที่อาศัยอยู่ริมคลอง ทิ้งขยะ และปล่อยน้ำทิ้ง จากบ้านเรือนลงในคลอง รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำลำคลอง ก็ลักลอบปล่อยน้ำเสียจากโรงงานลงสู่แม่น้ำลำคลอง โดยไม่ได้มีการบำบัดให้เป็นน้ำดีเสียก่อน สาเหตุเหล่านี้ส่งผลให้น้ำในคลองต่างๆ เกิดการเน่าเสีย น้ำที่เคยใสสะอาดเปลี่ยนเป็นสีดำขุ่นข้น และสัตว์น้ำที่เคยมีชุกชุมก็ลดน้อยลง หรือหมดไป ในสมัยก่อนเราเคยเห็นคนจับสัตว์น้ำ เช่น ปลา กุ้ง อยู่ตามแม่น้ำลำคลองทั่วไป มีการตกปลา ตกกุ้ง ทอดแห และบ้านเรือนริมคลองหลายๆ หลัง มีการยกยอ ซึ่งเป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำชนิดหนึ่ง แต่ในปัจจุบันภาพเหล่านั้น หาดูได้ยากแล้ว



            สิ่งที่เราควรทำ คือ ต้องช่วยกันดูแลรักษาความสะอาดของคลอง โดยไม่ทิ้งขยะและสิ่งของเน่าเสียลงในคลอง ไม่ปลูกบ้านเรือนรุกล้ำที่ลงไปในคลอง และช่วยกันทุกวิถีทางที่จะให้คลองในบ้านเรามีน้ำใสสะอาดอยู่ตลอดไป