เล่มที่ 33 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
เปลือกโลกและหิน
เล่นเสียงเล่มที่ 33 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เปลือกโลกและหิน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            ปัจจุบันเรามีความรู้เกี่ยวกับโลกมากขึ้นทั้งในด้านรูปร่าง ลักษณะ ขนาด และส่วนประกอบ เรารู้ว่า โลกมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม แต่ไม่กลมแบบลูกฟุตบอล คือ ป่องออกตรงกลางเล็กน้อย คล้ายผลส้ม และมีขนาดใหญ่โตมาก โดยมีเส้นรอบวงที่เส้นศูนย์สูตร ยาว ๔๐,๐๗๓ กิโลเมตร และเส้นรอบวงผ่านขั้วโลกเหนือ และขั้วโลกใต้ยาว ๓๙,๙๙๙ กิโลเมตร ต่างกัน ๗๔ กิโลเมตร การที่โลกไม่กลมอย่างแท้จริง แต่ป่องออกตรงกลางเล็กน้อยเช่นนี้ เป็นผลมาจากการหมุนรอบตัวเองของโลก ทำให้เกิดแรงเหวี่ยงหนีจากศูนย์กลางขึ้น ที่บริเวณเส้นศูนย์สูตร


            จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโลก ทำให้เรารู้ว่า โลกของเราแบ่งออกได้เป็น ๓ ส่วนใหญ่ๆ จากผิวโลกลึกลงไป ถึงบริเวณใจกลางโลก คือ ส่วนนอกสุด เรียกว่า เปลือกโลก ประกอบด้วยหินแข็งที่เย็นตัวลงแล้ว ลึกจากเปลือกโลกลงไป เป็นส่วนที่เรียกว่า เนื้อโลก ซึ่งห่อหุ้มส่วนที่อยู่ตอนในสุดของโลก เรียกว่า แก่นโลก ทั้งเนื้อโลก และแก่นโลก ประกอบด้วยสารที่มีความหนาแน่นมาก และบางส่วนอ่อนตัวเป็นสารหลอมเหลว เนื่องจากถูกความร้อน และความกดดันสูงมากภายในโลก


            เพื่อให้เข้าใจถึงส่วนต่างๆ ของโลกได้ดีขึ้น อาจเปรียบเทียบโลกกับผลมะม่วงสุก เปลือกโลกก็คือ เปลือกบางๆ ของผลมะม่วง ซึ่งค่อนข้างเหนียวทนทาน เนื้อโลกคือ เนื้ออ่อนนุ่มของผลมะม่วง และแก่นโลกคือ เมล็ดแข็งของผลมะม่วง


            สิ่งมีชีวิตต่างๆ ในโลกไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ และมนุษย์ ล้วนอาศัยอยู่เฉพาะตอนบนของเปลือกโลกเท่านั้น ดังนั้น เราจึงมีความรู้เกี่ยวกับเปลือกโลกเป็นอย่างดี เมื่อเปรียบเทียบกับส่วนที่อยู่ลึกจากเปลือกโลกลงไป ซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นได้ ต้องอาศัยการคาดคะเนโดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ตรวจสอบความเป็นไปได้เท่านั้น

            โลกของเราประกอบด้วย ๓ ส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนที่เป็นพื้นดิน ได้แก่ ทวีป และเกาะต่างๆ ส่วนที่เป็นพื้นน้ำ ได้แก่ มหาสมุทร และทะเล และส่วนที่เป็นอากาศ ได้แก่ บรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกอยู่ ทั้ง ๓ ส่วนนี้ร่วมกันส่งผลให้เกิดมีสิ่งมีชีวิตต่างๆ ขึ้นบนเปลือกโลก



            เปลือกโลกมีความหนาไม่เท่ากันในที่ต่างๆ หากเป็นส่วนที่เป็นทวีปจะมีความหนามากกว่าส่วนที่เป็นมหาสมุทร กล่าวคือ ส่วนที่เป็นทวีปมีความหนาโดยเฉลี่ยประมาณ ๔๐ กิโลเมตร แต่ส่วนที่เป็นมหาสมุทรมีความหนาเพียงประมาณ ๑๐ กิโลเมตร เท่านั้น นอกจากนี้เปลือกโลกส่วนที่เป็นทวีปยังมีความหนาแน่นน้อยกว่าส่วนที่เป็นมหาสมุทรด้วย ดังนั้น ส่วนที่เป็นทวีป จึงเปรียบเสมือนท่อนไม้ ที่ลอยอยู่ในน้ำ หากมีความหนามากก็จะมีบางส่วนลอยสูงจากพื้นน้ำมาก กลายเป็นเทือกเขาสูงๆ หากมีความหนาลดน้อยลงก็เป็นเพียงที่ราบเท่านั้น


            ส่วนที่เกิดเป็นเปลือกโลกนี้ เรียกกันโดยทั่วไปว่า หิน ประกอบด้วยแร่ชนิดต่างๆ มารวมกัน จึงแบ่งหินออกได้เป็นหลายประเภท และหลายชนิด ประโยชน์ของหินและแร่ในทางเศรษฐกิจ เช่น นำมาใช้เป็นวัสดุในการก่อสร้าง ทำเครื่องประดับ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ทำปุ๋ยสำหรับปลูกพืช ยารักษาโรค เครื่องสำอาง เชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ และเครื่องจักร ในโรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนประโยชน์อื่นๆ อีกมาก