เล่มที่ 3
ช้าง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            ปัจจุบันนี้เราแบ่งช้างออก ๒ ชนิด คือ ช้างเอเชียชนิดหนึ่ง และช้างแอฟริกาชนิดหนึ่ง ช้างเอเชียเป็นช้างที่อยู่ในทวีปเอเชีย เช่น ใน ประเทศไทย พม่า อินเดีย ศรีลังกา เขมร ลาว ญวน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ส่วนช้างแอฟริกามีอยู่ในทวีปแอฟริกา แม้ว่าช้างสองชนิดนี้จะมี รูปร่างลักษณะภายนอกคล้ายๆ กันก็ตาม แต่อยู่คนละสกุลกัน เช่นเดียวกับวัว ซึ่งอยู่คนละสกุลกับควาย ดังนั้น การที่เราจะเอาช้างเอเชียกับช้างแอฟริกามาผสมพันธุ์กัน ให้เกิดลูกหลานต่อไป จึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก ข้อแตกต่างของช้างเอเชีย และช้างแอฟริกา เท่าที่พอจะสังเกตจากอุปนิสัย และลักษณะภายนอกมีดังนี้

ช้างเอเชีย (Elephas maximus)

            ช้างเอเชียที่สมบูรณ์เต็มที่ จะมีความสูงเฉลี่ยวัดจากพื้นดิน ตรงขาหน้าถึงไหล่ประมาณ ๓ เมตร มีงาเฉพาะช้างตัวผู้ หรือที่เรียกกันว่า ช้างพลาย ส่วนช้างตัวเมีย หรือช้างพัง โดยปกติ ไม่มีงา บางครั้งอาจจะพบช้างพังมีงาสั้นๆ บ้าง แต่งานั้นจะไม่สมบูรณ์ และเรียกกันว่า "ขนาย" สำหรับช้างตัวผู้ที่ไม่มีงาก็มีบ้าง แต่เป็นจำนวนน้อย เราเรียกช้างพลายที่ไม่มีงาว่า "ช้างสีดอ" หัวของช้างเอเชียเป็นโหนก เมื่อมองดูข้างหน้าจะเห็นเป็น ๒ ลอน มีใบหูเป็นแผ่นกว้าง ขอบหูด้านบน อยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับศีรษะ ปลายงวงของช้างเอเชียมีจะงอยเพียงจะงอยเดียว เล็บเท้าหลังมีระหว่าง ๔ - ๕ เล็บ และช้างเอเชียมีหลังโค้ง เหมือนหลังกุ้ง ช้างเอเชียเป็นสัตว์ที่ชอบอากาศชุ่มชื้น และร่มเย็น ไม่ชอบแสงแดดจัด และเป็นสัตว์ที่กะโหลกศีรษะใหญ่ มันสมองจึงใหญ่ตามขนาดกะโหลกศีรษะไปด้วย เนื่องจากช้างเอเชียมีมันสมองใหญ่นี่เอง จึงทำให้ช้างเอเชียมีความเฉลียวฉลาด สามารถนำมาฝึกให้ใช้ทำงานป่าไม้ หรือใช้แสดงละครสัตว์ได้ ช้างของไทยก็อยู่ ในจำพวกช้างเอเชียด้วย

ช้างเอเชีย

ช้างแอฟริกา (Loxodonta africana)

            ช้างแอฟริกาที่สมบูรณ์เต็มที่ สูงกว่าช้างเอเชีย คือ สูงเฉลี่ย ประมาณ ๓,๕ เมตร ช้างแอฟริกาไม่ว่าจะเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย ล้วนแต่มีงาทั้งสิ้น ฉะนั้น การสังเกตเพศของช้างแอฟริกาโดยการดูงาจึงทำไม่ได้ หัวของช้างแอฟริกามี ส่วนที่เป็นหน้าผากแหลมแคบ และมีโหนกศีรษะเพียงลอนเดียว เมื่อเทียบเฉพาะส่วนหัวแล้ว ช้างแอฟริกามีหัวเล็กกว่าช้างเอเชีย แต่ช้างแอฟริกามีใบหูใหญ่กว่า และมีขอบหูด้านบนสูงกว่าระดับศีรษะ เวลามันโกรธ จะกางใบหูออกเต็มที่ ปลายงวงของช้างแอฟริกามี ๒ จะงอย เท้าหลังมีเล็บเพียง ๓ เล็บ ช้างแอฟริกามีสันหลังตรง หรือแอ่นลงเล็กน้อย ช้างแอฟริกาเป็นสัตว์ที่ชอบอยู่ในป่าโปร่ง และไม่กลัวแสงแดด ดังนั้น มันจึงสามารถทนต่ออากาศร้อนของทวีปแอฟริกาได้ดี เนื่องจากช้างแอฟริกามีกะโหลกศีรษะเล็กกว่าช้างเอเชีย มันสมองของมันจึงเล็กตามไปด้วย ทำให้ช้างแอฟริกามีความเฉลียวฉลาดน้อยกว่าช้างเอเชีย และมีความดุร้ายมาก นำมาฝึกเพื่อใช้งาน หรือให้ทำงานอื่นใดได้ยาก จึงไม่มีผู้ใดนำช้างแอฟริกามาฝึกใช้งานในป่าไม้ หรือเล่นละครสัตว์เลย

ช้างแอฟริกา

            นอกจากช้าง ๒ สกุล ดังกล่าวแล้ว ยังมีช้างแอฟริกาอีกจำพวกหนึ่งมีขนาดเล็กคือ มีความสูงประมาณ ๒ เมตร เรียกว่า ช้างแคระ (pygmy elephant) อาศัยอยู่ตามแถบลุ่มแม่น้ำคองโก ปัจจุบันนี้มีเหลืออยู่น้อย เพราะชาวแอฟริกาชอบล่าช้างชนิดนี้ เอาเนื้อไปใช้เป็นอาหารกันมาก ประเทศไทยเราก็เคยมีช้างขนาดเล็กที่เรียกกันว่า ช้างค่อม มีขนาดเท่าควาย อาศัยอยู่ตามป่าชายทะเลสาบสงขลา มีผู้เคยพบเห็นช้างนี้ ในเมืองไทยครั้งสุดท้าย เมื่อประมาณ ๓๐ ปีมาแล้ว ปัจจุบันทราบว่า สูญพันธุ์ไปหมด เพราะมีคนนิยมล่าช้างชนิดนี้ เอาเนื้อไปเป็นอาหาร จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก มิฉะนั้นแล้ว ประเทศไทยเราก็คงจะได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีสัตว์ประหลาดอีกชนิดหนึ่งเหลืออยู่ให้ชาวโลกได้เห็น และได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้กันต่อไป