เล่มที่ 3
วัวควาย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            มนุษย์เริ่มรู้จักเลี้ยงสัตว์เมื่อประมาณ ๙,๐๐๐ ปีมาแล้ว สัตว์ชนิดแรกที่มนุษย์นำมาเลี้ยงเป็นเพื่อน ได้แก่ หมาหรือสุนัข ต่อมามนุษย์นำวัวควายมาทำให้เชื่อง และขยายพันธุ์ให้มากขึ้น ด้วยจุดประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับทางศาสนา เมื่อ ๖,๐๐๐ - ๙,๕๐๐๐ ปีมาแล้ว อันเป็นระยะแรกที่มนุษย์เข้าสู่ยุคศิวิไลซ์ (civilize) ขั้นแรก เรียกว่า ยุคนีโอลิทิก (Neolithic) ชนบางเผ่าในแอฟริกา เช่น เผ่าฮอตเทนโทต (Hottentot) เลี้ยงวัวไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งยงของเผ่าพันธุ์ที่เหนือกว่าเผ่าพเนจร ซึ่งดำรงชีพ ด้วยการล่าสัตว์ มนุษย์บางเผ่าเลี้ยงวัวไว้สังเวยเทพเจ้า และเป็นที่เคารพบูชาของบางเผ่า วัวเป็นสัตว์แห่งเทพนิยาย ต่อมา มนุษย์เริ่มรู้จักใช้แรงงาน และหาประโยชน์จากหนัง เนื้อ และนมของวัวควายจนเป็นที่นิยมกันเรื่อยมา

            คนไทยรู้จักเลี้ยงและใช้ประโยชน์จากวัวควายนานมาแล้ว กล่าวได้ว่า วัวควายเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของชาวไทย ตลอดประวัติความเป็นมา แม้ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ก็กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า "...เมืองสุโขทัยนี้ดี ใครใคร่ค้าช้างค้า ค้าม้าค้า ใครใคร่ค้าวัวค้าควายค้า..." อันแสดงว่า วัวควายเป็นสัตว์ ที่มีความสำคัญในการทำมาหากิน และการค้าของคนไทยมานานแล้ว นายทองเหม็น วีรบุรุษผู้หนึ่งแห่ง ศึกบางระจัน ก็ใช้ควายเป็นพาหนะออกสู้รบกับข้าศึกชาวพม่า จนปรากฏชื่อเสียงเรียงนามในประวัติศาสตร์ไทยปลายยุคกรุงศรีอยุธยา และครั้งนี้คงไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งเดียว ที่วัวควายมีโอกาสเป็นพาหนะ ในการศึกสงคราม เพราะวัวควายคงได้ถูกใช้แรงงานในการขนส่ง อพยพโยกย้าย ลากล้อเลื่อนต่างเกวียนมาเก่าก่อน ควบคู่กับความเป็นมาของชนชาติไทยและการสร้างชาติทีเดียว คนไทยโดยเฉพาะชาวนา จึงมีความผูกพัน และความชำนาญในการเลี้ยงดูปรนนิบัติวัวควายเป็นอย่างดี นิยายหรือวรรณคดีไทยแทบทุกเรื่อง เมื่อเอ่ยถึงชนบท ก็อดที่จะเอ่ยถึงวัวควายในไร่นาไม่ได้ ทั้งนี้เป็นเพราะความคุ้นเคยและความใกล้ชิด ระหว่างคนไทยกับวัวควายอย่างมากนั่นเอง


รูปปั้นนายทองเหม็นขี่ควายออกศึกบางระจัน

            ทุกวันนี้ แม้เครื่องทุ่นแรงจะวิวัฒนาการ และมีบทบาทในการกสิกรรมมากขึ้น แต่ความสำคัญของวัวควายในแง่ของการใช้แรงงาน ก็ไม่ได้ลดน้อยลงไป ทั้งยังมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ในขณะที่โลกประสบกับภาวะขาดแคลนเชื้อเพลิง เช่นในปัจจุบันนี้

พระมหาเทพทรงพระนนธิการ

            วัวควายที่เลี้ยงกันในโลก หากจำแนกประเภทตามประโยชน์ที่มนุษย์ได้รับ อาจแบ่งได้เป็น ๔ ประเภท คือ

            ๑. วัวควายเนื้อ ได้แก่ วัวควายที่มนุษย์เลี้ยงเพื่อใช้เนื้อเป็นอาหารเพียงอย่างเดียว

            ๒. วัวควายนม คือ วัวควายพันธุ์ที่เลี้ยงเพื่อรีดเอานมไว้บริโภค

            ๓. วัวควายงาน เป็นวัวควายที่เลี้ยงเพื่อใช้แรงงานในการกสิกรรม และขนส่ง เมื่อปลดงาน หรืออายุมากแล้วอาจใช้เนื้อเป็นอาหาร

            ๔. วัวควายอเนกประสงค์ ได้แก่ วัวควายที่เลี้ยงไว้ใช้ประโยชน์ตั้งแต่สองอย่างขึ้นไป เช่น วัวเนื้อและนม วัวเนื้อและงาน

            วัวควายที่เลี้ยงในเมืองไทย โดยทั่วไปจัดได้ว่า เป็นวัวควายงาน เพราะประโยชน์หลัก คือ ใช้แรงงานในการกสิกรรม อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการเลี้ยงวัวเนื้อ และวัวงาน โดยนำวัวเนื้อพันธุ์ดีเข้ามาส่งเสริม ให้กสิกรใช้ผสมพันธุ์กับวัวไทยก็ได้เร่งดำเนินการอยู่ ส่วนควายนั้นมีขนาดใหญ่โตพอสมควร หากจะคัดเลือกควายที่มีขนาดใหญ่โตเร็ว ใช้เป็นควายงาน และควายเนื้อ ย่อมทำได้ไม่ยาก คนไทยเลี้ยงวัวนมกันอยู่บ้าง หากยังมีจำนวนน้อยแต่มีแนวโน้มว่า การเลี้ยงคงจะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต

            วัวควายแต่ละประเภทมีหลายพันธุ์ พันธุ์ หมายถึง กลุ่มสัตว์ที่มีลักษณะรูปร่าง และสีสันตลอดจนกรรมพันธุ์เหมือนๆ กัน วัวพันธุ์เนื้อที่มีเลี้ยงอยู่บ้างในเมืองไทย ได้แก่ พันธุ์ผสมอเมริกันบราห์มัน พันธุ์ซานทาเกอทรูดีซ พันธุ์ชาโรเลส์ พันธุ์เฮอร์ฟอร์ด นอกจากนั้น ยังมีพันธุ์เนื้ออื่นๆ อีกมากมายหลายพันธุ์ในโลก เช่น พันธุ์อเบอร์ดีน-แองกัส พันธุ์ชอร์ตฮอร์น พันธุ์บีฟมาสเทอร์ พันธุ์คิแอนนีนา พันธุ์ ลิโมซิน วัวพันธุ์นมที่มีเลี้ยงในเมืองไทย ได้แก่ พันธุ์โฮลสไตน์ฟรีเซียน พันธุ์บราวน์สวิสพันธุ์เรดเดน พันธุ์เจอร์ซี พันธุ์เอไอเอส พันธุ์ซาฮิวาล พันธุ์ผสมเรดซินดิ นอกจากนี้ ยังมีวัวพันธุ์นมอื่นๆ อีกมากมายหลายพันธุ์ในโลก เช่น พันธุ์อายร์เชียร์ พันธุ์เกอร์นซี ส่วนวัวงานนั้น ไม่มีพันธุ์โดยเฉพาะทั้งวัวพันธุ์นม และพันธุ์เนื้อใช้งานได้ทั้งสิ้น แต่ชาวนาไทยนิยมใช้วัวที่มีโหนกคอใหญ่ (บางท้องถิ่นเรียกหนอก) ดังนั้น วัวพื้นเมือง วัวพันธุ์ผสมอเมริกันบราห์มัน พันธุ์ผสมเรดซินดิ จึงเป็นวัวที่นิยมเลี้ยงใช้งานกันมาก วัวงานจำเป็นจะต้องเป็นวัวพันธุ์ที่ทนร้อนได้ดี ซึ่งได้แก่ วัวพันธุ์ผสมอเมริกันราห์มัน และวัวเรดซินดิ เพราะมีถิ่นกำเนิดเดิมจากประเทศอินเดีย กสิกรจึงนิยมใช้เป็นวัวงาน วัวไทยพื้นเมืองนั้นไม่มีปัญหาเพราะเคยชินกับสภาพแวดล้อมดีอยู่แล้ว วัวพันธุ์อื่นๆ ที่กล่าวมาแล้ว ส่วนใหญ่มาจากเขตเมืองหนาว ทนอากาศร้อนไม่ค่อยได้ กสิกรจึงไม่นิยมใช้ทำงาน เพราะเลี้ยงยาก วัวประเภทอเนกประสงค์ก็มีหลายพันธุ์ บางพันธุ์ที่กล่าวมาแล้ว อาจจัดเป็นประเภทอเนกประสงค์ได้ในบางประเทศ ทั่งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้ประโยชน์วัวพันธุ์นั้นในประเทศนั้นๆ วัวพันธุ์เรดเดน อาจจัดได้ว่าเป็นพันธุ์นมและเนื้อ แต่ถ้าเลี้ยงรีดนมเพียงอย่างเดียว และคัดเลือกแต่เฉพาะลักษณะการให้นม ก็จัดได้ว่าเป็นพันธุ์นม วัวพันธุ์ผสมอเมริกันบราห์มันในเมืองไทย อาจจัดได้ว่าเป็นพันธุ์เนื้อและงาน ในขณะที่วัวพันธุ์นี้อยู่ในประเทศอเมริกา เขาจัดจำแนกเป็นวัวเนื้อ เพราะเขาไม่ใช้แรงงานจากวัว วัวพันธุ์ผสมเรดซินดิ จัดได้ว่าเป็นทั้งวัวนม วัวงานและวัวเนื้อ

การต้อนวัวไปเลี้ยงในทุ่งหญ้า

            ควายในเมืองไทยมีสองประเภท คือ สวยงาม ได้แก่ ควายไทยทั่วไป และควายนม ได้แก่ ควายอินเดีย มีจำนวนน้อย ควายไทยอาจจัดเป็น ควายงานและเนื้อได้ เพราะปัจจุบันคนไทยบริโภคเนื้อควายมากพอๆ กับเนื้อวัว ควายนมมีหลายพันธุ์ สำหรับพันธุ์อินเดีย ขนาดใกล้เคียงกับควายไทยแต่ให้นมมาก พันธุ์ที่รู้จักกันแพร่หลาย คือ ควายพันธุ์มูร์ราห์ ให้นมที่มีเปอร์เซ็นต์ไขมันนมสูง จึงมีคุณค่าทางอาหารมากกว่านมวัว

การจำแนกประเภทวัวควายทางสัตววิทยา กำหนดให้วัวควายอยู่ในวงศ์โบวิดี (Bovidate) ซึ่งหมายถึง สัตว์ประเภทเคี้ยวเอื้อง เขากลวง กีบคู่ และอยู่ในสกุลบอส (Bos) ซึ่งจำแนกได้เป็น ๕ จำพวก คือ

            ๑. โทรีน (taurine) พวกนี้ได้แก่ วัวที่เลี้ยงกันทั่วไป ทั้งวัวเมืองหนาว และวัวเมืองร้อน วัว เมืองหนาว หรือวัวยุโรป จัดให้เป็นประเภท บอสโทรัส (Bos taurus) ส่วนวัวเมืองร้อน หรือวัวอินเดีย จัดเป็นประเภท บอส อินดิคัส (Bos indicus) โดยทั่วไปเป็นวัวมีโหนก และเหนียงคอ

            ๒. ไบโบวีน (bibovine) พวกนี้ได้แก่ วัวบันเตง (banteng) ของอินโดนีเซีย วัวเกอร์ (gaur) และกายาล (gayal) ในอินเดียตอนใต้ วัวเหล่านี้ผสมข้ามชนิดระหว่างกันได้ ประเทศออสเตรเลียได้ทดลองผสมข้ามระหว่างวัวบราห์มัน กับวัวบันเตง ที่ไปจากเกาะชวา บอร์เนียว และสุมาตรา ปรากฏว่า ได้วัวลูกผสมที่มีลักษณะสวยงาม แข็งแรง และขนาดใหญ่

            ๓. เลพโทโบวีน (leptobovine) พวกนี้สูญพันธุ์แล้ว พบซากโบราณในประเทศฝรั่งเศส อิตาลี และอินเดีย

            ๔. ไบซันทีน (bisontine) พวกนี้ได้แก่ จามรี (yak) อันเป็นสัตว์มีพื้นเพแถบเขาหิมาลัย และประเทศทิเบต ควายป่าไบซันในอเมริกาเหนือก็จัดอยู่ในพวกนี้

            ๕. บิวบาลีน (bubaline) พวกนี้ได้แก่ ควายเอเชียและยุโรปตะวันออกเฉียงใต้เป็นสัตว์ที่เลี้ยงใช้งาน ให้เนื้อและนม อย่างกว้างขวาง

            เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ที่มนุษย์ได้รับ นับว่า วัวพวกโทรีนมีความสำคัญเป็นที่หนึ่ง อย่างไรก็ตาม ควายเอเชีย วัวบันเตง กายาล และจามรี ก็เป็นสัตว์เลี้ยง หรือปศุสัตว์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากเหมือนกัน